xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นโชว์ความฝันผลิตน้ำมันจากสาหร่ายผสม 2 พันธุ์เลี้ยงในน้ำเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.สึโยชิ อาเบะ
ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเผยความฝันแดนอาทิตย์อุทัยกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันได้ หากพยายามต่อยอดนวัตกรรมจากความสาเร็จในห้องปฏิบัติการที่สามารถเลี้ยงสาหร่าย 2 สายพันธุ์รวมกันในน้ำเสีย แล้วให้ผลผลิตเป็นน้ำมันและยังมีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้

ดร.สึโยชิ อาเบะ (Dr.Tsuyoshi Abe) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่าย จากพิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโด (Hokkaido University) ญี่ปุ่น เผยว่าขณะนี้นักวิจัยญี่ปุ่นได้ทดลองเลี้ยงสาหร่าย 2 ชนิดร่วมกันในน้ำเสียเพื่อผลิตน้ำมัน คือ สาหร่ายออรันทิโอไคเทรียม (Aurantiochytrium) ที่สังเคราะห์สารอินทรีย์และผลิต “สควอลีน” (Squalene) ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอน และสาหร่ายโบทริโอค็อคคัส (Botryococcus) ซึ่งสังเคราะห์แสงและคาร์บอนไดออกไซด์ และผลิตโบทริโอค็อคซิเนส (Botryococcenes) สารไฮโดรคาร์บอนและผลิตสารที่ผลักไฮโดรคาร์บอนออกมานอกเซลล์

ความสำเร็จดังกล่าวเป็นความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ แต่ ดร.อาเบะ กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นหลายส่วนต่างวิจัยเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขอุปสรรคในการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย 2 ชนิดที่เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งในตอนนี้ ซึ่งจะเป็นพลังงานในอนาคตของญี่ปุ่นหากนักวิจัยยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมนี้ต่อ

“ปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบ 200 ล้านตัน หากจะผลิตน้ำมันจากสาหร่ายทั้งสองชนิดต้องใช้พื้นที่ 20,000 เฮกเตอร์ หรือเทียบเท่าพื้นที่ทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นมีพื้นที่ไร่นาเปล่า 280,000 เฮกเตอร์ หากขอพื้นที่เหล่านั้นมาเพียง 10% ก็จะได้พื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายผลิตน้ำมันดิบมากกว่าที่นำเข้า ถ้าทำได้ ญี่ปุ่นก็จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันได้ และไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป” ดร.อาเบะกล่าว

ขณะที่ ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการประจำฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง “สาหร่ายเพื่อมวลมนุษย์” (Algae for humankind) ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2556 เช่นเดียวกับ ดร.อาเบะ กล่าวว่าการเลี้ยงสาหร่าย 2 สายพันธุ์ร่วมกันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อีกทั้ง การใช้น้ำเสียเลี้ยงสาหร่ายนั้นไม่สามารถทำได้ทุกสายพันธุ์ โดยสภาพของน้ำเสียจะเป็นตัวกำหนดว่าจะเลี้ยงสาหร่ายชนิดใดได้

อย่างไรก็ดี ดร.อาเบะกล่าวว่า นักวิจัยของญี่ปุ่นกำลังแก้ปัญหาในเรื่องที่ ดร.อาภารัตน์ให้ความเห็น และตอนนี้การผลิตน้ำมันจากสาหร่ายทั้งสองชนิดยังประสบความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น

สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับสาหร่ายทั้งสองชนิด รวมทั้งชมนิทรรศการเกี่ยวกับสาหร่ายจากญี่ปุ่น ซึ่งนำเสนอตัวอย่างสาหร่ายที่ใกล้สูญพันธุ์ของญี่ปุ่น 19 ชนิด พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายทั้งอาหาร เครื่องสำอาง ปุ๋ยชีวภาพ สามารถเข้าขมได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-21 ส.ค.56 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมไบเทค บางนา
ดร.อาภารัตน์ ชนะขันธ์ กับภาพตัวอย่างสาหร่ายที่ญี่ปุ่นผลิตน้ำมันโดยเลี้ยงในน้ำเสียได้ในระดับห้องปฏิบัติการ  (บน) สาหร่ายออรันทิโอไคเทรียม (Aurantiochytrium) ที่สังเคราะห์สารอินทรีย์และผลิต “สควอลีน” (Squalene) ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอน และสาหร่ายโบทริโอค็อคคัส (Botryococcus) ซึ่งสังเคราะห์แสงและคาร์บอนไดออกไซด์ และผลิตโบทริโอค็อคซิเนส (Botryococcenes) สารไฮโดรคาร์บอนและผลิตสารที่ผลักไฮโดรคาร์บอนออกมานอกเซลล์ (ล่าง)
น้ำมันจากสาหร่ายของญี่ปุ่นที่เลี้ยงในน้ำเสีย






กำลังโหลดความคิดเห็น