xs
xsm
sm
md
lg

เปลือยทะเลไทย / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
“เรามาที่นี่เพื่อเปิดโปงให้เห็นด้านมืดที่ถูกปิดบังไว้ของการทำประมงพาณิชย์แบบทำลายล้าง และไม่ได้รับการตรวจสอบ บริเวณนี้มีเรืออวนลากมากถึง 70 ลำ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันไม่มีวันหยุด วิธีทำประมงแบบนี้จะทำให้ปลา และสัตว์ทะเลอื่นๆ หมดไปจากท้องทะเลอ่าวไทย และกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เราควรยุติการทำประมงแบบนี้ เพื่อให้ทะเลของเรามีโอกาสที่จะฟื้นสภาพได้”
 
คุณศิรสา กันตรัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงไว้ถึงเป้าหมายของการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของเรือเอสเพอรันซา ซึ่งอยู่ระหว่างการลาดตระเวนเพื่อสำรวจ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทำประมงแบบผิดกฎหมาย และการทำประมงแบบทำลายล้างในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15-30 มิถุนายน 2556 นี้
 
กลุ่มกรีนพีซ ใช้ชื่อในการรณรงค์ครั้งนี้ว่า “ฟื้นชีวิตทะเลไทย กับเรือเอสเพอรันซา” โดยทำงานรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย และเครือข่ายประมงพื้นบ้านในพื้นที่ เช่นที่สงขลา ประจวบฯ และสรุปผลการสำรวจที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายนนี้ที่ท่าเรือคลองเตย เพื่อสร้างความตื่นตัวให้สังคมให้รับรู้ถึงปัญหาภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ
 
การเดินทางสำรวจทะเลอ่าวไทย สิ่งที่พวกเขาค้นพบข้อเท็จจริงในท้องทะเลที่คนไทยควรจะได้รับรู้ เพราะไม่บ่อยนักที่มีการนำเสนอภาพการทำลายล้างทะเลไทยออกสู่พื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการทำการประมงด้วยเรืออวนลาก ซึ่งเป็นเรือจับปลาที่ใช้อวนขนาดใหญ่ที่มีตาถี่ จับสัตว์น้ำจากพื้นทะเลจนถึงผิวทะเลขณะที่ลากอวนผ่าน การทำประมงวิธีนี้นอกจากจะทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลน้ำลึกแล้ว ยังเป็นการจับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดโดยไม่เลือกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเต่า ฉลาม และปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย การใช้ตาอวนที่มีขนาดเล็ก สัตว์น้ำที่ติดอวนมาโดยไม่ตั้งใจจะถูกทิ้งลงทะเล หรือนำไปทำปลาป่นป้อนโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
 
พวกเขาพบ และได้ข้อสรุปว่า “การจับสัตว์น้ำในประเทศไทยมีปริมาณลดลงมากอย่างน่าตกใจในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จำนวนปลาในปัจจุบันอยู่ในจุดที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ถ้าเราไม่ลงมือจัดการอะไรกับปัญหานี้ กรีนพีซตั้งข้อสังเกตว่า วิธีทำประมงที่แม้จะถูกกฎหมายภายใต้กฎหมายการประมงไทยก็สามารถทำลายสภาพแวดล้อมทางทะเลได้ เราจึงต้องปกป้องทรัพยากรทางทะเล และวิถีชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่ง โดยการเปลี่ยนไปใช้วิธีทำประมงที่ยั่งยืนอย่างรวดเร็ว”
 
พวกเขาบันทึกไว้ว่า “หลังจากที่ได้ติดตามการเดินทางของเรือเอสเพอรันซาไปในอ่าวไทยมาเป็นเวลา 4 วัน พร้อมกับเฝ้าดูการประมงแบบทำลายล้างในบริเวณน่านน้ำแห่งนี้ ฉันก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่า จะยังมีที่ใดใต้ท้องทะเลไทยที่ปลอดภัยสำหรับให้ลูกปลาได้เติบโตหลงเหลืออยู่ไหม เพราะแม้แต่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่ได้รับการคุ้มครอง ยังเป็นแหล่งปลาอันโอชะสำหรับเรืออวนลากขาประจำ
 
ตั้งแต่เรือเอสเพอรันซาเดินทางมาถึงน่านน้ำบริเวณเกาะสมุย และเกาะพงัน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ในแต่ละวัน ทั้งเช้า และบ่าย นักกิจกรรมกรีนพีซได้คอยเฝ้ามองจากเรดาร์ของเรือเอสเพอรันซาในระยะ 6 ไมล์ ปรากฏว่า มีเรืออวนลากทั้งเดี่ยว และคู่อยู่เกิน 50 ลำ และเมื่อสอบถามกับชาวประมงก็ได้รับข้อมูลว่า เรืออวนลากนั้นจะทำงานกะละ 6 ชั่วโมงต่อวัน อย่างน้อยสามกะ และบ้างก็ดำเนินการลากอวนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดพัก เรียกได้ว่าการหมุนเวียนของเรือประมงอวนลากเดี่ยว และคู่ในบริเวณนี้แทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้ท้องทะเลได้หยุดพักหายใจ และสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาทดแทน”
 
“จากที่เราเคยได้รับรู้ข้อมูลจากการสำรวจวิจัยด้านความสมดุลทางทะเลของประเทศไทยว่า ร้อยละ 60 ของปริมาณปลาที่เรืออวนลากจับขึ้นมานั้น ไม่ใช้ปลาเป้าหมายที่ต้องการ และร้อยละ 32 ในจำนวนนั้น เป็นลูกปลาเศรษฐกิจวัยอ่อน แต่เมื่อเราออกไปสำรวจด้วยตนเองแล้วจำนวนลูกปลาคงไม่ใช่เพียงร้อยละ 32 อย่างแน่นอน และไม่ต้องพูดถึงว่าขนาดของอวนนั้นมีตาถี่เล็กเพียงใด แม้แต่น้ำที่ก้นอวนก็ยังไม่สามารถไหลออกได้ เพราะติดลูกปลา และสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อวนจนเหมือนกับถึงน้ำขนาดใหญ่ที่เพิ่งถูกดึงขึ้นจากทะเล”
 
“ไม่ใช่เพียงเรืออวนลากเท่านั้นที่เราพบเจอ แต่ยังมีเรือคราดหอยที่จะออกทำการประมงในช่วงบ่ายๆ จนถึงเวลาประมาณตีสามในตอนเช้า เรือประมงประเภทนี้มีประสิทธิภาพในการทำลายระบบนิเวศท้องทะเลไม่แพ้กับเรืออวนลาก โดยใช้เครื่องมือที่คล้ายตะแกรงขูด แซะเพื่อจับหอยที่อยู่ใต้ผิวดิน และแน่นอนว่าได้ทำลายระบบนิเวศหน้าดินของทะเล และสัตว์วัยอ่อนทุกชนิดที่คราดเคลื่อนผ่าน ถือเป็นอีกหนึ่งศัตรูสำคัญของการทำการประมงแบบยั่งยืน”
 
“ในวันรุ่งขึ้นวันที่ 18 มิถุนายน นักกิจกรรมของกรีนพีซจากเรือเอสเพอรันซาได้นำเรือยางออกเผชิญหน้ากลุ่มเรือประมงแบบทำลายล้างในอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่งเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 10 กิโลเมตร พร้อมชูป้าย “หยุดทำร้ายทะเลไทย” ด้านหน้าหนึ่งในเรืออวนลากจำนวนนับร้อยในบริเวณนี้ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และมุ่งนโยบายที่นำไปสู่การยุติการทำประมงเกินขนาด และการประมงแบบทำลายล้างเพื่อปกป้องและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย”
 
“ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน สะพานเดินเรือของเอสเพอรันซาได้แจ้งแก่เราว่า พบเรือประมงในเขต 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นเขตผิดกฎหมายห้ามทำการประมงเชิงอุตสาหกรรมใดๆ ในบริเวณนี้ และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ น่านน้ำบริเวณนี้อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยภาพที่เรดาร์ของเรือเอสเพอรันซาแสดงนั้น เป็นภาพของเรืออวนลากคู่เรียงรายเป็นขบวนในรัศมี  6 ไมล์ นับดูแล้วเกิน 10 คู่ และยังไม่รวมถึงเรืออวนลากเดี่ยวอีกหลายลำ”
 
“เอสเพอรันซาจึงส่งเรือยางออกไปสำรวจในบริเวณนั้น พร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมง และกรมอุทยานฯ หลังจากติดต่อแล้วในที่สุด กรมอุทยานฯ ได้แจ้งว่า จะส่งเรือลาดตระเวนออกมาสำรวจ นักกิจกรรมที่เรือยางจึงคอยอยู่ในบริเวณนั้น เป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงผ่านไปที่เรือลาดตะเวนนั้นมาถึง และแน่นอนว่า เรือประมงผิดกฎหมายนั้นได้ออกไปที่อื่นแล้ว”
 
งามหน้าไหมล่ะหน่วยราชการไทย
 
ในเช้าของวันที่ 19 มิถุนายน พวกเขายังได้พบเรือประมงอวนลากคู่เกือบสิบคู่ที่จอเรดาร์ในบริเวณเดิมอีกครั้ง และมีประมาณสองคู่ที่อยู่ในเขต 3 กิโลเมตรของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองจุดเดิม พวกเขาจึงส่งเรือยางออกไปสำรวจอีกครั้ง และต้องการตรวจสอบว่า เรือที่พบนั้นมีชื่อเดียวกันกับที่พบเมื่อวานหรือไม่ เมื่อเรือยางไปใกล้จุดที่เรดาร์ระบุไว้ เรือประมงอวนลากดังกล่าว และเรือประมงแบบทำลายล้างโดยรอบต่างรีบออกจากบริเวณหมู่เกาะอ่างทองทันทีที่เห็นเรือยาง
 
พวกเขาบอกว่า “เห็นได้ชัดว่าเรือประมงตระหนักดีว่า ตนทำผิดกฎหมาย และต้องการหลบเลี่ยงพวกเรา”
 
“ทะเลเป็นทรัพยากรอันมีค่าของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อุทยานฯ เป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการคุ้มครอง และเป็นทรัพย์สินของชาติ ซึ่งภาครัฐควรดูแลบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ และควรมีการปรับปรุงกฎหมาย ตั้งแต่ภาคนโยบายไปจนถึงการดำเนินการบังคับใช้ เพียงแค่พื้นที่เล็กๆ ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง รัฐก็ยังไม่สามารถดูแลได้ แล้วภาครัฐจะสามารถดูแลพื้นที่ทั้งหมดของทะเลไทยได้อย่างไร หากมีกฎหมาย แต่ขาดการบังคับใช้อย่างแท้จริง ก็คงไม่ต่างอะไรกับตัวหนังสือบนกระดาษเท่านั้น”
 
นี่คือสถานการณ์วิกฤตของทะเลไทยที่เราต้องตระหนักร่วมกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น