xs
xsm
sm
md
lg

ดับไฟชานเมือง พณ.ห่วงตื่นตุนLPG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฟผ.ประสานกฟน.-กฟภ. กรณีเกิดสภาวะฉุกเฉิน พร้อมให้ 2 หน่วยงานดับไฟหน่วยละ 350 เมกะวัตต์ เพื่อรักษาพื้นที่ทางเศรษฐกิจ พร้อม แจงกนอ.สร้างความเชื่อมั่นภาคอุตฯจะไม่กระทบ หากทุกฝ่ายประหยัดจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้แน่นอน เรกูเลเตอร์รับหากซ่อมยาวอาจกระทบไฟเพิ่มแต่กว่า 1 สต.เท่านั้น ขณะที่พาณิชย์อึ้งพบตุนแอลพีจีเตือนไม่เกี่ยวกับก๊าซพม่า

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กรณีการหยุดจ่ายก๊าซฯจากพม่าระหว่าง 5-14 เม.ย. โดยวันที่ 5 เม.ย.จะมีสำรองพร้อมใช้ต่ำสุดเพียง 760 เมกะวัตต์ซึ่งเสี่ยงจะเกิดไฟตก ดับสูง หากวันดังกล่าวมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) เกินระดับ 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินกฟผ.ได้ประสานการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ให้เตรียมแผนสำรองดับไฟฟ้าไว้แล้วหน่วยละ 350 เมกะวัตต์รวม 700 เมกะวัตต์ เพื่อรักษาพื้นที่ทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในและชั้นกลางของกทม.รวมถึงในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ

นายอาทร สินสวัสดิ์ ผู้ว่ากฟน. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาพื้นที่ในการดับไฟไว้รองรับเหตุฉุกเฉิน ซึ่งการดับไฟจะต้องดูกำลังสำรองวันดังกล่าวเป็นสำคัญจะมากน้อยอย่างไรก็ยังตอบไม่ได้ แต่จะเลือกดูแลพื้นที่ทางเศรษฐกิจก่อน และการดับไฟก็จะเลือกพื้นที่ชานเมือง บ้านที่อยู่อาศัย และจะไม่ให้แต่ละพื้นทีที่จะดับไฟดับเกิน 1 ชั่วโมง

นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า วันนี้ (26 ก.พ.) กฟผ.จะชี้แจงถึงแผนการรับมือสถานการณ์ไฟฟ้าช่วงวันที่5-14เม.ย.ต่อนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและหากฉุกเฉินจริงๆ พื้นที่ดับไฟแรกๆ จะเป็นที่อยู่อาศัยเพราะจะมีผลกระทบน้อยกว่าโรงงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากโรงงานใดปรับแผนการผลิตในวันที่ 5 เม.ย.มาเป็นช่วงบ่ายก็จะช่วยให้สำรองไฟไม่ต่ำเกินไปได้มาก

“การดับไฟเป็นหน้าที่ของกฟน.และกฟภ.ว่าจะเลือกจุดไหนแต่นั่นกรณีวิกฤตจริงๆ ซึ่งถ้าทุกฝ่ายร่วมกันลดการใช้โดยเฉพาะปิดเครื่องปรับอากาศที่เปลืองไฟมาก และอื่นๆ ก็ไม่ถึงขั้นจะต้องดับไฟอะไร”นายธนากล่าว

***เลวร้ายสุดค่าไฟขยับกว่า1สต./หน่วย

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกฟผ. เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อประเมินผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ เอฟที กรณีการหยุดจ่ายก๊าซพม่าระหว่าง 5-14 เม.ย. 56 จะกระทบค่าไฟงวดหน้าเพียง 0.48 สตางค์ต่อหน่วยเพราะส่วนหนึ่งได้คำนวณไว้ในค่าไฟงวดแรกแล้วแต่กรณีเลวร้ายสุดหากซ่อมแท่นไม่เสร็จโดยประเมินถ้าต้องเลื่อนไป 1 สัปดาห์หรือเป็น 5-21 เม.ย.จะส่งผลกระทบค่าเอฟทีขึ้นเพียง 1 สตางค์กว่า ต่อหน่วยซึ่งกฟผ.จะพยายามบริหารจัดการในเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงให้ดีที่สุด

“ กรณีการหยุดจ่ายก๊าซฯพม่า 5-21เม.ย.56 เอฟทีจะขึ้น 1 สตางค์กว่า เพราะจะทำให้การใช้น้ำมันเตาเพิ่มเป็น 150 ล้านลิตร ดีเซล 80 ล้านลิตร ซึ่งขอชี้แจงว่าค่าไฟที่ประชาชนต้องรับภาระเพราะตามสัญญาการหยุดซ่อมตามแผนผู้ผลิตและขายจะไม่รับภาระเพราะถือว่าบริหารความเสี่ยงได้แต่ถ้าไม่ใช่ตามแผนจึงจะสามารถหาผู้รับผิดชอบได้ซึ่งก็เป็นหลักสากลที่ทำอยู่ ”นายดิเรกกล่าว

**"พณ."ห่วงตุนก๊าซหุงต้มทำปัญหาเพิ่ม

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่ายก๊าซหุงต้ม และร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระแสตื่นตระหนก และฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชน หลังจากได้รับร้องเรียนว่าเริ่มมีกระแสก๊าซหุงต้มขาดแคลน และเริ่มมีการสั่งซื้อสำรองไว้ล่วงหน้าเพิ่มขึ้น โดยต้องการขอร้องประชาชนอย่าตื่นตระหนกเพราะแอลพีจียังมีพอใช้ไม่เกี่ยวกับก๊าซฯพม่าหยุดจ่ายแต่อย่างใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น