xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” ชี้วิกฤตไฟฟ้าครั้งนี้เสี่ยงจริง แต่มั่นใจเอาอยู่ 3 จุด กทม.แค่ไฟไม่เสถียร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” ออกโรงแจงละเอียดยิบกรณีปลุกให้ประชาชนตื่นประหยัดรับวิกฤตไฟ 5 เม.ย.เป็นเรื่องที่ต้องบริหารเพราะเสี่ยงจริง เหตุซ่อมแท่นก๊าซยาดานาครั้งนี้ตรงกับช่วงสำรองไฟไทยต่ำสุด เบื้องต้นทำทุกทางดึงไฟเพิ่มแล้ว 300 เมกะวัตต์ ดันสำรองพุ่งเป็น 1,051 เมกะวัตต์ หากประชาชน เอกชนร่วมลดใช้ความเสี่ยงก็ยิ่งลดลง รับ 3 จุด กทม.แรงดันต่ำ รัชดา ลาดพร้าว บางกะปิ อาจทำให้ไฟหรี่ลงแต่ไม่ถึงขั้นดับ


นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้สั่งการให้ กฟผ.เจรจาจัดหาไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อรองรับความเสี่ยงไฟฟ้าดับจากก๊าซฯ พม่าหยุดส่ง 5-14 เม.ย. ซึ่งวันที่ 5 เม.ย.จะเป็นวันที่เสี่ยงสุดเพราะมีกำลังสำรองพร้อมจ่ายต่ำสุดเพียง 760 เมกะวัตต์ จากปกติจะต้องมีถึง 1,200 เมกะวัตต์ ล่าสุดได้เจรจาโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศในการเพิ่มการผลิตไฟขึ้นอีก 291 เมกะวัตต์ ทำให้สำรองไฟในวันดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 1,051 เมกะวัตต์ หากยิ่งทุกภาคส่วนร่วมมือก็จะลดความเสี่ยงไฟตก-ดับได้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม จากที่ก๊าซฯ พม่าหยุดส่งทำให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ พระนครใต้ ต้องหยุดผลิต ดังนั้น ระบบส่งไฟฟ้าที่ป้อนเข้าสู่ กทม.-ปริมณฑล ที่ใช้ไฟฟ้ารวม 8,000 เมกะวัตต์ ก็จะต้องดึงมาจากโรงไฟฟ้าที่ห่างไกลมากขึ้น ซึ่งจะมีความสูญเสียของระบบสายส่ง โดยสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว (รวมไปถึงถนนวิภาวดีรังสิต) สถานีไฟฟ้าแรงสูง รัชดา, สถานีไฟฟ้าบางกะปิ มีความเสี่ยงเรื่องไฟฟ้าไม่เสถียร คือ คุณภาพไฟฟ้าที่จะหรี่ลงเพราะแรงดันไฟฟ้าจะต่ำ แต่ไม่ถึงขั้นไฟดับ เพราะ กฟผ.และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ร่วมกันย้ายสลับวงจรไฟฟ้าในการให้บริการจึงมีไฟฟ้าเพียงพอ

นายธนาย้ำว่า ก๊าซฯ พม่าหยุดส่งในรอบนี้ มีความเสี่ยงไฟฟ้าดับมากที่สุดเป็นเรื่องจริง เพราะปีนี้เแท่นขุดเจาะยาดานาทรุดตัวต้องรีบซ่อมแซม เดิมจะดำเนินการในช่วง ก.พ.ต่อมาเจรจาจะเป็น มี.ค. แต่ไทยขอให้เป็นช่วงสงกรานต์ที่เป็นช่วงใช้ไฟต่ำ แต่ที่สุดก็เลื่อนมาเป็น 5-14 เม.ย. จึงไม่สามารถหยุดส่งช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ หรือช่วงวันหยุดยาวได้ขณะที่วันที่ 5 เม.ย. 56 คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีก จะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 26,300 เมกะวัตต์ จึงทำให้สำรองพร้อมใช้ที่แท้จริงเหลือ 760 เมกะวัตต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสำรองไฟฟ้ามีมากกว่านี้ก็เนื่องจากไปดูถึงภาพรวมของการผลิตไฟฟ้า แต่ไม่ได้ดูข้อเท็จจริงว่าโรงไฟฟ้าพร้อมใช้นั้นมีจำนวนที่แท้จริงเท่าใด โดยปัจจุบันนี้กำลังผลิตมีรวม 33,000 เมกะวัตต์ แต่มีโรงไฟฟ้าที่ไม่สามารถจ่ายได้จริงตามกำลังผลิต (DELATE) ประมาณ 1,900 เมกะวัตต์ ประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าเอสพีพี อย่างน้อย 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างๆ ที่เกิดปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้ ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่รับก๊าซพม่าเดินเครื่องไม่ได้อีก 4,100 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงเหลือโรงไฟฟ้าเดินเครื่องได้เพียง 27,000 เมกะวัตต์ เมื่อหักออกจากการคาดการณ์ว่าจะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าในวันที่ 5 เม.ย. 26,300 เมกะวัตต์ ดังนั้น สำรองไฟฟ้าพร้อมใช้ที่แท้จริงจึงเหลือเพียง 760 เมกะวัตต์เท่านั้น

“ก๊าซฯ พม่าที่หยุดซ่อมแท่นยาดานา ซึ่งมีค่าความร้อนสูง ขณะที่เยตากุนมีค่าความร้อนต่ำ เวลานำมาใช้ต้องผสมกัน เมื่อยาดานาหยุด เยตากุนก็ต้องหยุดด้วย จึงทำให้ก๊าซฯ หายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งกระทบต่อการผลิตไฟ 6,000 เมกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าราชบุรีสามารถรันเครื่องที่เป็นน้ำมันเตาได้ทันที ทำให้ไฟหายไป 4,100 เมกะวัตต์” นายธนากล่าว

นายธนากล่าวว่า กฟผ.และ ปตท.ร่วมกันประเมินความเสี่ยงที่ แหล่งยาดานาจะซ่อมฐานขุดเจาะไม่เสร็จภายในวันที่ 14 เม.ย.โดยประเมินว่าเลวร้ายที่สุดจะซ่อมเสร็จ 21 เม.ย.จึงได้เตรียมสำรองน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นจากเดิม 86 ล้านลิตร เป็น 150 ล้านลิตร และดีเซลเพิ่มจาก 47 ล้านลิตรเป็น 80 ล้านลิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น