กรีนพีซ - กรีนพีซเปิดตัวรายงาน เจาะวิกฤตทะเลไทย (1) ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ของทะเลไทยที่เสื่อมโทรมอย่างน่าตกใจ พร้อมเผยหลักฐานเรือประมงผิดกฎหมายและการทำประมงแบบทำลายล้างอย่างแพร่หลาย ในอ่าวไทย (2)
หลักฐานจากการลาดตระเวนน่านน้ำอ่าวไทยของเรือเอสเพอรันซา ผนวกกับข้อมูลวิจัยจากรายงานของกรีนพีซชี้ชัดว่า ทะเลไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตจากการทำประมงแบบทำลายล้างและประมงเกินขนาด กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มากขึ้น เพื่อฟื้นชีวิตทะเลไทยให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ต่อไป (3)
“ทะเลไทยกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย นอกจากทรัพยากรทางทะเลลดลงรวดเร็ว การทำประมงเกินขนาด ประมงทำลายล้าง และประมงผิดกฎหมายยังปล้นเอาสรรพชีวิตออกจากทะเลของเราอีกด้วย” ศิรสา กันตรัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
“เราพบเรือประมงพาณิชย์แบบทำลายล้างนับร้อยลำระหว่างการเดินทางลาดตระเวน ในอ่าวไทย รวมถึงการกระทำที่ผิดกฏหมาย การทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เขตอนุรักษ์หรือเขตประมงพื้นบ้าน 3,000 เมตร เครื่องมือประมงเหล่านี้จะกวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างจากก้นทะเลจนถึงพื้น ผิวทะเลตลอดเส้นทาง และทำงานหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง จนไม่มีเวลาให้ทะเลได้หยุดพักและสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาทดแทน รัฐบาลไทยต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดมากกว่านี้” ศิรสา กล่าวเสริม
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการเพิ่มจำนวนเรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย และให้ลดการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีทำประมงแบบทำลายล้างที่สร้างความเสื่อมโทรม ให้ทะเลอย่างมาก อย่างเช่น เรืออวนลาก ในการนี้ กรีนพีซได้ยื่นข้อมูลหลักฐานการตรวจพบการทำประมงทำลายล้าง และประมงผิดกฎหมายระหว่างการลาดตระเวนในอ่าวไทยให้แก่ตัวแทนจากกรมประมง
เรือเอสเพอรันซาเดินทางมารณรงค์ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน และทำงานร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ และเครือข่ายประมงพื้นบ้านในจังหวัดสงขลา และประจวบคีรีขันธ์ เรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องทะเลไทย ลูกเรือเอสเพอรันซาและนักกิจกรรมของกรีนพีซทั้งชาวไทยและต่างชาติออกลาด ตระเวนโดยใช้เรือยาง และเรดาร์ระบุตำแหน่งของเรือประมงแบบทำลายล้างและประมงผิดกฎหมาย เช่น เรืออวนลาก และเรือคราดหอย ในน่านน้ำอ่าวไทย
เรืออวนลาก เป็นเรือจับปลาที่ใช้อวนขนาดใหญ่ที่มีตาถี่ มีแผ่นโลหะและยางขนาดใหญ่เคลื่อนกวาดหน้าดินใต้ทะเลเพื่อจับสัตว์น้ำจากพื้น ทะเลจนถึงผิวทะเลขณะที่ลากอวนผ่าน การทำประมงวิธีนี้นอกจากทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลน้ำลึกแล้ว ยังเป็นการจับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดโดยไม่เลือกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เต่า ฉลาม และปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย โดยเฉพาะเมื่อใช้ตาอวนที่มีขนาดเล็ก สัตว์น้ำที่ติดอวนมาโดยไม่ตั้งใจจะถูกทิ้งลงทะเลหรือนำไปป่นเป็นอาหารเป็ด อาหารไก่ต่อไป จากหลักฐานของกรีนพีซพบการทำประมงลักษณะนี้รุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ทางทะเลหมู่เกาะอ่างทอง เขตอนุรักษ์หรือเขตประมงพื้นบ้าน 3 ไมล์ทะเล (ประมาณ 5.5 กิโลเมตร) ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
รายงาน เจาะวิกฤตทะเลไทย เปิดเผยถึงภาพรวมของทะเลไทยที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก ข้อมูลในรายงานชี้ให้เห็นว่าระบบนิเวศทางทะเลของไทย เช่น แนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน ถูกทำลายลงไปมาก เราจับปลาจากทะเลขึ้นมามากเกินกว่าที่ศักยภาพของทะเลจะรับได้ รายงานยังระบุถึงปัญหาจากการประมงแบบทำลายล้างที่ทำกันอย่างแพร่หลาย และส่งผลให้ทะเลไทยเสื่อมโทรมถึงขั้นวิกฤต การทำประมงของไทยในปัจจุบันอยู่ในขั้นที่ประชากรปลาอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ จากสถิติพบว่าทะเลไทยมีผลผลิตลดลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 อัตราการจับสัตว์ทะเลลดลงจาก 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมงในปี พ.ศ. 2504 มาเป็น 25 กิโลกรัมต่อชั่วโมงในปี พ.ศ. 2554
ปิยะ เทศแย้ม ตัวแทนประมงพื้นบ้าน นายกสมาคมประมงบ้านทุ่งน้อย ผู้ร่วมปฏิบัติการกับเรือเอสเพอรันซา กล่าวว่า “การเรียกร้องเพื่อปกป้องท้องทะเลเป็นเสียงเรียกร้องจากคนไทยทุกคน มีเสียงสนับสนุนจากประชาชนนับหมื่นคนทั้งจากเครือข่ายอนุรักษ์ ชุมชนประมงพื้นบ้าน และประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ตอนนี้จังหวัดประจวบฯ สามารถเรียกร้องจนมีการขยายเขตอนุรักษ์ออกไปเป็น 3 ไมล์ทะเล แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะปลาในทะเลเหลืออยู่น้อยนิด เราอยากให้ทุกคนได้รับรู้ถึงสถานการณ์ของทะเลไทยตอนนี้ และร่วมกันเรียกร้องให้มีนโยบายที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเล ปกป้องแหล่งอาหาร และวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งทะเล”
เรือเอสเพอรันซาเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมรณรงค์ในโครงการ ‘ฟื้นชีวิตทะเลไทย กับเรือเอสเพอรันซา โดยเดินทางจากสงขลา ประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ ขณะนี้จอดเทียบท่า ณ ท่าโอบี ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าชมและร่วมกิจกรรมถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังประเทศฟิลิปปินส์ ติดตามรายละเอียดการเดินทาง และร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประมงและ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ที่ www.defendouroceans.org
หมายเหตุ
(1) รายงาน เจาะวิกฤตทะเลไทย ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/OCEANS-IN-THE-BALANCE-THAILAND-IN-FOCUS/
(2) หลักฐานข้อมูลจากการลาดตระเวนอ่าวไทย ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/photosvideos/
(3) กรีนพีซเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้คำมั่นที่จะฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและระบบ นิเวศบริเวณชายฝั่งทะเลให้กลับมามีสภาพอุดมสมบูรณ์ให้สำเร็จภายใน 5 ปี โดยเริ่มต้นจากการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประมง และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ต้องเคารพถึงผลประ โยชน์ ของประชาชน วิถีชีวิตและวัฒนธรรม และสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมและดูแลทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งต้องครอบคลุมถึงการยุติการทำประมงแบบทำล้าง