xs
xsm
sm
md
lg

“เพ้ง” จ่อประกาศภาวะฉุกเฉินพลังงาน เม.ย.นี้ เตรียมแจงต่อสัมปทานก๊าซอ่าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน (ภาพจากแฟ้ม)
รมว.พลังงาน กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินหลังพม่าหยุดซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซ และท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียเสียหาย อีกด้านเตรียมชี้แจงประชาชนกรณีสัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หลังถูกคัดค้านโดยอ้างว่ารัฐได้ค่าสัมปทานน้อย

วันนี้ (16 ก.พ.) นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ว่า ในเดือน เม.ย.นับแต่วันที่ 4 เป็นต้นไป ประเทศไทยอาจพบกับวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุการทิ้งสมอเรือ เป็นผลให้ก๊าซหายไปจากระบบ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับแท่นขุดเจาะก๊าซของประเทศพม่า ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของไทยเกิดการทรุดตัว ต้องหยุดซ่อมบำรุง จะเริ่มในวันที่ 4 เม.ย.นี้ จะทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าหายจากระบบถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีแผนรับมือนำโรงไฟฟ้าที่ปิดใช้แล้วกลับมาใช้ผลิตรองรับชั่วคราว แต่คิดว่าไม่เพียงพอ

ดังนั้น กระทรวงพลังงานเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉิน ขอความร่วมมือจากภาคประชาชน หน่วยงาน ให้ประหยัดการใช้พลังงานในช่วงดังกล่าว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไปต่อได้ โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมใหญ่ ที่กระทรวงพลังงานเพื่อวางแผนซักซ้อมรองรับวิกฤติ ขณะเดียวกันจะเร่งเจรจากับพม่าให้เลื่อนกำหนดการซ่อมบำรุงท่อก๊าซออกไปเป็นวันที่ 7 - 8 เม.ย. เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยลงได้

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ในอดีตเราก็เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้แต่ไม่หนักเท่า ดังนั้นเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่คนไทยต้องพึงสังวรณ์ เพราะเราพึ่งก๊าซธรรมชาติมากซึ่งก็กำลังจะหมดไปขณะเดียวกันก็มีคนต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ สัมปทานก๊าซก็ไม่ให้ต่อ จึงถึงเวลาที่ทุกคนต้องตัดสินใจอนาคตประเทศร่วมกัน ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ในเร็วๆ นี้ยังไม่มีโครงการและโอกาสได้ใช้เพราะการศึกษาของไทยในเรื่องดังกล่าวยังไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ นายพงษ์ศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่สัมปทานสัญญาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดในอีก 8 ปีข้างหน้า โดยระบุว่า กำลังพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก เพราะกฎหมายเดิมระบุว่าการต่อสัมปทานทำได้ครั้งเดียว ถ้าอีก 8 ปี หมดก็ต้องออกกฎหมายเพื่อต่อสัมปทานใหม่ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพราะก่อนหน้านี้มีการต่อต้านสัมปทานโดยอ้างว่าได้เงินน้อย ซึ่งผิดข้อเท็จจริง ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงชี้แจงเรื่องนี้ไปทั่วประเทศ ส่วนการปรับราคาพลังงานตกลงกันว่าในสิ้นปี 2558 จะให้ทุกอย่างเป็นราคาตามกลไกตลาด แต่อะไรที่จะกระทบคนมีรายได้น้อย เราทำทีหลัง อย่างเรื่องก๊าซหุงต้ม รอให้ค่าแรง 300 บาทปรับตัวสักระยะหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น