xs
xsm
sm
md
lg

เปิดทีโออาร์ “ก.พลังงาน” ซื้อสื่อแดง “วอยซ์ทีวี-มติชน” รณรงค์ภาวะฉุกเฉิน 65 ล้าน พ่วงเนชั่น-ฟรีทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ทำการกระทรวงพลังงาน (ภาพจากเว็บไซต์ panoramio.com/photo/68535849)
พบกระทรวงพลังงาน กำหนดทีโออาร์จ้างสื่อพีอาร์รณรงค์ประหยัดพลังงาน 65 ล้าน ครอบคลุมทุกเครือข่าย นสพ.“ฐาน-มติชน-เนชั่น” ฟรีทีวี-วิทยุ อสมท ดาวเทียม-เคเบิ้ล “วอยซ์ ทีวี-เนชั่น-ทีเอ็นเอ็น” หาข้อมูลลึกคอลัมนิสต์ ผังรายการ บก.ยันเจ้าของ ด้านสมาคมที่ถูกพาดพิงยืนยันถูกแอบอ้าง สตง.เตรียมสอบหวั่นเอื้อเอกชน

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดในทีโออาร์ว่าจ้างประชาสัมพันธ์โครงการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ วงเงิน 65 ล้านบาท โดยเอกชนที่จะได้รับว่าจ้างงานจะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ องค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชน ซึ่งมีการกำหนดชื่อ สื่อ ช่วงเวลา รายการที่จะออกอากาศ และจำนวนครั้งอย่างชัดเจน

จากการตรวจสอบร่างทีโออาร์โครงการจ้างสื่อประชาสัมพันธ์ ในเว็บไซต์ กระทรวงพลังงาน พบว่า มีการระบุในหน้าที่ 2 ถึงขอบเขตและวิธีการดำเนินการในเรื่องการวางแผนและบริหารการใช้สื่อมวลชน เพื่อรถรงค์สร้างจิต และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ โดยระบุรายละเอียดของงานที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับสื่อไว้หลายประการ อาทิ ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสื่อมวลชนหลักในไทย ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ระบบดาวเทียม เคเบิลทีวี โดยมีเนื้อหาในรายงาน อย่างน้อยประกอบไปด้วย

1.รายชื่อสื่อมวลชนหลัก จำแนกประเภทสื่อที่มีความเหมาะสม

2.ข้อมูลเกี่ยวกับผังรายการโทรทัศน์ ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง 9, ช่อง 11, สถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม เคเบิลทีวี รวมทั้งรูปแบบรายการ ผู้ดำเนินรายการ เวลาในการออกอากาศ เจ้าของและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์

3.ข้อมูลเกี่ยวกับผังรายการของสถานีวิทยุ รวมทั้งรูปแบบรายการ ผู้ดำเนินรายการ เวลาในการออกอากาศ เจ้าของและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์

4.ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการสื่อสาร เนื้อหาหลักในการสื่อสาร คอลัมน์ประจำและคอลัมนิสต์ ระยะเวลาการเผยแพร่ หัวหน้าข่าว บรรณาธิการ เจ้าของ/ผู้พิมพ์/ผู้โฆษณา ของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร

ส่วนการดำเนินการประชาสัมพันธ์ จะต้องมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ เช่น การจัดทำรายการโทรทัศน์ ทำสกู๊ป จัดให้มีการสัมภาษณ์ในรายการ เผยแพร่สปอตโทรทัศน์ วิทยุ ทั้งในส่วนของ ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง 9, ช่อง 11 โดยผู้เสนอราคาต้องนำเสนอช่วงเวลา จำนวนเรตติ้ง เพื่อใช้ประกอบด้วย

สำหรับหนังสือพิมพ์ มีการยกตัวอย่างชื่อหนังสือ อาทิ ฐานเศรษฐกิจ มติชน เนชั่น (อย่างน้อย 1 องค์กร) ซึ่งรายละเอียดของงาน นอกจากการจัดสัมมนาทางวิชาการ ไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน ระยะเวลาจัดงานอย่างน้อยครึ่งวัน แล้ว และจะต้องมีการทำสกู๊ปหรือบทความพิเศษ ขนาดเต็มหน้า เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ขณะที่สถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม และเคเบิล มีการยกตัวอย่าง VOICE TV, TNN, เนชั่น (อย่างน้อย 1 องค์กร) กำหนดให้จัดทำสกู๊ปข่าว สปอตโทรทัศน์

ขณะที่การจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ผ่านสมาคม และชมรมต่างๆ มีการระบุชื่อ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ, ชมรวมศิลปินต้นแบบพิทักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย ชมรมพลังงานเพื่อสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการจัดทำต้นฉบับโฆษณา หรือบทความพิเศษ เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน หรือ ข่าวสด และนิตยสารเพื่อนพลังงาน โดยเบื้องต้น มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการนี้ ภายใน 300 วัน นับตั้งแต่วันที่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานแจ้งให้ดำเนินการ

จากการตรวจสอบพบว่า ในร่างทีโออาร์ดังกล่าว ได้มีการระบุหลักการและเหตุผลในการดำเนินงานโครงการนี้ ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพปิโตรเลียมที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะพยายามสำรวจและพัฒนาแหล่งเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งพลังงาน ที่บางกลุ่มมีความคิดส่วนทางกับนโยบายรัฐบาล รวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมของหลายฝ่าย ทำให้เกิดกระแสการคัดค้าน บางข้อมูลที่ได้รับบิดเบือน จากความเป็นจริง ว่า ประเทศไทยยังมีแหล่งพลังงานเพียงพอ

“หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลมีอุปสรรคที่ส่งผลทำให้ไม่สามารถพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานได้ตามเป้าหมาย หากไม่ทำความเข้าใจกับประชาชน อย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับภัยคุกคามจากพลังงานที่กำลังจะหมดไป รวมถึงปรับทัศนคติของประชาชน ให้ตระหลักถึงสภาพปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงต้องดำเนินการโครงการนี้” ร่างทีโออาร์ระบุ

• “สมาคมนักข่าวเศรษฐกิจ-ชมรมพลังงานเพื่อสังคม” โวยถูกอ้างชื่อ

ด้านนางสาวอมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ชี้แจงกับ สำนักข่าวอิศรา ว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ก.พ.หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับแผนประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีการระบุว่า สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ออกทีโออาร์โครงการใช้เงิน 65 ล้านบาท ว่าจ้างสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ว่าพลังงานจะหมด โดยมีการระบุว่าจะจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ผ่านสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจในการจัดอบรมนักข่าวจำนวน 50 คน ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ขอชี้แจงว่า ทางสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน หรือบริษัทประชาสัมพันธ์โครงการนี้ ไม่เคยติดต่อมาที่สมาคมในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งไม่เคย มีการตกลงหรือ เจรจาใดๆ ในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ นางสาวอมรรัตน์ ยังให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเพิ่มเติม ระบุว่า ทางสมาคมไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน และไม่เคยได้รับการติดต่อจากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานว่าจะมีการนำชื่อของสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรด้านวิชาชีพสื่อ ไปใช้ในการจัดทำทีโออาร์ดังกล่าวด้วย ขณะที่ นางสาวจิตวดี เพ็งมาก ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนึ่งในกรรมการสมาคม ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “สมาคมฯ ไม่ยินดีขายพ่วง”

ด้าน นางสาวศรัญญา ทองทับ หนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมพลังงานเพื่อสังคม กล่าวชี้แจงกับสำนักข่าวอิศรา กรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กำหนดขอบเขตงานที่จะให้เอกชน ทำกับชมรมพลังงานเพื่อสังคม ไว้ในทีโออาร์ ว่า ทางชมรมไม่เคยทราบ หรือได้รับการติดต่อจากสำนักงานปลัดกระทรวงพลัง ว่าจะนำชื่อและภารกิจงานของชมรม ไปบรรจุอยู่ในทีโออาร์โครงการนี้แต่อย่างใด ไม่แน่ใจว่าสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน มีวัตถุประสงค์อะไรในการนำชื่อชมรมไปใช้ เพราะที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ก็ไม่ค่อยให้ความสนใจกับงานของชมรมมากนักอยู่แล้ว งานส่วนใหญ่ที่ทำจะร่วมกับบริษัทเอกชนมากกว่า ในรูปแบบการจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคม

ทั้งนี้ ชมรมพลังงานเพื่อสังคม เป็นการรวมตัวกันของนักข่าวสายพลังงาน ที่ต้องการจะทำงานช่วยเหลือสังคม มากกว่าการทำข่าวเพียงอย่างเดียว จดทะเบียนจัดตั้งเป็นทางการเมื่อปี 2550 เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ลักษณะงานส่วนใหญ่จะไปการลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรมให้กับชุมชน เช่น โรงเรียน วัด เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในด้านต่างๆ สอดแทรกจิตสำนึกเรื่องการประหยัดพลังงาน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทเอกชนในการทำงานแต่ละครั้ง และมีตัวแทนฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กรเอกชนต่างๆ ที่สนิทสนมกัน มาช่วยกันทำงานด้วย

“ชมรมนี้เป็นการร่วมตัวของนักข่าวที่มีอายุงานเยอะ ส่วนใหญ่จะปฏิบัติหน้าที่ในกองบรรณาธิการ ซึ่งมีภารกิจที่รับผิดชอบจำนวนมาก เลยทำให้เราไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้มากนัก ปีหนึ่ง ทำได้สัก 2 งาน ก็เยอะแล้ว เมื่อก่อนเคยทำวารสารแสดงผลงานอยู่เหมือนกัน แต่ทำได้เล่มสองเล่ม ก็ไม่ได้ทำต่อแล้ว เพราะไม่ว่างกัน ตอนนี้ เพิ่งจะมีเฟซบุ๊ก การติดต่อสื่อสาร กับคนในชมรม รวมถึงการแจ้งข่าวสาร จะทำผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก” นางสาวศรัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน นำชื่อของชมรม ไปใช้ในทีโออาร์โครงการนี้ นางสาวศรัญญา กล่าวว่า “ก็ซวยนะสิ เพราะการที่มีชื่อชมรม ไปปรากฏอยู่ในทีโออาร์ คนเขาก็จะมองว่า เราได้รับการติดต่อ หรือไปรู้เห็นอะไรกับเขาด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวดิฉันเองไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน และเชื่อว่าผู้ก่อตั้งคนอื่นก็ไม่รู้มากก่อน เพราะถ้ารู้ว่าจะมีอะไรแบบนี้ จะต้องมาบอกกันแล้ว เพราะข้อมูลเราถึงกันหมด”

เมื่อถามว่า มองวัตถุประสงค์ของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานเรื่องนี้อย่างไร นางสาวศรัญญา กล่าวว่า “อาจจะเป็นกลยุทธ์ของใครบ้างคนในกระทรวง ที่ต้องการจะทำให้มีการกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์แบบนี้ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้าง ซึ่งในส่วนของชมรม เขาคงจะรู้ข้อมูลว่า ชมรมฯ เราทำงานอะไรกัน และสมาชิกเป็นใครกันบ้าง ทุกคนปิดข่าวอยู่ในกองบรรณาธิการกันหมด อาจจะทำให้ช่วยทำอะไรให้ก็ได้”

เมื่อถามย้ำว่า ทางชมรมจะแสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร นางสาวศรัญญา ตอบว่า “ตอนนี้คงยังบอกอะไรไม่ได้ ขอไปพูดคุยกันภายในชมรมก่อน เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จะแจงให้ทราบอีกครั้ง”

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการตรวจสอบทีโออาร์โครงการนี้ พบว่า มีการระบุข้อมูลชัดเจนถึงเนื้องานที่เกี่ยวข้องกับชมรมพลังงานเพื่อสังคม ในหน้าที่ 6 ว่า ผู้รับจ้างต้องจัดกิจกรรมรณรงค์และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพผ่านชมรมพลังงานเพื่อสังคม ในการจัดกิจกรรมเพื่อเด็กด้อยโอกาสจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพหรืออุปกรณ์ผลิตพลังงานทดแทน และหรืออุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือเรียน เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่เด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนหรือชุมชน (เลือกอย่างน้อย 1 อย่าง) โดยผู้รับจ้างต้องจัดทำรูปแบบงานพร้อมแผนปฏิบัติงานนำเสนอสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานก่อนดำเนินงาน

• สตง.เตรียมสอบ หวั่นเอื้อเอกชนเส้นใหญ่กับสื่อรับงาน

แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า สตง.จะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกำหนดทีโออาร์ ว่าจ้างประชาสัมพันธ์โครงการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ วงเงิน 65 ล้านบาท ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ กระทรวงพลังงาน มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกำหนดรายชื่อสื่อ ที่จะประชาสัมพันธ์โครงการไว้ชัดเจนรวมถึงรูปแบบงาน ช่วงเวลาการออกอากาศ และจำนวนครั้ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามหลักการงานว่าจ้างประชาสัมพันธ์โครงการ ผู้ว่าจ้างจะเป็นฝ่ายกำหนดให้เอกชนเป็นผู้เสนอแผนงานเข้ามาให้พิจารณาว่า จะใช้ช่องทางหรือสื่อใดบ้าง ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูล รวมถึงวงเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดการแข่งขันราคางานอย่างแท้จริง

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สตง.จะตรวจสอบด้วยว่า วัตถุประสงค์การทำโครงการ นี้ มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะปัญหาเรื่องวิกฤติพลังงานมีการระบุถึงมานานแล้ว ทำไมกระทรวงพลังงานจะต้องมาเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อในขณะนี้ และวงเงิน 65 ล้านบาท ที่ตั้งไว้มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใด

“สิ่งที่จะต้องจับตาดูในการประกวดราคาครั้งนี้ คือ บริษัทเอกชนรายใดจะเข้ามารับงาน เพราะเท่าที่ดูข้อมูลเบื้องต้นในทีโออาร์มีการกำหนดรายละเอียดสื่อไว้ชัดเจนว่าเป็นที่ไหนบ้าง หากปรากฎข้อมูลว่ามีเอกชนเพียงไม่กี่ราย ที่สามารถดำเนินการได้ตามนี้ การประกวดราคาโครงการนี้ อาจถูกมองว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง ที่มีเส้นสายกับสื่อเข้ามารับงานได้” แหล่งข่าวระบุ
หนังสือจากสมาคมนักข่าวเศรษฐกิจ ชี้แจงทาง นสพ.โพสต์ทูเดย์ กรณีนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแผนประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน











กำลังโหลดความคิดเห็น