xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” โวยรัฐประกาศภาวะฉุกเฉินพลังงาน ชี้จ้องหาเหตุขึ้นค่าไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
ส.ส.ปชป. ตั้งกระทู้ถามสด รมว.พลังงาน เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉิน ชี้กระทบความน่าเชื่อถือประเทศ สะท้อนไม่มีการเตรียมความพร้อม หวั่นสร้างกระแสหาเหตุขึ้นค่าพลังงาน ถามใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 70 ทำไมไม่ให้น้ำหนักกับพลังงานทดแทนอื่นๆ ด้าน “เฮียเพ้ง” ตอบกลับ อ้างอันตรายแค่ 5 เม.ย.วันเดียว หลังจากนั้นหยุดยาว มีไฟสำรอง ส่วนเรื่องพลังงานทดแทนมีไม่กี่อย่าง กระทบต่อการแข่งขัน

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กระทู้ถามสด เรื่องปัญหาวิกฤตไฟฟ้า ต่อประเด็นการเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินว่า การเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินพลังงาน จากปัญหาที่แหล่งก๊าซพม่าปิดซ่อมแท่นขุดเจาะยาดานา-เยตากุล สร้างความกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะไม่เคยเกิดเรื่องแบบนี้มาก่อน และเมื่อปีที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์ปิดซ่อมเช่นนี้ แต่ไม่เห็นจะต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือจะเป็นการสร้างกระแสเหตุผลขึ้นค่าไฟ ขึ้นค่าแก๊สหรือเจรจาต่อรองอะไรหรือไม่ เพราะการปิดซ่อมของบริษัท โททาล มีการแจ้งล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำไมไม่เจรจาแต่ต้น และการประกาศภาวะฉุกเฉินไฟฟ้าประกาศจนตกใจทั้งคนไทยและทั่วโลก

“แม้รัฐบาลจะเจรจาขยับเลื่อนวันซ่อมจากวันที่ 4 เม.ย.ไปเป็นวันที่ 5 เม.ย. ขยับไปอีก 1 วันครึ่ง แต่ก็เพิ่มจาก 8 วันเป็น 8 วันครึ่ง แสดงให้เห็นว่าไม่มีการเตรียมความพร้อม ทำให้คนรู้สึกว่าไทยบริหารจัดการด้านพลังงานล้มเหลว ใครจะคิดลงทุนค้าขาย แม้แต่ทัวร์ยังเลื่อนเพราะคำประกาศภาวะฉุกเฉินไฟฟ้า ซึ่งไม่เคยได้ยินว่าจะเกิดขึ้น และการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากถึง 70% ถือเป็นความเสี่ยงในการแก้ปัญหา ซึ่งในระยะกลางหรือระยะยาวคือการต้องลดการผลิตจากการใช้ก๊าซลงมา แต่ รมต.กำลังเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ 5,400 เมกะวัตต์กลางปีนี้ โดยกำหนดสเปคว่าต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเท่านั้น ทั้งที่ก๊าซเป็นความเสี่ยงของประเทศ นี่เป็นการแก้ปัญหาหรือการสร้างปัญหาให้ประเทศในอนาคต” นายอลงกรณ์กล่าว

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ทำไมรัฐบาลไม่ให้น้ำหนักกับทิศทางพลังงานทดแทนอื่นๆ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล การระบุว่าต้นทุนสูงยิ่งทำมากยิ่งขาดทุน ขณะที่ทั่วโลกทั้ง ลาว กัมพูชา พม่า พยายามทำให้มากๆ เพื่อให้ถูกลง ทำไมไทยไม่สนับสนุนพลังงานทางเลือกหรือจะเป็น อย่างอดีต รมว.พลังงานบอกว่าการทำเรื่องนี้ มีสองด่านสำคัญ คือ กระทรวงพลังงาน และ พลังงาน อุตสาหกรรม อีกทั้งในวงการโซลาร์เซลล์ยังมีคนออกมาเร่ขายโครงการ หากใครต้องการตั้งโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยจะต้องจ่ายเมกะวัตต์ละ 12-15 ล้านบาท

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากซ่อมแซมแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งยานาดา จนไม่สามารถส่งก๊าซมาเมืองไทยได้ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จนกระทบต่อโรงไฟฟ้า 6 โรง ทำให้กำลังผลิต 6,400 เมกะวัตต์หายไป ซึ่งแหล่งยานาดาเป็นพื้นที่อ่อนจะทรุดตัว 30 ซม.ทุกปี บริษัทโททาลซึ่งได้รับสัมปทานระบุว่าจะซ่อมจึงย้ายแท่นขุดเจาะโดยใช้เวลา 8 วัน คือ วันที่ 4-12 เม.ย. แต่ต่อมาเจรจาขยับเป็นวันที่ 5 เม.ย. เพราะการใช้ไฟในวันที่ 4 เม.ย. สูงถึง 26,500 เมกะวัตต์ จะเหลือไฟสำรองเพียงแค่ 500 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าจุดสูงสุดที่รับได้คือ 700 เมกะวัตต์ และถือเป็นอันตราย ดังนั้นจึงได้เจรจาเลื่อนการซ่อมไป 1 สัปดาห์ คือไปช่วงเทศกาลสงกรานต์ 10-12 เม.ย. ซึ่งปริมาณการใช้ไฟเหลือแค่ 1.1 หมื่นเมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต้องประกาศเรียกร้องให้คนประหยัดไฟ ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน แต่ทางเทคนิคแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยง หากเลื่อนไปช่วงดังกล่าวแล้วเกิดปัญหาอาจทำให้ต้องปิดซ่อมนานนับเดือน จึงยอมให้เลื่อนไปแค่วันครึ่ง คือวันที่ 5 เม.ย.ซึ่งยอมรับได้ เพราะการใช้ไฟลดลงเหลือ 26,300 เมกะวัตต์ ไฟสำรองจะเหลือ 700 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงขอร้องให้ประหยัดพลังงานโดยให้รัฐบาลเป็นตัวนำและจะทำต่อเนื่องไม่ใช่ชั่วคราว ซึ่งจะอันตรายแค่วันที่ 5 เม.ย.วันเดียว หลังจากเปิดทำการหลังวันหยุดยาวในช่วงวันที่ 9-11 เม.ย. ประเมินว่าการใช้ไฟจะอยู่ที่ 25,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีไฟสำรองเกินกว่าระดับที่ปลอดภัย

ส่วนประเด็นเรื่องการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 70% นั้นถือเป็นความเสี่ยง และตั้งแต่เป็น รมว.พลังงาน ได้พูดในที่สาธารณะมาตลอดว่าต้องใช้พลังงานชนิดอื่นแต่ต้องคำนึงถึงทำให้เชื้อเพลิงราคาถูก และคำนึงถึงอุตสาหกรรมเพื่อมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ค่าไฟที่ถูกกว่าก๊าซธรรมชาติมีไม่กี่อย่าง คือ ถ่านหิน น้ำ นิวเคลียร์ ส่วนพลังงานทดแทนอื่นเช่น แสงอาทิตย์ พลังงานลม ราคาสูงถึง 10 บาทต่อหน่วยทั้งนั้น หากซื้อมากกระทบต่อการแข่งขันอุตสาหกรรมและภาระประชาชน ซึ่งความเสี่ยงการใช้ก๊าซเป็นเรื่องใหญ่ต้องแก้ระยะยาว แต่ระยะสั้น ความจำเป็นต้องใช้ไฟประเทศต้องมีอยู่ การใช้ก๊าซธรรมชาติอีก 5,400 เมกะวัตต์นั้น ไม่ใช่จะจ่ายไฟได้ทันที แต่ต้องรอ 7-10 ปี อีกทั้งยังมีโครงการอื่นๆ ด้วย ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งกำลังจัดหาแหล่งที่ตั้งแห่งแรก จ.กระบี่ แต่มีการต่อต้านการสร้าง

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศ ทั้งพม่า และ ลาว ซึ่งถ้าสองแหล่งนี้สำเร็จสัดส่วนจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซก็จะลดลงต่ำก่วา 50% โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้น มีการวางแผนผลิตไบโอแก๊สใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะผลิตได้ถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลง โดยไม่จำเป็นต้องลดการใช้ก๊าซเพียงแต่เพิ่มสัดส่วนการผลิตอย่างอื่นแทน เช่น การผลิตจากหญ้าเนเปียร์ ที่คำนวณแล้วค่าใช้จ่ายไฟฟ้าต่อหน่วย 4.50 บาท โดยปัจจุบันค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.72 บาท ถ้ามีการปรับค่าเอฟทีปีนี้ 50 สต. สองปีก็จะเกิน 4.50 บาท ดังนั้นจะทำให้ไฟฟ้าจากไบโอก๊าซถูกกว่าที่ผลิตเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น