xs
xsm
sm
md
lg

ก๊าซฯ พม่าหยุดจ่ายทำค่าไฟพุ่ง 0.48 สต. - 5 เม.ย. กทม.-ภาคใต้เสี่ยงไฟตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถกรับมือก๊าซฯ พม่าหยุดจ่าย พบ 5 เม.ย.เสี่ยงไฟตกในพื้นที่เขต กทม. และภาคใต้มากสุด เหตุสำรองต่ำแค่ 600 เมกะวัตต์ สั่งระดมสำรองน้ำมันเพิ่มหวั่นซ่อมเกินกำหนด เตรียมน้ำมันเตาและดีเซลรวม 133 ล้านลิตรรับมือดันค่าไฟงวดหน้าขึ้น 0.48 สต./หน่วย จี้ประชาชนตื่นตัวประหยัด ปีหน้าส่อซ้ำหากดีมานด์พุ่ง

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมเรื่องการรับรองสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน ร่วมกับ บมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าที่ประชุมได้สั่งให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสำรองน้ำมันเตาและดีเซลให้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับกรณีก๊าซฯ พม่าแหล่งยาดานาที่อาจจะต้องหยุดซ่อมยาวกว่าแผนที่ขณะนี้ล่าสุดจะต้องหยุดจ่ายก๊าซฯ ระหว่าง 5-14 เม.ย. 56 นี้และจากการประเมินพบว่าวันที่ 5 เม.ย.จะเป็นวันที่เสี่ยงต่อไฟตกมากสุดเนื่องจากพบสำรองไฟฟ้าพร้อมใช้ (Hot Standby) ต่ำสุดเพียง 760 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ระยะเวลาหยุดซ่อมดังกล่าวจะส่งผลให้ กฟผ.ต้องปรับโรงไฟฟ้าบางแห่งมาใช้น้ำมันเตารวม 86 ล้านลิตร และดีเซล 47 ล้านลิตร รวม 133 ล้านลิตร ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft รวม 2.20 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ได้นำไปคิดในค่าไฟรอบ ม.ค.-เม.ย. 56 แล้ว 1.70 สตางค์ต่อหน่วย จึงเหลือที่จะต้องนำไปรวมกับรอบหน้า (พ.ค.-ส.ค. 56) 0.48 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นอัตราที่ไม่มากนัก

“วันที่ 4 เม.ย.จริงๆ กำลังสำรองต่ำสุดเพียง 550 เมกะวัตต์ แต่ทางพม่าเลื่อนให้อีก 1 วันทำให้ไปหยุด 5 เม.ย. ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ไฟสูงสุด (พีก) จะอยู่ที่ 2.63 หมื่นเมกะวัตต์ สำรอง 760 เมกะวัตต์ ถ้าเรารักษาระดับพีกไม่ให้สูงเกินกว่า 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ก็จะไม่เสี่ยงไฟดับ ดังนั้นในวันที่ 5 เม.ย.จะมีการณรงค์การประหยัดพลังงานเพื่อปลุกให้ประชาชนตื่นตัวต่อปัญหาดังกล่าวในช่วง 14.00-14.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า วันที่ 5 เม.ย.นั้นยอมรับว่าสำรองผลิตไฟฟ้าต่ำมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟเพิ่ม แต่โรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบปีนี้จากผู้ผลิตไฟรายเล็ก หรือ SPP เพียง 300 กว่าเมกะวัตต์เท่านั้น ประกอบกับเขื่อนปีนี้น้ำน้อยจึงนำมาเป็นสำรองพร้อมจ่ายได้ต่ำกว่าปกติ ซึ่งการหยุดจ่ายก๊าซฯ ช่วงดังกล่าวกรณีเลวร้ายสุดพื้นที่เสี่ยงจะเกิดไฟตกจะเป็นบริเวณกรุงเทพฯ และพื้นภาคใต้บางส่วน

“ท่อก๊าซฯ แหล่งยาดานาเกิดปัญหาก็ทำให้เยตะกุนหยุดจ่ายไปด้วย เพราะค่าความร้อนต้องนำมาผสมกันรวม 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่หายไปกระทบต่อไฟฟ้าหายไป 6,000 เมกะวัตต์ แต่สามารถเดินราชบุรีมาเป็นน้ำมันเตาได้ทันทีเลยหายไป 4,100 เมะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตไฟจริงรวม 3.3 หมื่นเมกะวัตต์ ถ้าเกิดพีกสูงสุดไม่เกิน 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะเกิดปีนี้ก็น่าจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกินก็อาจจะเกิดไฟตกบางจุดใน กทม. และภาคใต้ได้ เพราะ 2 พื้นที่นี้ใกล้กับแหล่งผลิตไฟที่ต้องหยุดในภาคตะวันตก โดยเฉพาะภาคใต้จะต้องส่งไฟจากส่วนอื่นไปแทนซึ่งเป็นระยะทางยาวในระบบส่ง” นายสุทัศน์กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2557 โรงไฟฟ้าเกิดใหม่ของ กฟผ.จะมีเข้าระบบ 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าจะนะยูนิต 2 และโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิต 4 แต่หากความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นมากไทยก็ยังคงเสี่ยงกับปัญหาดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพิงก๊าซฯ ผลิตไฟมากสุดถึง 70% ซึ่งจะเห็นว่าประเทศมาเลเซียที่มีแหล่งก๊าซฯ เป็นของตนเองยังต้องกระจายความเสี่ยงไปพึ่งถ่านหินผลิตไฟแล้วถึง 40% ขณะที่ไทยพึ่งพิงถ่านหินผลิตไฟเพียง 18% เท่านั้น การคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคตไทยจะลำบาก และที่สุดประชาชนจะต้องใช้ไฟแพงเพราะก๊าซฯ จะต้องนำเข้าในรูปของเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาสูงมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น