xs
xsm
sm
md
lg

"เหล็ก-คอนกรีต-น้ำมัน" ผลพวงจากสาหร่ายดึกดำบรรพ์ทั้งนั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาริโมะ สาหร่ายน้ำจืด ที่เป็นอนุสาวรีย์ธรรมชาติของญี่ปุ่น
แม้ว่าการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายในปัจจุบันจะยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่น้ำมันที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการสะสมของซากสาหร่ายดึกดำบรรพ์ ไม่เพียงเท่านั้นทั้งเหล็กและปูนเราใช้สร้างตึกจำนวนไม่น้อยที่ก็เกิดจากการสะสมของซากสาหร่ายเมื่อหลายร้อยล้านปีเช่นกัน

ดร.สึโยชิ อาเบะ (Dr.Tsuyoshi Abe) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายจากพิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ญี่ปุ่น กล่าวภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ว่าจากการศึกษาวิจัยพบว่าสาหร่ายส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกมาโดยตลอด

"ย้อนกลับไปหลายร้อยล้านปี ต้นตระกูลของสาหร่ายได้สังเคราะห์แสงและปล่อยออกซิเจนออกมา ในยุคนั้นบรรยากาศโลกมีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ออกซิเจนในสมัยนั้นเป็นพิษรุนแรง สิ่งมีชีวิตจึงต้องปรับตัวจากที่ไม่ใช้ออกซิเจน เป็นหายใจด้วยออกซิเจนเป็นหลัก สิ่งมีชีวิตอย่างเราจึงเติบโตและออกลูกออกหลานได้ เราต้องขอบคุณสาหร่ายดึกดำบรรพ์" ดร.อาเบะกล่าว

เมื่อมีออกซิเจนมากๆ ก็ก่อตัวเป็นโอโซนป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) ทำให้สิ่งมีชีวิตขึ้นมาอยู่บนบกได้ สาหร่ายช่วยเปลี่ยนวิวัฒนาการและวิถีชีวิตบนโลก กิจกรรมของสาหร่ายกลายเป็นแหล่งทรัพยากรใต้ดินบนโลก

"แร่เหล็กในน้ำทะเลผสมกับออกซิเจนกลายเป็นสายแร่เหล็กสีเงิน ไม่ใช่แค่นั้น 200 ล้าน*ปีก่อนโลกเป็นทะเลใหญ่ ตื้นและอุ่นกว่าปัจจุบัน ทะเลผืนนั้นมีสาหร่ายที่สะสมปูนขาวในตัวเอง ปูนขาวที่ถูกสร้างออกมากลายเป็นชั้นหินปูนจากการะสมเปลือกสาหร่ายที่ถูกทับถมเป็นเวลานาน กลายเป็นหน้าผาชอล์กขนาดมหึมา คอนกรีตที่ใช้ในปัจจุบันมีสาหร่ายช่วยสร้าง" ดร.อาเบะกล่าว

นอกจากนี้ซากสาหร่ายยังทับถมกลายเป็นแหล่งน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง โดยตรวจพบสารที่แสดงว่าในน้ำมันดิบนั้นมีซากไดโนฟลาเจลเลต (Dinoflagellate) ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนในยุคดึกดำบรรพ์สะสมอยู่

ดร.อาเบะกล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากสาหร่ายในปัจจุบันที่เห็นง่ายสุดคือการใช้ทำเป็นอาหาร โดยญี่ปุ่นเองมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายมาช้านาน ขนมบางอย่างที่ต้องส่งเป็นบรรณาการแก่โชกุนทำมาจากสาหร่าย มีบทเพลงเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่กล่าวถึงการทำเกลือจากสาหร่าย

"คาราจีแนนก็เป็นผลผลิตจากสาหร่าย นำไปใส่ในเส้นก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารประเภทเส้น ทำให้เหนียวนุ่ม ไม่เละง่าย สาหร่ายโนริบางชนิดผลิตสารป้องกันยูวีป้องกันดีเอ็นเอถูกทำลายจากแสงแดดในช่วงน้ำลง เราจึงสกัดสารดังกล่าวมาผสมในเครื่องสำอาง นำไปผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ ของเหลวจากสาหร่ายนำไปผลิตปุ๋ยน้ำได้" ดร.อาเบะยกตัวอย่าง

ทั้งนี้ สาหร่ายอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง ทำให้กิจกรรมหลายอย่างในแหล่งน้ำตื้นทำลายที่อยู่อาศัยของสาหร่ายได้ โดยเมื่อราว 40 ปีก่อนญี่ปุ่นมีการถมชายฝั่งเพื่อนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ ทำให้สาหร่ายหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์

ดร.อาเบะระบุว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีสาหร่ายที่ใกล้สูญพันธุ์ 150 สายพันธุ์ ในจำนวนนั้นมี "มาริโมะ" สาหร่ายน้ำจืดในทะเลสาบอาคังทางตอนกลางของฮอกไกโด ซึ่งจัดเป็น "อนุสาวรีย์ธรรมชาติ" ของญี่ปุ่น ที่มีกฎหมายห้ามเคลื่อนย้ายและแตะต้อง แต่ได้รับอนุญาตให้นำมาจัดแสดงในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมกันนี้ได้นำตัวอย่างสาหร่ายใกล้สูญพันธุ์ 19 สายพันธุ์มาจัดแสดงด้วย

ทางพิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโดยนำตัวอย่างสาหร่ายและสาหร่ายของญี่ปุ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ มาจัดแสดงภายในมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในชื่อนิทรรศการ "สาหร่ายเพื่อมวลมนุษย์" (Algae for humankind) รวมถึงตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากสาหร่าย อาทิ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาหาร ปุ๋ยเพื่อการเกษตร เป็นต้น
ผาชอล์ก ที่มีขนาดใหญ่มหึมาจนมองไม่เห็นคนเดินอยู่ตีนผา เกิดจากการสะสมของซากสาหร่ายที่สร้างหินปูนเมื่อหลายร้อยล้านปี
สาหร่ายมะคอมบุที่มีความยาวได้ถึง 10 เมตร
ตัวอย่างสาหร่ายจากญี่ปุ่น
สาหร่ายที่นำมาสกัดเอาคาราจีแนน
ตัวอย่างสาหร่ายที่ใกล้สูญพันธุ์ของญี่ปุ่น
ดร.อาเบะชี้ตัวอย่างการสกัดน้ำมันจาสาหร่าย
ดร.อาเบะ
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ทางการเกษตร
สาหร่ายในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

***
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-21 ส.ค.56 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.nstf2013.com / www.facebook.com/nstf2013







กำลังโหลดความคิดเห็น