ผอ.สวทช.ย้ำจุดยืนสู้เพื่อวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ประกาศชนกับใคร พร้อมชี้ว่าเข้าใจถึงหน้าที่ของผู้บริหารต้องสื่อสารกับพนักงานและรัฐมนตรี ซึ่งอยากทำงานโดยให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ ด้านวรวัจน์ทำซื่อไม่รู้ปัญหาคืออะไร พร้อมรับตั้งบอร์ด กวทช.ต้องมีคนของรัฐมนตรีอยู่แล้วเพื่อให้รู้ว่าใครทำอะไร จึงจะบริหารงานได้
จากที่มีกระแสข่าวมาเป็นระยะเกี่ยว กับความไม่พอใจของพนักงาน สวทช.ต่อการบริหารงานของ "นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ จนถึงขั้นพนักงานแสดงสัญลักษณ์ด้วยการแต่งดำ และมีอีเมลจาก ผอ.สำนักงานประกาศจุดยืนสู้เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ติดตามต่อประเด็นดังกล่าว พบว่าบรรยากาศภายในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.56 มีพนักงานกว่า 90% สวมชุดดำไปทำงาน
แหล่งข่าวภายในระบุอีกว่า หากรายชื่อคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กวทช.) ซึ่งมีกระแสว่า มีรายชื่อของผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ในคณะกรรมการด้วย ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทางพนักงาน สวทช.จะยื่นหนังสือคัดค้าน
ทั้งนี้ กวทช.ชุดปัจจุบันเพิ่งหมดวาระไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค.56 ที่ผ่านมา และหนึ่งในหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือการสรรหาผู้อำนวยการ สวทช.คนใหม่ โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการของสำนักงานคนปัจจุบันจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งใน ต.ค.ที่จะถึงนี้ ทำให้เกิดกระแสกังวลว่า อาจมีการแทรกแซงจากภาคการเมืองในการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ของ สวทช.นอกจากบรรยากาศการ “แต่งดำ” ภายในสำนักงานแล้ว ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กที่พร้อมจะสู้กับความไม่ชอบธรรม
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ดร.ทวีศักดิ์ ได้ประชุมชี้แจงต่อพนักงาน สวทช.ต่อกรณีข่าวของสำนักงานที่ปรากฏผ่านสื่อว่า ทาง สวทช.พร้อมผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล แต่บางข่าวที่ปรากฏนั้นก็มีการบิดเบือนไปจากความจริง แต่เมื่อ 26 พ.ค.ผู้อำนวยการคนเดิมได้ส่งอีเมลไปยังพนักงานเพื่อประกาศจุดยืนว่าพร้อมสู้เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และระบบธรรมาภิบาล รวมถึงรักษาเกียรติของ สวทช.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้ติดตามสอบถาม ดร.ทวีศักดิ์ถึงท่าทีดังกล่าว ซึ่งได้ให้ความเห็นเพียงว่า เป็นการประกาศจุดยืนเพื่อยืนหยัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น ซึ่งในฐานะผู้นำองค์กรก็มีหน้าที่สื่อสารกับพนักงานภายในองค์กร รวมถึงการสื่อสารกับรัฐมนตรีด้วยอยู่แล้ว โดยเป้าหมายก็อยากทำงานโดยให้ทั้งรัฐมนตรีและพนักงานสบายใจทั้งสองฝ่าย
ด้าน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่าสำนักงบประมาณให้งบมาเพียง 10,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ตนได้แจงแก่ทุกคนว่าโครงการใด งานวิจัยใดที่มีความชัดเจน สามารถเสนอของบประมาณกลางของประเทศจากนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง เพราะนายกฯ มีอำนาจดูภาพรวมงานวิจัยของประเทศ และอธิบายว่างานวิจัยที่มีความชัดเจนก็คือโครงการที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้อย่างชัดเจน
"การออกมาบอกว่าตนเป็นผู้ตัดงบนั้นไม่ถูกต้อง แล้วปัญหามันคืออะไร" นายวรวัจน์ถามย้ำอยู่หลายครั้งว่าปัญหาคืออะไร และได้บอกให้ ผอ.สวทช.ไปชี้แจงแก่พนักงานแล้ว แต่ดูเหมือนสถานการณ์ไม่คลี่คลายและมีแรงต่อต้านมากขึ้น ซึ่งเขากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าไม่ทราบว่าปัญหาคืออะไร และไม่ทราบว่า ดร.ทวีศักดิ์ไปชี้แจงอย่างไร อีกทั้งจะให้ตนไปชี้แจงก็ไม่รู้จะชี้แจงอะไร
ส่วนประเด็นถ่วงเวลาการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) นั้น นายวรวัจน์แจงว่าตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครส่งหนังสือเชิญให้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมาทราบอีกครั้งเมื่อคณะกรรมการหมดวาระแล้ว ส่วนเรื่องที่มีประเด็นเกี่ยวกับมีรายชื่อของผู้ใกล้ชิดของรัฐมนตรีเป็นว่าที่ กวทช.นั้นก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีคนของรัฐมนตรี เพราะในการบริหารงานก็ต้องทราบว่าคณะกรรมการจะทำอะไรบ้าง
“ก็ถูกเพราะมันต้องมีคนของรัฐมนตรีเข้าไป เพื่อที่จะรับรู้ว่างานคืออะไร ไม่ใช่เราไม่รู้เลย เพราะการบริหารงานนี่รัฐมนตรีต้องรับการทำงานของบอร์ด ไม่เช่นนั้นรัฐมนตรีจะไม่รู้เลย แล้วจะบริหารงานยังไง เพราะที่นี่เราไม่รู้เลยว่าบอร์ดทำงานอะไร ฉะนั้นบอร์ดทั้งหมดต้องเป็นคนที่รัฐมนตรีรู้ว่าเขาทำอะไรได้ มีบอร์ดไหนบ้างที่ไม่มีคนที่เรารู้จัก ทุกสมัยก็ต้องมีคนของรัฐมนตรี” นายวรวัจน์กล่าว และยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่าแม้ว่ารัฐมนตรีหมดวาระไปแล้ว คณะกรรมการที่รัฐมนตรีคัดสรรไว้ก็ยังคงทำงานต่อไปจนครบวาระ 2 ปี
พร้อมกันนี้ นายวรวัจน์ยังได้แสดงเอกสารการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชี 2556 ของ สวทช. ซึ่งบอกว่าเป็นการทำงานที่ได้ผล “ต่ำกว่าเกณฑ์” ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าได้ตรวจสอบร่วมกับปีที่ผ่านมาหรือไม่ว่าผลงานดังกล่าวต่ำกว่าเกณฑ์ดังกล่าวไปแค่ไหน ได้คำตอบว่าไม่ได้พิจารณาผลการดำเนินงานของปีอื่นๆ และผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่า สวทช.ชี้แจงหรือไม่เหตุใดผลงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งได้คำตอบว่าเป็นเรื่องที่ สวทช.ต้องชี้แจ้ง
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตัวเลขจากผลการดำเนินงานของ สวทช.อย่างละเอียด พบว่าผลงานการทำงานต่างไปจากการประเมินของรัฐมนตรี ตัวอย่างเช่น จำนวนทรัพย์สินทางปัญญาที่ยื่นขอรับความคุ้มครองต่อบุคลากรวิจัย ไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.082 คำขอต่อคน แต่ค่าเกณฑ์ระดับ 3 หรือเกณฑ์ตามเป้าหมายอยู่ที่ 0.130 ซึ่งไม่ถึงครึ่งปีแต่เห็นได้ว่ามีผลงานเกินครึ่งแล้ว หรือการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการซึ่งอยู่ที่ 0.06 บทความต่อคน แม้จะไม่ถึงครึ่งของ 0.32 บทความต่อคนตามเป้าหมาย แต่โดยธรรมชาติของงานวิจัยมักใช้เป็นปีหรือมากกว่านั้นในการตีพิมพ์ จึงมักพบว่าช่วงปลายปีจะเห็นตัวเลขผลงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น