xs
xsm
sm
md
lg

ชู “5 ศ.” เบื้องหลัง สกว.องค์กรหนุนงานวิจัยชาติมา 20 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ (ซ้าย) มอบโล่เกียรติคุณแก่ ศ.ดร.ยงยุทธ (ขวา)
เปิดเบื้องหลังผลงาน สกว.ชู “5 ศ.” ผู้ก่อตั้งองค์กรหนุนงานวิจัยชาติมา 2 ทศวรรษ ศ.ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล, ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน, ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต และ ศ.ดร.สง่า สรรพศรี ด้านว่าที่ ผอ.คนใหม่ประกาศนำงานวิจยที่หนุนมาตลอด 20 ปีไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

นับถึงวันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ดำเนินการสนับสนุนทุนวิจัยมาเป็นเวลา 20 ปีแล้วนับแต่ปี 2536 ทั้งประเภททุนวิจัยและพัฒนา ทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างคน และทุนวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนและท้องถิ่น และเพิ่งจัดงาน “ครบสองทศวรรษ สกว.จัดงานขอบคุณผู้บุกเบิก” ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ เมื่อ 3 พ.ค.56

ภายในงานดังกล่าวซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมด้วยนั้น ได้ระบุถึงความสำเร็จของ สกว.ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน ว่ามีผลงานการวิจัยมากมาย เช่น โครงการระบบเครือข่ายจัดการทรัพยากรน้ำ โครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย และการวิจัยเรื่องสัตว์พื้นเมือง เป็นต้น

ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า สกว.เป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจที่มี “ความเฉพาะ” ซึ่งหลากหลายทั้งในเชิงศาสตร์ การจัดการ และพันธกิจ และเพิ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2555 แสดงถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้มากตามเป้าหมายของภารกิจหลัก และสะท้อนการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด

การจัดตั้ง สกว.เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ กล่าวว่าในสมัยดังกล่าวเห็นความสำคัญของงานวิจัยต่อการพัฒนาประเทศ ในการเป็นกลไกแก้ปัญหาและวางรากฐานทางปัญญาแก่สังคมไทย

“สกว.จึงได้รับการออกแบบให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนและบริหารจัดการงานวิจัยที่มีระบบการบริหารงานที่แตกต่างจากระบบราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยมีเป้าหมายคือ “การสร้างความเปลี่ยนแปลง” ในวงการวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ” ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัยกล่าว

ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์กล่าวว่าความสำเร็จในการก่อตั้ง สกว.นั้น มี “กลุ่มผู้ก่อตั้ง” อยู่เบื้องหลัง 5 คน คือ ศ.ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล, ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน, ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต และ ศ.ดร.สง่า สรรพศรี พร้อมทั้งแจกแจงบทบาทของแต่ละคน ดังนี้

ศ.ดร.ไพจิตร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นทั้งผู้คิด ผู้ประสาน ตอบกระทู้ถามความคลางแคลงใจสมาชิกวุฒิสภา และยืนยันเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่รัฐสภาในการก่อตั้ง สกว.ว่าทำเพื่อ “อนาคตของประเทศ และของคนไทย”

ศ.ดร.วิจิตร อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย สนับสนุนความคิดว่าองค์กรอิสระจะตอบโจทย์การพัฒนาระบบวิจัยในโลกสมัยใหม่ได้ เพราะคล่องตัวในการทำงาน และเป็นองค์กรที่สามารถพัฒนาคนที่มีคุณภาพให้ประเทศผ่านระบบวิจัยได้

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการคนแรกของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้เขียน และยกร่าง “พระราชบัญญัติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย” จนผ่านคณะกรรมาธิการรัฐสภาได้สำเร็จ อีกทั้งสรรหาและแต่งตั้งผู้อำนวยการคนแรกของ สกว.คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ศ.ดร.สง่า สรรพศรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคู่คิดของ ศ.ดร.ไพจิตร และมีส่วนช่วยสนับสนุนในรัฐสภาให้ก่อตั้ง สกว.โดย ศ.ดร.สิปปนนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ชุดที่ 1 และ ศ.ดร.สง่าดำรงตำแหน่งดังกล่าวในชุดที่ 2 (ทั้งสองท่านถึงแก่อนิจกรรมแล้ว)

ตลอด 20 ปี สกว.อยู่ภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการ 3 คนคือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง และ ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ โดยในวันที่ 9 พ.ค.56 ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ หัวหน้าสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สกว.คนใหม่

ศ.ดร.วิจิตร ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สกว.เป็นองค์กรอิสระที่สนับสนุนการวิจัยโดยไม่ทำวิจัยเอง เนื่องจากหากทั้งสนับสนุนและทำการวิจัยนั้นจะขัดกับบทบาทหน้าที่ขององค์กร จึงเกิดแนวคิดในการให้การสนับสนุนการวิจัยต่างๆ เพื่อช่วยตอบโจทย์การพัฒนาระบบวิจัยในโลกสมัยใหม่

“ในการส่งเสริมการวิจัยนั้นหากมีแต่เงินก็ไม่อาจสัมฤทธิ์ผล จึงเป็นต้องสร้างบุคลากรทางการวิจัยที่เป็นมืออาชีพด้วย จึงหวังให้ สกว.สามารถผลิตผู้ที่มีคุณภาพผ่านระบบวิจัย และมีการร่วมมือกับเอกชนรวมไปถึงกลุ่มเครือข่ายของการวิจัย ช่วยให้เครือข่ายมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” ศ.ดร.วิจิตรกล่าว

​ด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ แนะว่า สกว.นั้นควรมีการประสานต่อจากระดับนโยบายมาสู่ระดับการทำงาน คือเรื่องการบริหารที่มีธรรมาภิบาล ต้องสนับสนุนการวิจัยให้กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงระดับมหาวิทยาลัย ทั้งระดับเอกชนและระดับชุมชน โดยควรเน้นในเรื่องสุขภาพให้มากขึ้น และขณะนี้ประเทศไทยถึงจุดที่จะต้องให้ความร่วมมือในการสนับสนุนการวิจัยแล้ว ซึ่งเราควรสนับสนุนการวิจัยเรื่องใหญ่ๆ

ตัวอย่างงานวิจัยใหญ่ที่เราควรสนับสนุนตามความเห็นของ ศ.ดร.ยงยุทธ เช่น การเสริมยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งสิ่งท้าทายสำคัญของไทย คือ การจัดการเรื่องความหลากหลายและทรัพยากรชีวภาพเพื่อสุขภาพ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำ มีการวิจัยสู่ความเป็นสากล โดยเฉพาะเรื่องการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สนับสนุนการวิจัยเพื่อขจัดความยากจนมีการเข้าสู่ชุมชนอย่างแท้จริง เป็นต้น

ส่วน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ ว่าที่ ผอ.สกว.คนใหม่ แสดงวิสัยทัศน์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า หลังจากนี้ สกว.จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป โจทย์ที่สำคัญคือ สกว.ได้สนับสนุนการทำวิจัยมาเป็นเวลาถึง 20 ปีแล้ว จึงมีแนวคิดที่จะนำการวิจัยต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด







ศ.ดร.วิจารณ์ พานิช ผอ.สกว.คนแรก
 ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ (กลาง) และ ศ.ดร.สวัสดิ์ ผอ.สกว. (ซ้าย) และ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ ว่าที่ ผอ.สกว. (ขวา)
กลุ่มผู้ก่อตั้งและตัวแทน ( ซ้ายไปขวา) ศ.ดร.ยงยุทธ ,ภรรยา ศ.ดร.สิปปนนท์, ภรรยา ศ.ดร.สง่า และ ศ.ดร.วิจิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น