การกลั่นน้ำมันจากสาหร่ายเป็นเรื่องไม่ไกลเกินจริง เมื่อ วว.โชว์ศักยภาพในการผลิตเครื่องจักรและระบบผลิตน้ำมันจากสาหร่าย แล้วยังนำไปกลั่นเป็นน้ำมันสำหรับใช้ในเครื่องบินได้
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการประจำฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่าเธอใช้เวลาเกือบ 30 ปีในการศึกษาสาหร่ายและเก็บรวบรวมตัวอย่างจากทั่วประเทศ จนกระทั่ง วว.มีคลังเก็บสาหร่ายน้ำจืืดใหญ่เป็น 3 ของโลกรองจากญี่ปุ่นและจีน
สาหร่ายน้ำจืดหรือที่เรียกกันว่า "ตะไคร่น้ำ" นั้นเจริญเติบโตด้วยการสังเคราะห์แสงและดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิตเป็นอาหารเก็บไว้ในเซลล์ และมีสาหร่ายบางชนิดที่ผลิตน้ำมันเก็บไว้ในเซลล์หรือระหว่างผนังเซลล์ จึงมีงานวิจัยไม่น้อยจากทั่วโลกที่ศึกษาการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย
หน้าที่ของ ดร.อาภารัตน์ส่วนหนึ่งคือการคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่มีศักยภาพนำไปผลิตน้ำมันได้ โดยเลือกสาหร่ายที่ผลิตน้ำมันเก็บไว้ในเซลล์ เพราะให้น้ำมันได้มากกว่าสาหร่ายที่เก็บน้ำมันไว้ระหว่างผนังเซลล์
ดร.อาภารัตน์ได้คัดเลือกสาหร่ายประมาณ 4-5 สายพันธุ์ที่สามารถเพาะเลี้ยงกลางแจ้งได้ เพื่อนำไปผลิตน้ำมันในระบบการเลี้ยงสาหร่ายในบ่อเปิด ซึ่งสาหร่ายที่ใช้ต้องทนอุณหภูมิอากาศกลางแจ้งได้ แม้อุณหภูมิในฤดูร้อนจะสูงถึง 42 องศาเซลเซียสก็ตาม
วว.ได้ร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาระบบผลิตน้ำมันจากสาหร่ายเมื่อเดือน พ.ย.55 ที่ผ่านมา และสามารถผลิตน้ำมันดิบที่นำไปกลั่นเป็นน้ำมันสำหรับใช้ในเครื่องยนต์ รวมถึงเครื่องบินได้ โดยอีกประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะมีการทดสอบใช้น้ำมันจากสาหร่ายกับรถยนต์ทั่วไป
นายรุจิรา จิตหวัง นักวิชาการ ฝ่ายเทคโนโลยีพลังงาน วว.อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV - ผู้จัดการออนไลน์ถึงระบบผลิตน้ำมันจากสาหร่ายที่เขารับผิดชอบในการออกแบบว่า ระบบดังกล่าวสามารถหีบน้ำมันจากสาหร่ายเปียกที่ตกตะกอนในบ่อเลี้ยงได้โดยตรง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ผลิตน้ำมันจากสาหร่ายที่ได้จากการทำให้แห้งแล้วเท่านั้น
"หลังจากเพาะเลี้ยงเพียง 7 วันก็ได้สาหร่ายเพียงพอแก่การผลิตน้ำมันได้ และกระบวนการผลิตที่ออกแบบไว้สามารถผลิตน้ำมันได้ต่อเนื่องทุกวัน โดยส่งน้ำเลี้ยงสาหร่ายเข้าระบบเก็บเกี่ยวน้ำ ซึ่งตอนนี้รองรับน้ำสาหร่ายได้วันละ 20,000 ลิตร และได้น้ำมันประมาณ 25% ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการสะสมน้ำมันของสาหร่ายในแต่ละช่วงของการเพาะเลี้ยง" นายรุจิราอธิบาย
หลังจากหีบเอาน้ำมันออกจากสาหร่ายแล้ว กากที่เหลือที่ยังมีสารอาหารทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนจะถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารปลา อีกทั้งยังมีรงควัตถุที่มีมูลค่าอย่างคลอโรฟิลด์ที่ส่งไปจำหน่ายเพื่อผลิตเป็นเครื่องดื่มได้
นอกจากนี้ วว.ยังมีหน่วยปรับปรุงพันธุกรรม ซึ่งใช้เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ปรับปรุงพันธุกรรมของสาหร่ายให้โตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อม และผลิตน้ำมันได้ในปริมาณมากๆ
ทั้งนี้ ผู้สนใจเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายสามารถเข้าชมได้ ภายในงาน "เปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ปี วว." ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 4-6 ส.ค.56 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์