เรือประมงพื้นบ้านใน จ.สงขลา กว่า 200 ลำ ผนึกกำลังกับ “เรือเอสเพอรันซา” ของกรีนพีซ โฉบใกล้แท่นขุดเจาะน้ำมันนิวคอสตอลกลางอ่าวไทย ซึ่งห่างจากชายฝั่ง อ.สทิงพระ เพียง 12 กม.เท่านั้น พร้อมประกาศแถลงการณ์ชี้เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งทะเล เนื่องจากที่ผ่านมามีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลอ่าวไทยไม่น้อยกว่า 200 ครั้ง
วันนี้ (16 มิ.ย.) เรือประมงพื้นบ้านใน จ.สงขลา กว่า 200 ลำ ได้เคลื่อนขบวนเรือวนรอบแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอล จำกัด ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในเขต อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพียง 12 กิโลเมตร โดยกิจกรรมนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างเรือประมงพื้นบ้าน จ.สงขลา กับเรือเอสเพอรันซา ของกรีนพีซ ซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวานนี้ และมีภารกิจหลักในการรณรงค์เพื่อปกป้องทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสื่อสารให้ผู้คนตระหนักถึงภัยคุกคามจากการพัฒนาอุตสาหกรรมริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล
โดยเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.สงขลา ได้เคลื่อนแถวขบวนเรือ และวางทุ่นที่มีข้อความว่า “หยุดทำร้ายทะเลไทย” พร้อมประกาศแถลงการณ์ที่บริเวณแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอล จำกัด ด้วย ทั้งนี้ แท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายร้อยแท่นขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และที่ผ่านมา มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลอ่าวไทยไม่น้อยกว่า 200 ครั้ง จากการเดินเรือ และการขนส่งน้ำมัน แท่นขุดเจาะน้ำมันก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ และเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งทะเล
“หลังจากแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้ามาอยู่ใกล้ชายฝั่ง เราพบเห็นคราบน้ำมันตามชายหาดของสงขลาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น คราบสกปรกนี้ส่งผลให้ปลาที่เคยมีอยู่อย่างสมบูรณ์หายไป ปัจจุบันสงขลากลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม ซึ่งควรเป็นบทเรียนให้แก่พื้นที่อื่นๆ เพื่อที่จะได้ปกป้องทะเลของพวกเขาไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยอีก” นายเจริญ ทองมา ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.ระโนด อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร จ.สงขลา กล่าว
ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้าน และภาคประชาสังคมใน จ.สงขลา ได้ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใกล้บริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ การขุดเจาะน้ำมันมีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหล และคราบน้ำมัน ซึ่งส่งผลร้ายแรง และเป็นภัยคุกคามต่อชายหาด และระบบนิเวศทางทะเลอย่างไม่มีวันจบสิ้น และการสำรวจแหล่งน้ำมันยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล โดยเฉพาะโลมา และวาฬด้วย
“อ่าวไทย เป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญของประเทศ แต่ปัจจุบันอ่าวไทยกำลังถูกคุกคามโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกบริเวณชายฝั่งทะเล การเดินหน้าลงทุนเพื่อขุดเจาะ และสำรวจน้ำมันบริเวณใกล้ชายฝั่งได้ส่งผลโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมบริเวณชายฝั่งอย่างชัดเจน” น.ส.ศิรสา กันตรัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
การขยายตัวของอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่งของประเทศไทยอย่างรวดเร็วไม่ควรต้องแลกด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรัฐบาลควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการฟื้นฟูสภาพทะเลที่เสื่อมโทรมของไทย และหลีกเลี่ยงโครงการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากรายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ยืนยันชัดเจนถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่ส่งผลดีต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ รายงานฉบับนี้ยังยืนยันด้วยว่า ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม และจำเป็นต้องทำ
สำหรับเรือเอสเพอรันซานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรณรงค์โครงการ ‘ฟื้นชีวิตทะเลไทย กับเรือเอสเพอรันซา’ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงที่ 2 ของการรณรงค์เพื่อปกป้องทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยช่วงแรกเป็นการเดินทางของเรือเรนโบว์ วอริเออร์ ในประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยกรีนพีซทำงานรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ และเครือข่ายประมงพื้นบ้านในการสร้างความตื่นตัวให้สังคมเห็นถึงปัญหาภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ
เรือเอสเพอรันซา (Esperanza) เป็นชื่อที่มาจากภาษาสเปน แปลว่า “ความหวัง” และเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดในบรรดาเรือทั้ง 3 ลำ ของกรีนพีซ คือ เรนโบว์ วอริเออร์, อาร์กติก ซันไรส์ และเอสเพอรันซา ขนาดเรือยาว 72 เมตร ความเร็วสูงสุด 15 นอต โดยกองทัพรัสเซียได้สั่งให้ต่อเรือลำนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 เพื่อใช้เป็นเรือดับเพลิงที่เมืองมูร์มันสค์ (Murmansk) โดยหลังจากปลดประจำการ เรือเอสเพอรันซา มาทำหน้าที่พิทักษ์โลกกับกรีนพีซนานถึง 11 ปีแล้ว ทั้งนี้ มีที่นอนสำหรับลูกเรือ 35 คน แต่มักจะบรรทุกลูกเรือเพียง 19 คน จากนานาประเทศทั่วโลกเท่านั้น
เรือแห่งความหวังของกรีนพีซลำนี้มีกำหนดการรณรงค์ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 15-30 มิถุนายน 2556 โดยจะเดินทางออกจาก จ.สงขลา ในวันที่ 16 มิถุนายน เพื่อมุ่งหน้าไปยัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดการเดินทางที่กรุงเทพฯ ก่อนเดินทางต่อไปยังประเทศฟิลิปปินส์
คำแถลงการณ์ของเครือข่ายเรือประมงพื้นบ้าน : เอาชีวิตทะเลคืนมา หยุดทำลายอ่าวไทย ที่ทำไปใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง
ทะเลอ่าวไทยเป็นทะเลที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศมาอย่างยาวนาน เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ดี อ่าวไทยเปรียบเสมือนพ่อที่คอยให้กุ้งหอยปูปลาแก่เรือประมงต่างๆ ที่เปรียบเสมือนลูกมาขออาหารเพื่อใช้เลี้ยงชีวิต และครอบครัว ส่งลูกๆ เรียนหนังสือมาแล้วอย่างยาวนาน และหลายชั่วอายุคน
วันดีคืนดีตอนนี้บุญใดใครซัดมา ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาเอาที่ทำกินของเราจับจองเป็นเจ้าของ แล้วมาบอกเราว่าเรามาเป็นมิตร มาเป็นเพื่อนที่ดี แต่ไม่นานกลับมาสร้างความร้าวฉาน ยุแยงตะแคงรั่ว ใช้กลเม็ดเคล็ดลับให้พี่น้องแตกแยกความสามัคคี นี่เป็นงานที่ถนัดของบริษัทต่างชาติใช่หรือไม่ มิหนำซ้ำกระบวนการศึกษาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งๆ ที่มันขัดแย้งกับความเป็นจริง ชาวบ้านไม่รับรู้ก็ผ่าน คนในพื้นที่มีส่วนร่วมน้อยก็ผ่าน เวทีล่มก็ผ่าน ทำ EIA ผิดขั้นตอนก็ผ่าน แทบไม่มีที่ไหนที่ทำแล้วไม่ผ่าน กระบวนการทั้งหมดได้เห็นแล้วว่าเป็นการทำ EIA ที่ฉ้อฉล และหลอกลวงทั้งนั้น โดยเฉพาะนักวิชาการที่ขายความคิดไปเป็นมิตรกับนักการเมืองน้ำเน่า บวกกับข้าราชการที่ขายตัว
ดังคำกล่าที่ว่ามี EIA ที่ไหน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉิบหายที่นั่น เพราะมันเป็นเครื่องมือเครื่องจักรที่คอยทำลายดีๆ นั่นเอง นี่ยังไม่รวมถึงคนของบริษัทที่มาแจกของเล็กๆ น้อยๆ ซื้อใจชาวบ้าน ไปเอาใจนักการเมืองสกปรกที่ดีแต่พูดกับผู้มีอิทธิพลที่หวังแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ไม่เคยคิดถึงประโยชน์ และความเดือดร้อนของชาวบ้านและชาวประมง อีกทั้งเราได้ค่าสัมปทานที่ต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อ่าวไทยของเรา ที่ทำมาหากินของเรา ทะเลของเรา น้ำมันของเรา เขาจับจอง เขาเอาไป มีน้ำมันมากมายแต่เราใช้น้ำมันแพงที่สุดในอาเซียน เขาเอาไปไหน เอาไปขายใคร ใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง
ดังนั้นเราจึงขอประกาศว่า...
1.ให้ยกเลิกฐานที่จะขุดเจาะใหม่จนกว่าจะมีกระบวนการศึกษาผลกระทบต่อทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีกระบวนการใหม่ๆ ที่ถูกต้อง
2.ให้ยกเลิกฐานที่จะขุดเจาะใหม่จนกว่าจะมีการแก้ปัญหาผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวประมงที่มีมาอย่างยาวนานจะแล้วเสร็จ
3.หยุดสร้างความแตกแยกให้แก่คนในพื้นที่ด้วยการข่มขู่ และเข้าหาผู้มีอิทธิพลที่ช่วยกันปล้นทรัพย์ทางทะเลของเรา
4.หยุดเครื่องมือประมงที่ทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าหลังแล้วหันกลับมาทำประมงเชิงอนุรักษ์
6.ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเป็นธรรมแก่ประชาชน
“ช่วยกันรักษาทะเลของแผ่นดินนี้ไว้ให้ลูกหลานเราเถิด”
(ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากกรีนพีซ)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“เรือกรีนพีซ” เทียบท่าสงขลา จี้รัฐปรับกฎหมาย-ฟื้นทะเลไทยให้สมบูรณ์ภายใน 5 ปี