xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.แจงพม่าซ่อมท่อก๊าซ เม.ย.นี้ ไม่กระทบการใช้ไฟฟ้าของคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่ - กฟผ.ออกแจงข้อมูลสถานการณ์พลังงานที่ จ.กระบี่ ยันไร้ปัญหาพม่าปิดซ่อมท่อก๊าซ ไฟไม่ดับแน่นอน ฝากประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน

เวลา 10.00 น.วันที่ 26 มี.ค.56 ที่โรงแรมปานภา รีสอร์ท แอนด์สปา จังหวัดกระบี่ นายธาตรี ริ้วเจริญ ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศ แก่กลุ่มอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านจังหวัดกระบี่ (อปม.) โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในภาพรวม ว่า ในช่วงเดือนเมษายน ช่วงวันที่ 5-21 เมษายนที่จะถึงนี้ เป็นช่วงร้อนจัด คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น และในขณะเดียวกัน แท่นขุดเจาะที่ประเทศพม่าเกิดทรุดตัวลงทำให้ต้องปิดซ่อมแซม ซึ่งการผลิตก๊าซที่พม่าถือเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ของประเทศ เพราะไทยซื้อจากพม่าถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศพม่าจะปิดซ่อมท่อก๊าซ ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน จะส่งผลกระทบต่อจำนวนปริมาณของกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะหายไปจากระบบ ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าไฟฟ้าจะดับ ซึ่งขอยืนยันว่า กฟผ.สามารถรับมือได้ด้วยจำนวนโรงฟ้าที่มีอยู่ภายในประเทศ และส่วนหนึ่งนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว และประเทศมาเลเซีย ประเทศไทยไฟฟ้าไม่ดับอย่างแน่นอนหากไม่มีเหตุการณ์แทรกซ้อนขึ้นกับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ไม่เกิดเสียกะทันหัน จึงขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนทุกคนอย่าตื่นตระหนกกับกระแสข่าวลือไฟฟ้าจะดับในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งขณะนี้ กฟผ.พร้อมรับมืออย่างเต็มที่ และขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันประหยัดไฟในช่วงนี้

นายธาตรี กล่าวด้วยว่า การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ใช้กาซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ 65 และร้อยละ 42 นำเข้ามาจากแหล่งก๊าซของประเทศพม่า หากเกิดขัดข้องก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้ ซึ่งขณะนี้ทาง กฟผ.ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคต โดยการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาด และมีปริมาณอีกมาก ราคาถูก สามารถนำมาใช้ได้อีกไม่น้อยกว่า 150 ปี ซึ่งในหลายประเทศก็มีการนำไปใช้ ทั้งประเทศจีน และสหรัฐฯ นำไปใช้ในสัดส่วนที่สูง ซึ่งขณะนี้ ทาง กฟผ.มีโครงการที่จะทำการก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยขณะนี้อยู่ในตอนของการศึกษาผลกระทบสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ส่วนจะได้สร้างหรือไม่อยู่ที่ประชาชนในพื้นที่

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น