xs
xsm
sm
md
lg

“เฮียเพ้ง” เรียกถกด่วน 20 ก.พ.รับมือเสี่ยงไฟดับบางโซน (Brownout)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เฮียเพ้ง” เรียกถกด่วน กฟผ.-ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 20 ก.พ.รับมือวิกฤตก๊าซพม่าที่อาจทำให้ไทยเสี่ยงไฟดับบางโซน หรือ Brownout ได้หากพีกเกิน 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ เหตุสำรองไฟพร้อมใช้เหลือต่ำผิดปกติ “กฟผ.” ย้ำจะดูแลไม่ให้เกิดขึ้น ทุกฝ่ายพร้อมงัดแผนรณรงค์คนไทยประหยัดทั้งปิดไฟบ้านละดวง ปิดแอร์ เบรกการใช้
 

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 20 ก.พ.นี้จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. กระทรวงพลังงานมาหารือถึงแผนการเตรียมพร้อมรับมือกรณีก๊าซพม่าหยุดจ่ายในแหล่งยาดานา เนื่องจากแท่นผลิตทรุด ซึ่งจะทำให้ก๊าซแหล่งเยตากุนที่จะต้องนำมาผสมให้ค่าความร้อนเหมาะสมต้องหยุดไปด้วย ทำให้ก๊าซหายไปจากระบบ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าฝั่งตะวันตกหายไปอย่างน้อย 4,100 เมกะวัตต์

“พม่าแจ้งมาที่จะหยุดซ่อมช่วง 4-12 เม.ย.นี้ เราเองก็พยายามจะเจรจาให้เลื่อนไปช่วงสงกรานต์เพราะโรงงานอุตสาหกรรมหยุดมากจะได้หรือไม่ แต่ถึงจุดนี้แล้วผมเห็นว่าวิกฤตนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้แป็นอุทาหรณ์ให้คนไทยระมัดระวังในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไว้ในอนาคต เพราะเราพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟมากไป โดยหากแหล่งพม่าเกิดปัญหาเราจะลำบากดังนั้น อนาคตหากพึ่งพิงถ่านหินที่สะอาดจะทำให้เราไม่เสี่ยงไฟดับและยังมีราคาถูกกว่า” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กรณีก๊าซฯพม่าครั้งนี้จะต่างจากแผนหยุดซ่อมทั่วไปตรงที่ความต้องการใช้ไฟของไทยสูงขึ้น แต่สำรองไฟฟ้าพร้อมใช้ (ฮอต สแตนด์บาย) ต่ำผิดปกติ เหลือเพียง 600 เมกะวัตต์ จากมาตรฐานที่ 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งสำรองไฟพร้อมใช้ส่วนใหญ่จะเป็นพลังงานน้ำจากเขื่อนแต่เขื่อนของไทยยอมรับว่าขณะนี้น้ำไม่มากนัก ประกอบกับช่วงเมษายนจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ซึ่งประเมินว่าปีนี้จะอยู่ที่ 2.7 หมื่นเมกะวัตต์จากปีที่แล้ว 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตรวม 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ หากพีกสูงกว่าที่คาดไว้ก็อาจเสี่ยงไฟดับบางพื้นที่หรือบางโซน หรือ Brownout แต่ยังไม่ถึงขั้นไฟดับทั่วประเทศ หรือ Blackout

“ก๊าซที่หายไปจริงๆ จะกระทบกำลังผลิตไฟ 6,000 เมกะวัตต์ แต่เราดึงโรงไฟฟ้าราชบุรีให้ไปใช้น้ำมันเตาได้ทันทีก็เลยเหลือ 4,100 เมกะวัตต์ ขณะที่ภาพรวมผลิตไฟ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ สำรองไฟตามแผนมี 15% ซึ่งข้อเท็จจริงจะต้องดูที่กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายที่จะผลิตมาในช่วงฉุกเฉินได้ทันทีซึ่งเรามีต่ำเพียง 600 เมกะวัตต์ ดังนั้น ถ้าพีกไม่เกิดขึ้นผิดปกติช่วงเมษยนก็ไม่น่ามีปัญหา ดังนั้นจะต้องหาแนวทางรับมือในจุดนี้โดยเฉพาะที่ผ่านมาก็เคยทำ เช่น การรณรงค์ปิดไฟบ้านละดวง ปิดเครื่องปรับอากาศซึ่ง 1 ล้านเครื่องก็ทำให้ลดใช้ไฟถึง 1,000 เมกะวัตต์” นายสุทัศน์กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับแผนรับมือ กฟผ.เช่น การเดินเครื่องไฟฟ้าจากน้ำมันเตาในราชบุรี เลื่อนการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวออกไป การเจรจาซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวมากขึ้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น