xs
xsm
sm
md
lg

“เรือกรีนพีซ” เทียบท่าสงขลา จี้รัฐปรับกฎหมาย-ฟื้นทะเลไทยให้สมบูรณ์ภายใน 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรีนพีซเปิดตัวโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล นำเรือ ‘เอสเพอรันซา’ เยือน จ.สงขลา จัดกิจกรรม “ฟื้นชีวิตทะเลไทยกับเรือเอสเพอรันซา” เรียกร้องรัฐบาลฟื้นฟูทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ภายใน 5 ปี พร้อมปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประมงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และสิทธิชุมชน

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (15 มิ.ย.) ที่บริเวณหาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับเทศบาลนครสงขลา สมาคมรักษ์ทะเลไทย สงขลาฟอรั่ม ชุมชนเรือประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลา และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงาน “ฟื้นชีวิตทะเลไทยกับเรือเอสเพอรันซา” ขึ้น เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นจากการประมงแบบทำลายล้าง ภายในงานมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของทะเล รวมถึงวิกฤตการณ์ และปัญหาต่างๆ และในช่วงค่ำวันนี้จะมีเวทีเสวนา หัวข้อ “กู้วิกฤตพื้นที่ผลิตอาหาร (ทะเลไทย)” ด้วย
เรือเอสเพอรันซา (Esperanza) ซึ่งเป็นภาษาสเปน แปลว่า ความหวัง
 
เรือเอสเพอรันซา (Esperanza) เป็นเรือรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำใหญ่ที่สุดของของกรีนพีซ โดยจะเดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และพิทักษ์โลก และได้เข้ามาจอดทอดสมอบริเวณหน้าหาดสมิหลาเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เรือเอสเพอรันซาเดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมกันนี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ถือโอกาสเปิดตัวโครงการ “ฟื้นชีวิตทะเลไทยกับเรือเอสเพอรันซา” ซึ่งเป็นการรณรงค์ด้านทะเล และมหาสมุทรอย่างเป็นทางการด้วย
นายกเทศมนตรีนครสงขลามอบของที่ระลึกให้แก่กัปตันเรือเอสเพอรันซา
 
นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า นครสงขลายินดีต้อนรับเรือเอสเพอรันซาสู่ประเทศไทย และยินดีร่วมสนับสนุนการภารกิจฟื้นชีวิตทะเลไทยในครั้งนี้ สงขลาเป็นจังหวัดที่ต้องพึ่งพิงทะเลเป็นอย่างมาก สำหรับอวนรุน และอวนลาก ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายนั้น เป็นความล้าหลัง และปล่อยปละละเลยของกฎหมายไทย จึงจำเป็นจะต้องดูแลปกปักรักษาทะเลไว้ให้มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะนอกจากทะเลจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญแล้ว ยังมีความสำคัญกับผู้คนริมชายฝั่งอีกด้วย
นายวลาร์ด กัปตันเรือเอสเพอรันซา
 
ด้านนายวลาร์ด กัปตันเรือเอสเพอรันซา ได้มอบธงกรีนพีซเป็นที่ระลึกแก่เทศบาลนครสงขลา และเปิดเผยว่า ในนามกัปตันเรือเอสเพอรันซา ขอขอบคุณในความร่วมมืออันดีของชาวสงขลา และเชื่อว่า กรีนพีซ ลูกเรือ และคนไทย จะร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมงานกันอีกในโอกาสต่อๆ ไป

จากนั้น นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแถลงการณ์ให้รัฐยุติภัยคุกคามทะเลไทย บนเรือเอสเพอรันซา ว่า สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันของชาวประมงพื้นบ้านใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ มีข้อตกลง และพันธกิจสำคัญคือ การจับปลาที่เจริญเติบโตได้ขนาดมาเป็นอาหารให้แก่คนไทย ไม่จับปลาตัวเล็กๆ ที่ยังเติบโตไม่เต็มที่

“ปัจจุบัน รัฐบาลได้สนับสนุนให้เกิดการทำประมงที่เน้นปริมาณมากๆ เป็นหลัก จึงทำให้เกิดเครื่องมีผิดกฎหมายตามมาหลายชนิด ทั้งอวนรุน อวนลาก และเรือปลากะตัก เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลด้วย ทางสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จะช่วยกันหยุดยั้งเครื่องมือประมงทำลายล้างเหล่านี้ เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงคนไทย และคนทั่วโลกต่อไป นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ โรงงานอุตสาหกรรมชายฝั่งได้ปล่อยสารพิษลงสู่ทะเล สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยขอขอบคุณกรีนพีซอย่างยิ่งที่เห็นความสำคัญของชาวประมงพื้นบ้าน” นายสะมะแอ กล่าว
เริ่มพิธีเปิดงานด้วยการร่วมกันตัดทำลายอวนตาถี่ หนึ่งในเครื่องมือประมงทำลายล้าง
 
ขณะเดียวกัน นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ ‘คนกินปลา’ ต้องลุกขึ้นมาปกป้องแหล่งอาหารโปรตีนของโลก ให้หลุดออกจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมประมงที่เอาเปรียบ และเห็นแก่ตัว พื้นที่ทุกตารางนิ้วในอ่าวไทยผ่านการถูกอวนลากกวาดมาแล้วจนราบเรียบ กลายเป็นพื้นโคลนโล่งๆ จนสัตว์น้ำไม่มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันหยุดประมงทำลายล้างให้หมดสิ้นไป
ดร.โอภาส ปัญญา ประธานผู้บริหารสมาคมกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ดร.โอภาส ปัญญา ประธานผู้บริหารสมาคมกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เราเอาวาระของชุมชน และเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ขยายไปสู่สังคมโลก ซึ่งถ้าเราไม่ช่วยกันปกป้องทะเล ครัวของโลกก็จะหมดไป พื้นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะหายไปด้วย ทั้งนี้ กรีนพีซได้ถอดบทเรียนออกมาแล้วว่า ชุมชนที่เข้มแข็งนั้นจะช่วยกันเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ คนในชุมชน และคนในประเทศจึงจำเป็นจะต้องหันมาสนใจปัญหาก่อน แล้วกรีนพีซก็จะช่วยแพร่ขยายประเด็นปัญหาต่างๆ ออกไปสู่วงกว้าง

 
สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มกรีนพีซ เพื่อหยุดยั้งภัยคุกคามทางทะเลไทยนั้น น.ส.ศิรสา กันตรัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า กรีนพีซเรียกร้องคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลไทยให้ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งทะเล ให้กลับมามีสภาพอุดมสมบูรณ์ภายใน 5 ปี โดยเริ่มต้นจากการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประมง และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ต้องเคารพถึงผลประโยชน์ของประชาชน วิถีชีวิตและวัฒนธรรม และสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วม และดูแลทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก

โดยต้องครอบคลุมถึงการยุติเครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้าง ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ทรัพยากรหน้าดินและในดิน เช่น การใช้อวนลาก อวนรุน คราดหอย เรือดำหอยจอบ และการปั่นไฟล้อมจับในการจับสัตว์น้ำ เพื่อที่จะฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งทะเลให้กลับมามีสภาพอุดมสมบูรณ์

 
นอกจากนี้ ต้องขยายเขตอนุรักษ์ทางทะเลทั่วประเทศจากชายฝั่ง 3 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย 5 ไมล์ทะเล (9.275 กิโลเมตร) และขยายเขตอนุรักษ์ทางทะเลจากชายฝั่ง 5 ไมล์ทะเล เป็น 12 ไมล์ทะเล (22.224 กิโลเมตร) ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบรูณ์มาก เพื่อลดการถูกทำลายของแหล่งเพาะตัว และอนุบาลของสัตว์น้ำบริเวณพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล รวมทั้งขยายขนาดตาอวน และปรับปรุงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมงเพื่อให้สามารถจับได้เพียงสัตว์น้ำที่โตเต็มวัยแล้วเท่านั้น

และหยุดการขยายตัว และพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมสกปรกบริเวณแนวชายฝั่งทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ บริเวณพื้นที่ผลิตอาหาร และบริเวณมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงยุติสิ่งปลูกสร้าง และโครงสร้างบริเวณชายหาดด้วย

 
สำหรับเรือเอสเพอรันซา มีกำหนดการรณรงค์ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 15-30 มิถุนายน โดยจะเดินทางออกจากจังหวัดสงขลาในวันที่ 16 มิถุนายน ไปยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 22-23 มิถุนายน และสิ้นสุดการเดินทางที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 27-30 มิถุนายน ติดตามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/about/ships/esperanza/ship-tour-2013 และร่วมเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเล พร้อมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประมง และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ที่ www.defendouroceans.org
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น