"เชลแล็ก" เป็นสารธรรมชาติที่ได้จากตัวครั่ง ซึ่งนิยมนำไปทาเคลือบไม้ และไทยผลิตได้เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย แต่การใช้ประโยชน์ยังไม่มากเท่าที่ควร ทางคณะเภสัช ศิลปากร จึงศึกษาคุณสมบัติเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางและการเกษตร
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงงานวิจัยของ ภญ.รศ.ดร. มานี เหลืองธนะอนันต์ ในการปรับปรุง "เชลแล็ก" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเภสัชภัณฑ์ ยา หรือ เครื่องสำอางหรืองานด้านการเกษตร ซึ่งปกติสารดังกล่าวจะถูกนำไปทาเคลือบไม้ให้เงางามหรือถนอมเนื้อไม้
ภญ.รศ.ดร.มานี ให้ข้อมูลว่า เชลแล็กเป็นสารธรรมชาติที่ได้จากครั่งซึ่งถ่ายใส่ต้นไม้ และได้ในภาคเหนือของไทย โดยไทยผลิตได้เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย และมีการส่งออกไปเยอรมนีเพื่อไปศึกษาวิจัย จึงเกิดแนวคิดที่จะวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของสารธรรมชาติที่มีอยู่มากในไทยในใช้ประโยชน์
ในอดีตมีการใช้เชลแล็กเป็นสารเคลือบกันซึมน้ำ เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องการป้องกันการซึมผ่านน้ำที่ดี พอนำมาใช้เป็นฟิล์มเคลือบในอุตสาหกรรมยาจึงสามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดีมาก ทำให้ยาคงตัว แต่เมื่อเก็บนานขึ้นปรากฏว่าเชลแล็กที่เคลือบเกิดกระบวนการรวมตัวกันที่เรียกว่า “พอลิเมอไรเซชั่น” ทำให้ยาไม่แตกตัว เมื่อกินยาเข้าไปยาจึงไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ และมีสารสังเคราะห์เกิดขึ้น ซึ่งสามารถทดแทนได้ดีกว่า ความนิยมในการใช้ “เชลแล็ก” ในอุตสาหกรรมยาจึงลดลงเรื่อยๆ
ปัญหาเรื่องความไม่คงตัวของเชลแล็กเป็นอุปสรรคต่อการนำสารชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์ โดยทีมวิจัยได้ศึกษาพบว่า เมื่อนำมาเป็นสารเคลือบโดยไม่เติมสารใดๆ เชลแล็กจะเสื่อมสภาพใน 2 เดือน และการเป็นสารเคลือบนั้นควรมีความยืดหยุ่น แต่เชลแล็กมีปัญหาเรื่อเปรอะและไม่แข็งแรงพอ จึงมีการปรับปรุงคุณสมบัติด้วยการเติมสารเพิ่มความยืดหยุ่น หรือ พลาสติไซเซอร์ (plasticizer)
จากการศึกษางานวิจัยอื่นๆ ก่อนนี้ทีมวิจัยพบว่า มีการเติมสารเพิ่มความคงตัวและความยืดหยุ่น เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของเชลแล็ก และมีงานวิจัยหนึ่งที่เติมสารพอลิเอทิลีนไกลคอลซึ่งให้ทั้งความยืดหยุ่นและความคงตัวแก่เชลแล็ก ซึ่งทีมวิจัยได้ต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว
"พอลิเอทิลีนไกลคอลมันมีหลายเกรด ขนาดโมเลกุลต่างๆ กันไป ผู้วิจัยก็เลยศึกษาว่าขนาดโมเลกุลและความเข้มข้นของสารมีผลหรือไม่ แล้วก็พบข้อสรุปว่า ขนาดโมเลกุลและความเข้มข้นที่เหมาะสมเท่านั้นสามารถป้องกันไม่ให้มันรวมตัวกันได้ ซึ่งตอนนี้คณะผู้วิจัยได้นำผลงานวิจัยของเชลแล็กมาใช้หลายด้านแล้ว" ภญ.รศ.ดร.มานีกล่าว
ผลจากการวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การต่อยอดใช้ประโยชน์เชลแล็กในหลายด้าน อาทิ ทางการเกษตรทีมวิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์คุณสมบัติเบื้องต้นของฟิล์มที่ใช้ในการเคลือบผลไม้ และทำให้ผลไม้มีความคงตัวยาวนานพอที่จะส่งออกได้ และในทางเภสัชศาสตร์ได้ศึกษานำเชลแล็กเป็นส่วนหนึ่งของตัวพายาในการนำส่งยาโปรตีน
นอกจากนี้ทีมวิจัยกำลังศึกษาการฟอกขาวเชลแล็ก เนืองจากเชลแล็กมีสีไม่สวย สีเหมือนมะม่วงกวน ดำคล้ำ ออกสีน้ำตาล โดย ภญ.รศ.ดร.มานีได้มอบหมายให้ นักศึกษาปริญญาโททำวิจัยเรื่องการฟอกขาว เพื่อได้สีขาวที่คนส่วนใหญ่ชอบใช้ รวมถึงศึกษาต่อเรื่องความเป็นพิษหรือการนำส่งยา ซึ่งหากนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสารเคมี
“ทุกครั้งผลลัพธ์ของงานวิจัยมักทได้เป็นเพียงเอกสารตำรา สิ่งตีพิมพ์ที่ใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการหรืออย่างมากก็เป็นสิทธิบัตร ซึ่งน่าเสียดายมากสำหรับทุน พลังความคิดและเวลาที่ได้เสียไป หากมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้เกิดความต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม จนนำไปใช้ได้ในระดับอุตสาหกรรมทั้งยา อาหารหรือเครื่องสำอาง หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ หรือสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าของงานวิจัย ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทย” ภญ.รศ.ดร.มานี กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ ภก.รศ.ดร. สนทยา ลิ้มมัทวาภิรัติ์ ที่ริเริ่มงานวิจัยทางด้านเชลแล็ก และมีแนวทางที่ต่างไปจาก ภญ.รศ.ดร.มานี โดยศึกษาและปรับปรุงคุณสมบัติในด้านอื่นๆ อาทิ พัฒนาในรูปอนุพันธ์ต่างๆ ที่สามารถละลายน้ำได้ ตัวอย่างเช่นพัฒนาให้อยู่ในรูปของเกลือ เป็นต้น