xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงปัญหาก๊าซดันค่าไฟพุ่ง เอกชนจี้รัฐแจงให้ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กฟผ.” มั่นใจกรณีวิกฤตก๊าซฯพม่าหยุดช่วง เม.ย. จะไม่ส่งผลให้ไฟฟ้าขาดแคลนหรือดับ แต่วอนประชาชนประหยัดเพราะการใช้ดีเซล น้ำมันเตาและแอลเอ็นจีเพิ่ม จะทำให้ค่าไฟแพงได้ คาดใช้น้ำมันเตา 130 ล้านลิตรดีเซล 75 ล้านลิตรรับมือ ขณะที่เอกชนแนะรัฐต้องชี้แจงให้ชัดเจนหวั่นกระทบเชื่อมั่นโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ ปชป.อัด "ยิ่งลักษณ์" งุบงิบเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันสูงกว่ายุค "มาร์ค "เฉลี่ย 1 บาททุกประเภท ผิดสัญญาที่บอกว่าจะให้ประชาชนใช้น้ำมันถูก

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของกฟผ. ในแหล่งยาดานา ประเทศพม่าพบปัญหาการทรุดตัวของแท่นผลิตทำให้พม่าต้องแจ้งหยุดซ่อม 9-13เม.ย.56 นี้แต่เนื่องจากแหล่งยาดานาต้องนำมาผสมกับแหล่งเยตากุนเพื่อทำให้ค่าความร้อนเหมาะสมเมื่อแหล่งใดแหล่งหนึ่งหยุดก็ต้องหยุดหมดทำให้ก๊าซฯหายไปจากระบบทันที 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแต่ กฟผ.ยืนยันว่าได้เตรียมแผนรองรับแล้วไฟฟ้าจะไม่ขาดแน่นอน

“ก๊าซฯที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งตะวันตกทั้งหมด ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี ราชบุรีเพาเวอร์ไตรเอ็นเนอร์ยี่ พระนครเหนือ ใต้และวังน้อยมีกำลังผลิตรวม 4,100เมกะวัตต์ แต่ กฟผ.มีแผนรองรับแล้วยืนยันไฟจะไม่ขาดหรือดับแต่ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดเพราะการเดินเครื่องที่ใช้ดีเซลและน้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น“ แหล่งข่าวกล่าว

***ดึงน้ำมันเตา-ดีเซลรับมือ

ทั้งนี้กฟผ.เตรียมแผนรับมือดังนี้ 1.ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล เช่น น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ พระนครใต้ ราชบุรี บางปะกง ขณะที่ดีเซลที่ โรงราชบุรีเพาเวอร์ ไตรเอ็นเนอร์ยี่ วังน้อย โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ คาดว่าภาพรวมจะมีการใช้น้ำมันเตา 130 ล้านลิตร และดีเซล 75 ล้านลิตร 2. รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ SPP ทั้งประเทศที่มีสัญญาแน่นอนและไม่แน่นอนให้เดินกำลังผลิตเต็มที่ 3. ประสานมาเลเซียขอซื้อไฟในช่วงวัน ที่กำลังผลิตไฟสำรองต่ำ 4.เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ประเทศเพื่อนบ้านเต็มที่ 5. ประสานงานกรมชลฯเพิ่มการระบายน้ำในการผลิตไฟลดใช้น้ำมันให้น้อยลง และเลื่อนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงหยุดผลิตก๊าซฯ
แหล่งข่าวจาก ปตท.กล่าวว่า กรณีที่ท่อส่งคอนเดนเสทของแหล่งก๊าซพัฒนาร่วมไทยมาเลเซียหรือ JDA B 17 รั่วจากเรือทิ้งสมอทำให้ท่อคอนเดนเสทเสียหายส่งผลให้ต้องหยุดซ่อมท่อดังกล่าวตั้งแต่ 24 ธ.ค. 55 - 3 ก.พ. 56 รวมระยะเวลา 42 วันทำให้ก๊าซฯหายไปเฉลี่ย 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้นขณะนี้ได้มีการจ่ายก๊าซฯเป็นปกติแล้วและมีการเตรียมแผนใช้แอลเอ็นจี เพิ่มเติมในช่วงดังกล่าว
สำหรับกรณีพม่าก็จะประสาน กฟผ.จัดหาน้ำมันเตาและดีเซลให้เพียงพอและจะมีการจ่ายก๊าซฯย้อนจากแหล่งอ่าวไทยเพื่อบรรเทาผลกระทบและเพิ่มการจ่ายแอลเอ็นจี
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาครัฐควรจะต้องกำหนดมาตรการต่างๆให้ชัดเจนและสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่าเป็นการซ้อนแผนรับมือภาวะฉุกเฉิน และขอความร่วมมือในการประหยัดเพราะหากข้อมูลไม่ชัดเจนจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นได้โดยเฉพาะภาคธุรกิจการบริการและการท่องเที่ยวที่จะอ่อนไหวต่อข่าวดังกล่าว
“ผมเองพยายามติดตามข่าวก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดถึงขั้นไฟดับหรือไม่และพื้นที่ไหน หรือถึงขั้นต้องมีมาตรการบังคับประหยัดหรือปิดไฟในบางพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อ่านข่าวแล้วก็ยังไม่แน่ใจจึงอยากให้รัฐชี้แจงให้ชัดเจนเพราะขณะนี้เอกชนก็เกิดความสับสนเพราะทุกภาคส่วนก็ใช้ไฟหมดหากมีปัญหามากจะได้วางแผนล่วงหน้าได้”นายธนิตกล่าว

***ปชป.จี้ทำแผนฉุกเฉินรับมือ
 

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่จะมีการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซในประเทศพม่า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยขาดก๊าซผลิตพลังงานไฟฟ้ากว่า 1,100 ลูกบาศก์ฟุต ในวันที่ 4 เม.ย. และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินไฟฟ้า ว่า ขอเรียกร้องและเสนอไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะรมว.พลังงาน ให้เร่งทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนนี้จนถึงเดือนเม.ย. เพราะสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อภาวะการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ และในช่วงเวลาที่ซ่อม ก็จะเป็นช่วงที่ไทยต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ดังนั้นในการซ่อมในวันที่ 13 มี.ค.เพียงวันเดียวจึงไม่เพียงพอ ต้องขอความร่วมมือไปยังภาคครัวเรือน และภาคีที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันตระหนักในเรื่องนี้
ทั้งนี้ รมว.พลังงาน จะต้องเจรจากับรัฐบาลพม่าด้วยตนเอง และนายกรัฐมนตรี ต้องขอความร่วมมือกับประธานาธิบดีของพม่า ในการเลื่อนวันซ่อมอย่างน้อย 2 วัน และต้องส่งทีมสนับสนุน หรือทีมเสริมเข้าไปช่วย และขอให้เริ่มแผนสำรองไฟฟ้าโดยการเดินเครื่องซ่อมโรงไฟฟ้าเก่าที่ปิดใช้มานาน

**งุบงิบเก็บเงินกองทุนฯ สูงกว่ามาร์ค
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า ตนเก็บสถิติ ตั้งแต่ต้นปี 2546 พบว่า เบนซินขึ้นราคา 6 ครั้ง ดีเซล 1 ครั้ง ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงกว่าสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทุกประเภท และราคาน้ำมันที่แพงกว่านั้น เกิดจากราคาน้ำมันดิบที่ไม่ได้แพงกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ถูกกว่าในบางช่วงเวลา และค่าเงินบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แข็งกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องซื้อของได้ในราคาถูกกว่า แต่ทำไมราคาน้ำมันที่นำเข้ามาแพงกว่ายุคอภิสิทธิ์ การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สูงกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์แล้วทุกตัว เฉลี่ยแพงกว่า 1 บาท เป็นการทุจริตต่อนโยบายของตัวเองที่กลับคำว่า จะให้ประชาชนบริโภคน้ำมันถูก ด้วยการยกเลิกกองทุนน้ำมัน แต่กลับเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ มากกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำให้ราคาขายหน้าปั๊มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นวิธีการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่หาเสียงแบบเกินจริงโดยการลดน้ำมันแบบโปรโมชั่นในช่วงแรกหลังเป็นรัฐบาลระยะหนึ่ง จากนั้นราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภาระกองทุนน้ำมันติดลบ 15,152 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ดูแลให้กองทุนน้ำมันอยู่ในภาวะเสมอตัว นี่คือสัญญาณหายนะของนโยบายประชานิยม ที่ขาดความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนของประเทศในระยะยาว.
กำลังโหลดความคิดเห็น