xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ยันไฟไม่ขาดกรณีก๊าซฯ พม่าหยุดจ่าย กางแผนรับมือเอาอยู่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” ย้ำประชาชนกรณีวิกฤตก๊าซฯพม่าหยุดช่วง เม.ย.จะไม่ส่งผลให้ไฟฟ้าขาดแคลนหรือดับอย่างแน่นอน เหตุเตรียมแผนรับมือแล้ว แต่วอนประชาชนประหยัดเพราะการใช้ดีเซล น้ำมันเตา และแอลเอ็นจีเพิ่มจะทำให้ค่าไฟแพงได้ คาดใช้น้ำมันเตา 130 ล้านลิตร ดีเซล 75 ล้านลิตรรับมือ ขณะที่เอกชนแนะรัฐต้องชี้แจงให้ชัดเจนหวั่นกระทบเชื่อมั่นโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ


แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ในแหล่งยาดานา ประเทศพม่าพบปัญหาการทรุดตัวของแท่นผลิตทำให้พม่าต้องแจ้งหยุดซ่อม 9-13 เม.ย. 56 นี้ แต่เนื่องจากแหล่งยาดานาต้องนำมาผสมกับแหล่งเยตากุนเพื่อทำให้ค่าความร้อนเหมาะสมเมื่อแหล่งใดแหล่งหนึ่งหยุดก็ต้องหยุดหมดทำให้ก๊าซฯหายไปจากระบบทันที 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ กฟผ.ยืนยันว่าได้เตรียมแผนรองรับแล้วไฟฟ้าจะไม่ขาดแน่นอน

“ก๊าซฯ ที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งตะวันตกทั้งหมด ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี ราชบุรีเพาเวอร์ ไตรเอ็นเนอร์ยี่ พระนครเหนือ ใต้และวังน้อยมีกำลังผลิตรวม 4,100 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ.มีแผนรองรับแล้วยืนยันไฟจะไม่ขาดหรือดับ แต่ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัด เพราะการเดินเครื่องที่ใช้ดีเซลและน้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

ดึงน้ำมันเตา 130 ล้านลิตร ดีเซล 75 ล้านลิตรรับมือ

ทั้งนี้ กฟผ.เตรียมแผนรับมือดังนี้ 1. ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล เช่น น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ พระนครใต้ ราชบุรี บางปะกง ขณะที่ดีเซลที่โรงราชบุรีเพาเวอร์ ไตรเอ็นเนอร์ยี่ วังน้อย โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ คาดว่าภาพรวมจะมีการใช้น้ำมันเตา 130 ล้านลิตร และดีเซล 75 ล้านลิตร 2. รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ SPP ทั้งประเทศที่มีสัญญาแน่นอนและไม่แน่นอนให้เดินกำลังผลิตเต็มที่ 3. ประสานมาเลเซียขอซื้อไฟในช่วงวันที่กำลังผลิตไฟสำรองต่ำ 4. เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ประเทศเพื่อนบ้านเต็มที่ 5. ประสานงานกรมชลฯเพิ่มการระบายน้ำในการผลิตไฟลดใช้น้ำมันให้น้อยลง และเลื่อนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงหยุดผลิตก๊าซฯ

แหล่งข่าวจาก บมจ.ปตท.กล่าวว่า กรณีที่ท่อส่งคอนเดนเสทของแหล่งก๊าซพัฒนาร่วมไทยมาเลเซียหรือ JDA B 17 รั่วจากเรือทิ้งสมอทำให้ท่อคอนเดนเสทเสียหายส่งผลให้ต้องหยุดซ่อมท่อดังกล่าวตั้งแต่ 24 ธ.ค. 55 - 3 ก.พ. 56 รวมระยะเวลา 42 วันทำให้ก๊าซฯ หายไปเฉลี่ย 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น ขณะนี้ได้มีการจ่ายก๊าซฯ เป็นปกติแล้ว และมีการเตรียมแผนใช้แอลเอ็นจีเพิ่มเติมในช่วงดังกล่าว สำหรับกรณีพม่าก็จะประสาน กฟผ.จัดหาน้ำมันเตาและดีเซลให้เพียงพอและจะมีการจ่ายก๊าซฯย้อนจากแหล่งอ่าวไทยเพื่อบรรเทาผลกระทบและเพิ่มการจ่ายแอลเอ็นจี

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาครัฐควรจะต้องกำหนดมาตรการต่างๆ ให้ชัดเจนและสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่าเป็นการซ้อนแผนรับมือภาวะฉุกเฉินและขอความร่วมมือในการประหยัดเพราะหากข้อมูลไม่ชัดเจนจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นได้โดยเฉพาะภาคธุรกิจการบริการและการท่องเที่ยวที่จะอ่อนไหวต่อข่าวดังกล่าว

“ผมเองพยายามติดตามข่าวก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดถึงขั้นไฟดับหรือไม่ และพื้นที่ไหน หรือถึงขั้นต้องมีมาตรการบังคับประหยัดหรือปิดไฟในบางพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อ่านข่าวแล้วก็ยังไม่แน่ใจ จึงอยากให้รัฐชี้แจงให้ชัดเจน เพราะขณะนี้เอกชนก็เกิดความสับสนเพราะทุกภาคส่วนก็ใช้ไฟหมดหากมีปัญหามากจะได้วางแผนล่วงหน้าได้” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น