ลาดกระบัง เปิดตัวผลวิจัยเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อรับมือผลกระทบด้านวิกฤตพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถบริหารควบคุมการจ่ายไฟฟ้าภายในอาคาร ได้ตามต้องการ เผยช่วยลดพลังงานได้กว่า 5-10%
ผศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ ผศ.วิศิษฏ์ หิรัญกิตติ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาลัยนานาชาติ สจล.ร่วมกันเปิดตัวผลงานวิจัยเพื่อการบริหารจัดการพลังงาน ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมชมนวัตกรรมดังกล่าวด้วย
ผศ.ดร.สุรินทร์ เผยว่า งานวิจัยครั้งนี้เกิดจากการร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีที่จะมาปฏิวัติ การใช้ไฟฟ้า และนวัตกรรมการบริหารจัดการไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เพื่อหาวิถีทางที่จะป้องกันปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าของไทย
ผศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า การที่เราไม่ตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน เพราะเราไม่ทราบว่าเราสิ้นเปลืองพลังงานไปกับเครื่องมือเครื่องใช้ชนิดใด ในปริมาณมากน้อยเพียงใด เราจึงไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ
“หากมีอุปกรณ์เครื่องมือที่คอยบอกยอดการใช้พลังงานต่างๆของแต่ละเครื่องใช้ไฟฟ้า เราก็จะสามารถบริหารจัดการได้ว่า ควรลดการจ่ายไฟเครื่องใช้ไหนบ้าง ลดปริมาณการใช้แค่ไหน จึงจะอยู่ในระดับการใช้ที่เราตั้งเป้าไว้ เราจึงได้ประดิษฐ์ระบบ “สมาร์ทกริด” และ “สมาร์ทมิเตอร์” เข้ามาช่วยในจุดนี้” ผศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว
ระบบ “สมาร์ทกริด” เป็นแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าให้เป็นโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมาบริหารจัดการควบคุมการผลิต ส่ง และจ่าย พลังงานไฟฟ้า ให้กับ กฟภ.อาทิ ระบบการควบคุมสั่งจ่ายอัติโนมัติ ระบบอ่านมิเตอร์อัตโนมัติ ระบบศูนย์บริการทางโทรศัพท์เป็นต้น เพื่อผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเชื่อมต่อกับ กฟภ.ได้ทุกที่ ทุกเวลา และอาจรองรับการใช้ไฟฟ้าในภาคคมนาคมขนส่งอย่าง รถยนต์ และรถไฟอีกด้วย
ส่วนผลงานอีกชิ้นหนึ่งคือต้นแบบมาตรวัดไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ทมิเตอร์” ที่จะรองรับระบบสมาร์ทกริด ซึ่ง ผศ.วิศิษฏ์ อธิบายว่าจะใช้ตรวจวัดปริมาณไฟฟ้าเช่นเดียวกับมิเตอร์ไฟฟ้าเดิม แต่สามารถควบคุมการสั่งจ่ายไฟ ตรวจวัดปริมาณผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางไกล รวมทั้งพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้คอมพิวเตอร์บริหารจัดการไฟฟ้าในแต่ละครัวเรือน เช่น การควบคุมปริมาณไฟฟ้าผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายและประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น
“หากมีการจ่ายไฟฟ้าที่เกินปริมาณที่ตั้งไว้ ระบบสามารถควบคุมการเปิด-ปิดการใช้งานไฟฟ้าในแต่ละส่วนของอาคารได้อย่างอัตโนมัติ และตามลำดับความสำคัญที่เราได้ตั้งค่าระบบไว้ ยกตัวอย่างเช่น เรากำหนดให้บ้านจ่ายไฟได้ไม่เกิน 100 วัตต์ และหากมีการใช้ไฟเกินที่กำหนดไว้ จึงจัดลำดับความสำคัญไว้ว่า อันดับแรกให้ปิดแอร์, ทีวี, หลอดไฟ ตามลำดับ ระบบจะตัดไฟตามที่เรากำหนด และจะจ่ายไฟให้กับเครื่องใช้ดังกล่าว ก็ต่อเมื่อเราลดการใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ลง หรืออีกทางหนึ่งเราก็สามารถเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันโมบายล์ได้ตามต้องการเลยก็ได้” ผศ.วิศิษฏ์ อธิบาย
อีกความสามารถหนึ่งคือ สมาร์ทมิเตอร์จะรายงานปริมาณการใช้ไฟทุก 15 นาที เราจึงตรวจสอบเหตุการณ์ในมิเตอร์ได้ เช่นไฟเกิน หรือการขโมยใช้ไฟ ในเมื่อเราทราบถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของเรา และเราสามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าของเราให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ คือประมาณ 100 หน่วยต่อวัน ก็จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าของประเทศโดยรวมได้ไม่ต่ำกว่า 5-10% ซึ่ง ผศ.วิศิษฏ์ คาดว่า สจล.จะส่งมอบผลงานสมาร์ทมิเตอร์ที่เสร็จสมบูรณ์ให้แก่หน่วยงานการไฟฟ้าเพื่อผลิตใช้งานจริงได้ภายในสิ้นปีนี้