กระบี่ - “กรีนพีซ” ปีนผาหาดไร่เลย์รณรงค์ “หยุดถ่านหิน” หวั่นส่งผลกระทบมหาศาล ย้ำถ่านหินไม่ใช่คำตอบ แนะรัฐเดินหน้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานอย่างยั่งยืน
น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มกรีนพีซได้ทำกิจกรรมโดยการปีนหน้าผาที่หาดไร่เลย์ ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อเป็นการสื่อสารโดยตรงกับสาธารณะโดยเฉพาะรัฐบาล ว่า รัฐบาลต้องยุติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะถ่านหินไม่ใช่คำตอบของการจัดการวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน ดังนั้น รัฐบาลควรจะเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนพลังงานทางเลือกที่สะอาด ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานไฟฟ้าของประเทศอย่างยั่งยืนมากกว่า
“โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ที่รัฐบาลมีแผนจะสร้างที่ จ.กระบี่ ทำให้ประเทศไทยต้องแลกกับการสูญเสียจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตชุมชน และการท่องเที่ยวซึ่งกระบี่มีสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับโลกที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนหญ้าทะเลอันดับ 2 ของประเทศ จำนวน 17,725 ไร่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูนซึ่งกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ที่บริเวณเกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง อีกทั้งเส้นทางขนส่งถ่านหินทางทะเลกว่า 79 กิโลเมตร ที่เข้าสู่โรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังซ้อนทับกับแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของกระบี่ เช่น เกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกาะพีพี หาดไร่เลย์ อีกด้วย” น.ส.จริยา กล่าว
ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพฯ กล่าวต่อว่า หนทางหยุดวิกฤตพลังงานสามารถทำได้โดยรัฐบาลต้องเดินหน้าแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี และแผนพลังงานหมุนเวียน 10 ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ทั้งหมด และมีไฟฟ้าใช้เพียงพอ และอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รัฐบาลยังต้องจัดการกับการทับซ้อนผลประโยชน์ การคอร์รัปชันของอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกที่เอื้อให้นักการเมือง ข้าราชการประจำ และผู้กำหนดนโยบายพลังงานได้รับประโยชน์ แต่ผลกระทบกลับตกอยู่กับประชาชนมาอย่างยาวนานด้วย
ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 27 มีนาคม 2556 เวลา 12.00-18.30 น. ประชาชนในพื้นที่และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องวิกฤตพลังงานที่เกี่ยวข้อง จะเปิดเวทีเสวนาครั้งแรกที่กระบี่ เรื่อง “วิกฤตการจัดการพลังงานในประเทศไทย และโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่” โดยมีผู้เข้าร่วมคือ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ นบนอบ ตัวแทนชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน นายต้อเหตุ คลองยวน ตัวแทนประมงพื้นบ้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา อนุกรรมการกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมมาภิบาล วุฒิสภา นางสมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการรณรงค์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจารย์ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยนชนแห่งชาติ และนายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ และจะมีการเปิดตัวแผนที่เส้นทางถ่านหินกระบี่ และแผนที่พลังงานหมุนเวียนกระบี่
โดยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 21 มีนาคม 2556 นักกิจกรรมกรีนพีซได้ปีนหน้าผาที่หาดไร่เลย์ ซึ่งเป็นแหล่งปีนหน้าที่มีชื่อเสียงของโลก ที่จังหวัดกระบี่ เพื่อถือป้ายที่มีข้อความ“หยุดถ่านหิน” และ “ถ่านหินไม่ใช่คำตอบ” หลังจากรัฐบาลมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4,400 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงจังหวัดกระบี่ที่รัฐบาลจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ด้วย
ทั้งนี้ ทะเลของกระบี่มีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาทะเลโดยมีแหล่งหญ้าทะเลอันดับที่ 2 ของประเทศไทยซึ่งเป็นที่อาศัยของปลาพะยูน อีกทั้งกระบี่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย และของโลก ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ และกรีนพีซ ได้คัดค้านโครงการก่อสร้างดังกล่าวเพราะเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวจะปล่อยมลพิษซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และสิ่งมีชีวิตในทะเล อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอีกด้วย โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากหาดไร่เลย์ 30 กิโลเมตร