กรีนพีซระดมความคิดหาทางออกให้วิกฤตทะเลไทย “บรรจง นะแส” ชี้อุตสาหกรรมปลาป่นที่รับซื้อลูกปลาจาก “อวนลาก” กำลังกุมชะตากรรมแหล่งโปรตีนธรรมชาติของไทย แนะนำเข้าปลาป่นมาทำอาหารสัตว์ดีกว่า ด้านตัวแทนจากโรงงานปลาป่นโต้เป็นแค่อุตสาหกรรมปลายแถว หากไม่รับซื้อปลาเล็กปลาน้อยก็ถูกทิ้งให้เน่าในทะเล
บรรจง นะแส ประธานสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงปัญหาส่วนหนึ่งของวิกฤตไทยว่า ยังมีการใช้เครื่องมือทำประมงที่อารยประเทศจัดให้เป็นเครื่องทำลายล้างแหล่งอาหารโปรตีนของโลก อย่างอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ซึ่งเรือปั่นไฟนั้นเคยยกเลิกการใช้ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่กลับมาอนุญาตให้ใช้อีกครั้งเมื่อปี 2539 สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี
ผลจากการทำประมงแบบทำลายล้างดังกล่าว บรรจง ระบุว่าทำให้ปลาเศรษฐกิจหลายชนิดหายไปจากท้องทะเลไทยจำนวนมาก เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาจาระเม็ดขาว เป็นต้น รวมถึงลูกปลาทูตัวเท่านิ้วก้อยก็ถูกจับขั้นมาขายกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งในน้ำหนักดังกล่าวมีปลาทูถึง 1,000 ตัว ซึ่งหากปล่อยให้โตต่อไปจะได้ปลาทูกิโลกรัมละ 13 ตัว ในจำนวนพันตัวตัวกล่าวจะกลายเป็นปลาทูหนัก 77 กิโลกรัม และถ้าขายกิโลกรัมละ 100 บาทเหมือนเดิมจะได้ราคา 7,000 บาท
“ตอนนี้เรากินอนาคตของลูกปลาทู ซึ่งยังมีขายเกลือนตลาด และที่เลวร้ายท่สุดคือนักวิชาการสนับสนุนให้กินเพราะมีแคลเซียมสูง ถ้าปล่อยให้โตต่อไปลูกหลานของเราที่ขอนแก่น ที่แม่ฮ่องสอนก็มีปลาเหล่านี้ให้กิน” บรรจง กล่าวพร้อมให้ตัวเลขว่า ปลาจากอวนลาก 100% เป็นปลาเศรษฐกิจกว่า 30% และอีกกว่า 60% เป็นลูกปลาเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “ปลาเป็ด” และถามย้ำอีกว่าเราได้ทำร้ายทะเลขนาดไหน
บรรจง เล่าต่อไปว่าลูกปลาเศรษฐกิจเหล่านั้นถูกส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมทำปลาป่นเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ทั้งนี้เราสามารถนำเข้าปลาป่นได้ จึงควรยกเลิกการซื้อปลาป่นที่ได้จากอวนลาก ซึ่งเขาได้เจรจาเรื่องนี้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ แต่บริษัทดังกล่าวขอเวลาพิจารณามาปีกว่าๆ แล้ว
“เราถูกบังคับให้กินแต่หมูขุนกับไข่ขาว ตามซอกซอยก็มีแต่ปลาทับิม ทั้งๆ ที่ในทะเลมีปลากมากมาย ซึ่งภาคประชาชนต้องรับรู้ในเรื่องนี้” ประธานสมาคมรักษ์ทะเลไทย พร้อมแนะถึงการทำประมงที่ยั่งยืนว่า เพียงแค่ให้เวลาทะเลได้ฟื้นตัว 3-4 เดือน งดจับลูกปลา เพียงเท่านี้ทะเลก็ฟื้นคืนได้
ด้าน นายสงวนศักดิ์ อัครวารินทร์ชัย ประธานสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมปลาป่นเป็นเพียงปลายทางของการประมงแบบทำลายล้าง โดยกว่าลูกปลาเหล่านั้นจะมาถึงโรงงานผลิตปลาป่น ก็ต้องผ่านอุตสาหกรรมน้ำปลา ปลาร้า หรือกระทั่งการผลิตปลาเหยื่อเสียก่อน จึงเหลือมาถึงโรงงานปลาป่น โดยสัดส่วนของวัตถุดิบในโรงงานปลาป่นคือ ลูกปลาที่ติดมาจากการประมง 30% และ 70% เป็นหัวและไส้ปลาจากอุตสาหกรรมทำปลากระป๋อง
“เราจะฟื้นฟูทะเลไทยอย่างไร? ในแง่ปฏิบัตินั้นยาก คนแรกที่ไปจับปลาเขามองถึงความยั่งยืนของทะไลไหม? ไม่หรอก เขามองรายได้เป็นหลัก ซึ่งเราห้ามไม่อยู่ และถ้าเราไม่รับซื้อลูกปลาเหล่านั้น เขาก็ทิ้งลงทะเล ทำให้น้ำเน่าไปเปล่า แม้แต่ช่วงปิดอ่าวให้ทะเลได้ฟื้นตัวก็ยังมีการลักลอบจับปลาอยู่ เพราะเป็นช่วงที่ปลาเยอะ และได้ราคาถูก ค่าปรับแค่ 100,000 บา เขาก็กล้าเสี่ยงเราเคยคุยในกลุ่มปลาป่นด้วยกันว่าถ้าจะทำแบบเปรูที่ทำอุตสาหกรรมปลาป่นเป็นอันดับ 1 ของโลกว่าหยุดทำสัก 6 เดือนเหมือนเขาได้ไหม ก็เห็นพ้องต้องกันว่าดี ดีกว่าปล่อยให้ธุรกิจเจ๊งเพราะไม่มีปลาให้ผลิต แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ไปสู่ภาคปฏิบัติ” ประธานสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยกล่าว
ทั้งนี้เป็นการให้ความเห็นระหว่างการจัดเวทีเสวนาระดมความคิดกู้วิกฤตทะเลไทยในหัวข้อ “ทะเลเดียวกัน : วิกฤตทะเลไทยสู่ทะเลโลก” ที่จัดขึ้นโดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับภาคประชาสังคม เมื่อ 7 มิ.ย.56 ณ สภาคริสตจักรประเทศไทย ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าฟังการเสวนาดังกล่าวด้วย