xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการสิทธิลงกระบี่ชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินคุกคามระบบนิเวศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่ - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คุกคามระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของไทย จี้ กฟผ.หยุดสร้าง

เวลา 13.00 น.วันนี้ (27 มี.ค.) ที่บริเวณสวนป่า โรงเรียนบ้านทุ่งสาคร ม.4 ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กลุ่มกรีนพีซ ร่วมกับตัวแทนชุมชนในพื้นที่ ต.ปกาสัย จังหวัดกระบี่ ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “การให้ความรู้ด้านพลังงานและคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์” โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ โดยมีประชาชนในพื้นที่ ต.ปกาสัย และใกล้เคียงเข้าร่วมประมาณ 200 คน

นายประสาท มีแต้ม อนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะมีการก่อสร้างในอีก 6 ปีข้างหน้า หากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาในปัจจุบัน เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง นอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว การขนส่งถ่านหินสกปรกที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าประมาณ 16 กิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)

นายประสาท กล่าวอีกว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี พ.ศ.2553 ซึ่งการขนส่งถ่านหินเข้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะต้องใช้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์สำหรับขนถ่ายถ่านหิน และมีระวางบรรทุกระหว่าง 50,000-100,000 DWT (2) ผ่านเส้นทางทะเล 79 กิโลเมตร จนถึงที่ตั้งโรงไฟฟ้า จากนั้นต้องมีการถ่ายถ่านหินใส่เรือบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่เพื่อรองรับถ่านหินที่นำเข้า และขนส่งถ่านหินไปที่โรงไฟฟ้า

ถ่านหินเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้โรงไฟฟ้า การปล่อยมลพิษจากถ่านหินไม่ว่าจะเป็นขี้เถ้า ฝุ่นละออง ล้วนแล้วแต่เป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ กฟผ.และรัฐบาลต้องหยุดโครงการนี้โดยทันที เพราะเป็นโครงการที่ขาดความรอบคอบ และสร้างความหายนะให้แก่กระบี่ อีกทั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่เปราะบาง และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางทะเลของคนไทยทั้งประเทศ เป็นแหล่งทรัพยากรที่เลี้ยงชีพผู้คนนับล้าน

ด้าน น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวด้วยว่า ถ่านหินเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุด มลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ถ่านหินประกอบไปด้วย มีเทน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ รวมถึงสารเคมีต่างๆ เช่น สารหนู และสารปรอท ซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจของมนุษย์ อีกทั้งยังสามารถปนเปื้อนในดิน และแหล่งน้ำต่างๆ ด้วย ผลที่ตามมานอกเหนือจากการทำลายสุขภาพของผู้คน คือ การทำลายวิถีการดำรงชีวิต ผลผลิตทางการเกษตรและการประมง นอกจากนั้น การเผาไหม้ถ่านหินยังเป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังมีความแปรปรวนรุนแรงอยู่ในขณะนี้

“รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และปลอดภัยให้มากขึ้น กระบี่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดจังหวัดหนึ่ง สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 100 หากรัฐบาลนำแผนอนุรักษ์พลังงานปี พ.ศ.2554-2573 และแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกปี พ.ศ.2555-2564 มาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง และเร่งนำกลไกที่มีประสิทธิภาพ เช่น กฎหมายพลังงานหมุนเวียนมาใช้ โรงไฟฟ้าถ่านหินอันสกปรกก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ และในประเทศไทยอีกต่อไป” น.ส.จริยา กล่าว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น