ถกรับมือวิกฤตไฟ 5 มี.ค. 3 การไฟฟ้าเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินช่วงก๊าพม่าหยุดจ่ายโดยเฉพาะ 5 เม.ย.หากไฟขาดงัดมาตรการขั้นสูงสุด ดับไฟบางพื้นที่ ขั้นรองลงมาลดแรงดันซึ่งจะทำให้แค่ไฟตก หวังดึงแผนประหยัดภาคอุตสาหกรรมและประชาชนลดใช้ไฟให้ได้ 500 เมกะวัตต์ช่วยสำรองไฟให้สูงแตะระดับ 1,500 เมกะวัตต์ซึ่งจะช่วยฝ่าวิกฤตได้ทันที
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 5 มี.ค.จะมีการประชุมเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตไฟฟ้าวันที่ 5 เม.ย. 56 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพรวมเพื่อประเมินแผนรองรับต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง โดยจะนำแผนของแต่ละส่วนทั้งการจัดหาไฟฟ้าเพิ่มเติม การรณรงค์การประหยัดไฟเพื่อเพิ่มสำรองพร้อมใช้ รวมถึงแผนรองรับกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินเพื่อให้ทั้งหมดเป็นแผนเดียวกันที่พร้อมปฏิบัติงานได้จริงก่อนที่จะนำเสนอและหารืออีกครั้งกับนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานในวันที่ 6 มี.ค.
นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า วันที่ 5 มี.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ระบบไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้าได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อที่จะหารือถึงแผนการรองรับวิกฤตไฟฟ้าระหว่างวันที่ 5-14 เม.ย. 56 ที่จะมีการซ่อมแท่นก๊าซพม่าจนทำให้ก๊าซฯหยุดจ่าย 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กระทบต่อกำลังผลิตไฟฟ้ารวมหายไป 4,100 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะวันที่ 5 เม.ย.ที่สำรองไฟจะต่ำสุดซึ่งกรณีที่ขาดแคลนไฟฟ้าแผนที่เข้มข้นสุดก็คือการดับไฟบางพื้นที่
“กรณีไฟฟ้าขาดแคลนแผนที่เข้มข้นสุด คือ การดับไฟบางพื้นที่ โดยจะดูตัวเลขอีกครั้ง ซึ่งจะเฉลี่ยดับไฟในเขตกรุงเทพฯ 30% ภูมิภาค 70% ส่วนแผนรองลงมากรณีที่ไม่เข้มข้นคือ การลดแรงดันไฟฟ้าบางพื้นที่ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟตก ดับเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น” นายธนากล่าว
สำหรับการขอความร่วมือในภาคอุตสาหกรรมทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และภาคประชาชนที่จะร่วมมือกันประหยัดไฟฟ้าในช่วงเกิดปัญหานั้นประเมินว่าจะสามารถประหยัดไฟฟ้ารวมได้ประมาณ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งวันที่ 5 เม.ย.สำรองไฟพร้อมจ่ายเดิมที่อยู่ระดับต่ำ 676 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ.ได้จัดหาเพิ่มเติมมาเพิ่มได้อีก 291 เมกะวัตต์ก็จะเพิ่มเป็น 1,058 เมกะวัตต์ และหากได้เพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมและประชาชนอีก 500 เมกะวัตต์สำรองก็จะเป็นระดับ 1,500 เมกะวัตต์ จึงถือเป็นสำรองปกติที่ปัญหาไฟดับก็จะไม่เกิดขึ้นเว้นกรณีฉุกเฉินจริงๆ
นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการ กฟภ.กล่าวว่า 3 การไฟฟ้าจะหารือถึงการเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตไฟฟ้าวันที่ 5 เม.ย.ซึ่งภาพรวมจะมี 4 แผนใหญ่ที่สำคัญได้แก่ 1. การขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมลดการใช้ไฟในช่วงความต้องการสูงสุด (พีก) ระหว่าง 13.00-15.00 น. 2. การรณรงค์ประชาชนประหยัดไฟโดยเฉพาะการปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ 3. การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉินในเรื่องของรถบริการไฟฟ้าเคลื่อนที่ (รถโมบาย) ที่ปั่นจากดีเซลไว้บริการโดยสวนของ กฟภ.จะมีพร้อม 30-40 คัน และ 4. กรณีเลวร้ายหาก กฟผ.ประสานขอให้ดับไฟก็ประเมินว่าจะช่วยดับได้อย่างต่ำ 300 เมกะวัตต์ โดยจะดับพื้นที่ชนบทและแต่ละพื้นที่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง
นายอาทร สินสวัสดิ์ ผู้ว่าการ กฟน.กล่าวว่า คงจะต้องสอบถาม กฟผ.ว่าวันที่ 5 เม.ย.ที่สำรองไฟต่ำสุดเมื่อมีการลดการประหยัดไฟจากส่วนต่างๆ แล้วที่สุดกรณีเลวร้ายหากจะต้องดับไฟจะเป็นปริมาณเท่าใดโดยเบื้องต้นจะสำรองไฟไว้ให้ 300-350 เมกะวัตต์ แต่เท่าที่ประเมินจากตัวเลขที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันประหยัดก็ไม่น่าจะถึงขั้นต้องดับไฟ