xs
xsm
sm
md
lg

“กฟภ.” งัด 4 มาตรการรับมือวิกฤต เม.ย.สั่งเตรียมรถปั่นไฟช่วย รพ.ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการ กฟภ.
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าการ กฟภ. เผยงัด 4 มาตรการรับมือวิกฤตพลังงาน เม.ย.นี้ สั่ง กฟภ.ทั่วประเทศเตรียมพร้อมรถโมบายปั่นไฟฟ้าไว้ช่วยเหลือโรงพยาบาลและโรงพักกรณีฉุกเฉิน ขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมดับไฟช่วงบ่าย 2 เพื่อลดใช้ไฟในช่วงพีค 5-12 เม.ย. วอน ปชช.ช่วยกันประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ ระบุหากเกิดวิกฤตขึ้นจริงจะบริหารจัดการดับไฟฟ้าเป็นระดับ

วันนี้ (4 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานเปิด “อาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยมีนายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายวันโชค ถวิลวิทยานนท์ ผู้อำนวยการเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ.นครราชสีมา, นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ให้การต้อนรับ

สำหรับอาคารดังกล่าวเป็นอาคารผู้ป่วยใน (อายุรกรรม) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้จัดเงินงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างวงเงิน 155 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้ป่วยใน จ.นครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสนับสนุนการขยายพื้นที่ให้บริการประชาชนของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สามารถรองรับผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นวันละ 200 คน จากเดิมมีผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 1,162 คน โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2550-2551 ขนาด 9 ชั้น มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1,000 กิโลวัตต์ สำรองไฟฟ้ากรณีไฟดับให้แก่หอผู้ป่วย 2 หอ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ กฟภ.ให้การสนับสนุน

นายนำชัย หล่อวัฒนะตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึงการเตรียมรับมือวิกฤตพลังงานในเดือน เม.ย.นี้ กรณีประเทศพม่าปิดซ่อมแซมแท่นขุดเจาะก๊าซซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยว่า เรื่องนี้ทราบจากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่า สามารถหากำลังสำรองไฟได้อีกประมาณ 1000 เมกะวัตต์ จากเดิมมีแค่ 600 เมกะวัตต์ ฉะนั้นจึงไม่น่าห่วงมากนัก อย่างไรก็ตาม กฟภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีมาตรการเตรียมความพร้อมไว้ 4 มาตรการ คือ 1. รณรงค์ให้ภาคอุตสาหกรรมหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟสูงสุด คือ ช่วงเวลา 14.00 น. ในวันที่ 5-12 เม.ย. 2556

2. รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงานโดยเฉพาะเรื่องการใช้เครื่องปรับอากาศ หากเพิ่มอุณหภูมิขึ้นอีก 1 องศา คือ เปิดที่ 26 องศาจะช่วยประหยัดไฟได้ถึง 6% 3. จัดเตรียมรถโมบายเครื่องปั่นไฟฟ้าไว้สำหรับสำรองจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาลหรือสถานีตำรวจเพื่อสำรองไว้หากมีเหตุไฟดับฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยในแต่ละเขตมีรถโมบายไว้บริการประมาณ 4-5 คัน ซึ่งเพียงพอให้บริการ

และ 4. หากเกิดไฟฟ้าดับขึ้นจริง ทาง กฟภ.จะบริหารจัดการโดยทำการดับไฟฟ้าเป็นระดับไป ในระดับแรกคือ 300 เมกะวัตต์ ถือว่าน้อยมาก คิดเป็น 1-2% ของการใช้ไฟฟ้า โดยจะดับไฟบริเวณรอบนอกเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด และจะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนหากจำเป็นต้องมีการดับไฟ ซึ่งหากเกิดวิกฤตจริงๆ ถึงขั้นที่ต้องดับไฟถึง 3,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 20% การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ได้เตรียมการไว้อยู่แล้ว

นายนำชัยกล่าวต่อว่า ส่วนการรณรงค์ประหยัดการใช้ไฟฟ้านั้นได้มีคำสั่งให้ กฟภ.ทั่วประเทศทุกแห่งทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนราชการให้ดำเนินการช่วยกันประหยัดไฟทุกรูปแบบ ขณะเดียวกัน หน่วยงาน กฟภ.เองได้ทำเป็นตัวอย่างโดยแจ้งให้พนักงานช่วยกันประหยัดไฟหากไม่ใช้ให้ปิดทันที อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมากนักเพราะเรามีไฟสำรองถึง 1,000 เมกะวัตต์ เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 700 เมกะวัตต์

“ต้องยอมรับว่าในช่วงหน้าร้อนมีอัตราการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง จากสถิติปีที่ผ่านมามีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนที่สุด ประมาณ 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ แต่เรามีกำลังการผลิตไฟอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเหลือ 4,000 เมกะวัตต์ หากก๊าซจากพม่าไม่ส่งมาจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าหายไปประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ ก็จะปริ่มพอดี แต่ว่าตอนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปหาซื้อไฟฟ้ามาจากประเทศมาเลเซียได้อีก 1,000 เมกะวัตต์ จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ต้องฝากถึงพี่น้องประชาชนให้ช่วยกันประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ หากพี่น้องประชาชนมีปัญหาหรือไม่ได้รับความสะดวกเรื่องของไฟฟ้าติดต่อได้ที่หมายเลขด่วน 1129 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายนำชัยกล่าว
อาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา


กำลังโหลดความคิดเห็น