xs
xsm
sm
md
lg

สอบงบฉาว จ้างสื่อ65ล. ลดพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สตง.เตรียมสอบงานจ้าง “สื่อ” รณรงค์ประหยัดพลังงาน 65 ล. หวั่นเอื้อเอกชน "เส้นใหญ่" รับงาน ข้องใจปัญหาวิกฤตพลังงานพูดกันมานาน ทำไมเพิ่งมาเร่งรณรงค์ช่วงนี้ เปิดร่างทีโออาร์ จ้าง “สื่อ” พีอาร์ รณรงค์ ประหยัดพลังงาน 65 ล้าน ก.พลังงาน พบกำหนดขอบเขตงานครอบคลุมทุกเครือข่าย “หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ดาวเทียม เคเบิ้ล หาข้อมูลลึก "คอลัมนิสต์-ผังรายการ -บก. ยันเจ้าของ - “ขาใหญ่”เพียบ “สตง.”เตรียมสอบงานจ้าง “สื่อ” 65 ล.

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรณี สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดในทีโออาร์ว่าจ้างประชาสัมพันธ์โครงการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ วงเงิน 65 ล้านบาท ว่า เอกชนที่จะได้รับว่าจ้างงานจะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ องค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชน ซึ่งมีการกำหนดชื่อ สื่อ ช่วงเวลา รายการที่จะออกอากาศ และจำนวนครั้งอย่างชัดเจนนั้น

จากการตรวจสอบร่างทีโออาร์โครงการจ้างสื่อประชาสัมพันธ์ ในเว็บไซต์ กระทรวงพลังงาน พบว่า มีการระบุในหน้าที่ 2 ถึงขอบเขตและวิธีการดำเนินการในเรื่องการวางแผนและบริหารการใช้สื่อมวลชน เพื่อรถรงค์สร้างจิต และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ

โดยระบุรายละเอียดของงานที่จะต้องดำเนินการ เกี่ยวกับ "สื่อ" ไว้หลายประการ อาทิ ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสื่อมวลชนหลักในไทย ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ระบบดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี โดยมีเนื้อหาในรายงาน อย่างน้อยประกอบไปด้วย

1.รายชื่อสื่อมวลชนหลัก จำแนกประเภทสื่อที่มีความเหมาะสม
2. ข้อมูลเกี่ยวกับผังรายการโทรทัศน์ ช่อง 3 ,ช่อง 5 , ช่อง 7 , ช่อง 9 , ช่อง 11 ,สถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม เคเบิลทีวี รวมทั้งรูปแบบรายการ ผู้ดำเนินรายการ เวลาในการออกอากาศ เจ้าของและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์
3. ข้อมูลเกี่ยวกับผังรายการของสถานีวิทยุ รวมทั้งรูปแบบรายการ ผู้ดำเนินรายการ เวลาในการออกอากาศ เจ้าของและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์
4.ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการสื่อสาร เนื้อหาหลักในการสื่อสาร คอลัมน์ประจำและคอลัมนิสต์ ระยะเวลาการเผยแพร่ หัวหน้าข่าว บรรณาธิการ เจ้าของ/ผู้พิมพ์/ผู้โฆษณา ของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร
5.ส่วนการดำเนินการประชาสัมพันธ์ จะต้องมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ เช่น การจัดทำรายการโทรทัศน์ ทำสกู๊ป จัดให้มีการสัมภาษณ์ในรายการ เผยแพร่สปอตโทรทัศน์ วิทยุ ทั้งในส่วนของ ช่อง 3 ,ช่อง 5 , ช่อง 7 , ช่อง 9 , ช่อง 11 โดยผู้เสนอราคาต้องนำเสนอช่วงเวลา จำนวนเรตติ้ง เพื่อใช้ประกอบด้วย

สำหรับหนังสือพิมพ์ มีการยกตัวอย่างชื่อหนังสือ อาทิ ฐานเศรษฐกิจ มติชน เนชั่น (อย่างน้อย 1 องค์กร) ซึ่งรายละเอียดของงาน นอกจากการจัดสัมมนาทางวิชาการ ไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน ระยะเวลาจัดงานอย่างน้อยครึ่งวัน แล้ว และจะต้องมีการทำสกู๊ปหรือบทความพิเศษ ขนาดเต็มหน้า เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม และเคเบิ้ล มีการยกตัวอย่าง VOICE TV, TNN, เนชั่น (อย่างน้อย 1 องค์กร)กำหนดให้จัดทำสกู๊ปข่าว สปอตโทรทัศน์

ขณะที่การจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ผ่านสมาคม และชมรมต่างๆ มีการระบุชื่อ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ,ชมรวมศิลปินต้นแบบพิทักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย ชมรมพลังงานเพื่อสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการจัดทำต้นฉบับโฆษณา หรือบทความพิเศษ เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน หรือ ข่าวสด และนิตยสารเพื่อนพลังงาน

โดยเบื้องต้น มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการนี้ ภายใน 300 วัน นับตั้งแต่วันที่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานแจ้งให้ดำเนินการ

จากการตรวจสอบพบว่า ในร่างทีโออาร์ดังกล่าว ได้มีการระบุหลักการและเหตุผลในการดำเนินงานโครงการนี้ ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพปิโตรเลียมที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะพยายามสำรวจและพัฒนาแหล่งเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งพลังงาน ที่บางกลุ่มมีความคิดส่วนทางกับนโยบายรัฐบาล รวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมของหลายฝ่าย ทำให้เกิดกระแสการคัดค้าน บางข้อมูลที่ได้รับบิดเบือน จากความเป็นจริง ว่า ประเทศไทยยังมีแหล่งพลังงานเพียงพอ

“หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลมีอุปสรรคที่ส่งผลทำให้ไม่สามารถพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานได้ตามเป้าหมาย หากไม่ทำความเข้าใจกับประชาชน อย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับภัยคุกคามจากพลังงานที่กำลังจะหมดไป รวมถึงปรับทัศนคติของประชาชน ให้ตระหลักถึงสภาพปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงต้องดำเนินการโครงการฯ นี้” ร่างทีโออาร์ระบุ

**สตง.เตรียมสอบงานจ้าง “สื่อ” 65 ล.

แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า สตง.จะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกำหนดทีโออาร์ ว่าจ้างประชาสัมพันธ์โครงการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ วงเงิน 65 ล้านบาท ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ กระทรวงพลังงาน มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกำหนดรายชื่อสื่อ ที่จะประชาสัมพันธ์โครงการไว้ชัดเจนรวมถึงรูปแบบงาน ช่วงเวลาการออกอากาศ และจำนวนครั้ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามหลักการงานว่าจ้างประชาสัมพันธ์โครงการ ผู้ว่าจ้างจะเป็นฝ่ายกำหนดให้เอกชนเป็นผู้เสนอแผนงานเข้ามาให้พิจารณาว่า จะใช้ช่องทางหรือสื่อใดบ้าง ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูล รวมถึงวงเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดการแข่งขันราคางานอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ สตง.จะตรวจสอบด้วยว่า วัตถุประสงค์การทำโครงการ นี้ มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะปัญหาเรื่องวิกฤติพลังงานมีการระบุถึงมานานแล้ว ทำไมกระทรวงพลังงานจะต้องมาเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อในขณะนี้ และวงเงิน 65 ล้านบาท ที่ตั้งไว้มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใด

“สิ่งที่จะต้องจับตาดูในการประกวดราคาครั้งนี้ คือ บริษัทเอกชนรายใดจะเข้ามารับงาน เพราะเท่าที่ดูข้อมูลเบื้องต้นในทีโออาร์มีการกำหนดรายละเอียดสื่อไว้ชัดเจนว่าเป็นที่ไหนบ้าง หากปรากฎข้อมูลว่ามีเอกชนเพียงไม่กี่ราย ที่สามารถดำเนินการได้ตามนี้ การประกวดราคาโครงการฯ นี้ อาจถูกมองว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง ที่มีเส้นสายกับสื่อเข้ามารับงานได้ ” แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดย นางสาวอมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์ นายกสมาคมฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ กรณีนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแผนประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีการระบุว่า สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ออกทีโออาร์โครงการใช้เงิน 65 ล้านบาท ว่าจ้างสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ว่าพลังงานจะหมด

โดยมีการระบุว่าจะจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ผ่านสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจในการจัดอบรมนักข่าวจำนวน 50 คน

“สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ขอชี้แจงว่า ทางสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน หรือบริษัทประชาสัมพันธ์โครงการนี้ ไม่เคยติดต่อมาที่สมาคมฯ ในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งไม่เคย มีการตกลงหรือ เจรจาใดๆ ในเรื่องดังกล่าว จึงขอชี้แจงมาเพื่อทราบ”

น.ส.อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ยืนยัน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ทางสมาคมฯ ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน และไม่เคยได้รับการติดต่อจากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานว่าจะมีการนำชื่อของสมาคมฯ ซึ่งเป็นองค์กรด้านวิชาชีพสื่อ ไปใช้ในการจัดทำทีโออาร์ดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา คอลัมน์ 7 : หน้า 1 หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ นำเสนอข้อเขียนในหัวข้อ "ซื้อ-ขาย" โดยกล่าวถึง แผนประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน และตั้งข้อสังเกตในทีโออาร์ โครงการว่าจ้างสื่อเพื่อพีอาร์ ซึ่งมีการปรากฏรายชื่อสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อย่างชัดเจน รวมถึง สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ล็อกสเปคยิ่งกว่า หวยรถนายกฯ และระบุถึง สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า สมาคมฯ เขายินดีขายพ่วงด้วยหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น