พลังงานไฟฟ้าถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน และมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น และเทคโนโลยีใหม่ๆต่างต้องใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ทว่ากำลังการผลิตกลับไม่พุ่งสูงตามไปด้วยและในอนาคตอาจถึงขั้นวิกฤตขาดแคลนได้ ดังนั้นเราจะมีวิธีในการลดการใช้พลังงานอย่างไรได้บ้าง
ที่ภาควิชาวิศกรรมไฟฟ้าของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีอาคารที่ได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Net Zero Energy Building ซึ่งมีวิธีการจัดการบริหารไฟฟ้าอย่างไร ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ได้ขอสัมภาษณ์ ผศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาในครั้งนี้
ผศ.ดร.สุรินทร์ บอกเล่าถึงวิธีประหยัดพลังงานว่า ได้ใช้บริเวณสวนหญ้าด้านหน้าอาคารและหลังคาติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้งานภายในอาคาร โดยมีกำลังการผลิตถึง 15 กิโลวัตต์ และสามารถเก็บเป็นพลังงานสำรองไว้ในแบตเตอรี่ด้วย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของอาคารนี้ และจะดึงพลังงานไฟฟ้าจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาใช้ก็ต่อเมื่อกำลังไฟฟ้าไม่เพียงพอ
“หากแต่โอกาสดังกล่าสเกิดขึ้นได้น้อยมาก สำหรับหลังคาของตัวอาคารใช้วิธีการฉีดโฟมกันความร้อน เป็นการดูดซับความร้อนไม่ให้เข้าไปในตัวอาคารและปูทับด้วยแผงโซลาร์เซลล์อีกชั้นหนึ่ง เป็นการประยุกต์ใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์และเพิ่มปริมาณพลังงานจากแสงอาทิตย์ด้วย” ผศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว
“เรามักสิ้นเปลืองไปกับเครื่องปรับอากาศไปกว่า 60-70% แต่ถ้าสามารถปรับอุณหภูมิห้องให้เย็นลง ก็จะเป็นการลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศด้วย จึงใช้วิธีสร้างผนังที่ผลิตจากแผ่นเมทัลชีท (Metal Sheet) ตรงกลางปูทับด้วยโฟม และใช้โพลีคาร์บอเนตเคลือบทับ ซึ่งทำให้ผนังอาคารกันความร้อนได้ดีขึ้น สามารถลดอุณหภูมิลงได้ประมาณ 10 องศาเซลเซียส โดยภาพรวมแล้ว ความต่างของอุณหภูมิระหว่างภายในและภายนอกอาคารอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส” ผศ.ดร.สุรินทร์ อธิบายเพิ่มเติม
ผศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า อาคารดังกล่าวได้นำนวัตกรรมที่คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นเพื่อลดการใช้พลังงาน คือระบบ “สมาร์ทกริด” และ “สมาร์ทมิเตอร์” เข้ามาบริหารจัดการการจ่ายไฟภายในอาคารด้วย ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถสั่งจ่ายไฟในปริมาณที่เราควบคุมได้ สามารถสั่งเปิด-ปิด ได้ด้วยเครื่องมือสารสนเทศและสื่อสาร เช่น โน้ตบุ๊ก, ไอโฟน และไอแพดได้
“อีกทั้งอาคารนี้มีจุดสวิตซ์ปิดเปิดไฟแยกกันทุกจุด เพื่อสามารถเลือกปิดจุดที่ไม่ต้องการได้ และยังใช้หลอดไฟ LED สามารถเปลี่ยนสีได้ถึง 16 ล้านสี ดังนั้นเราสามารถตั้งค่าระบบให้หลี่แสงไฟลงเมื่อมีการจ่ายไฟเกินลิมิตเพื่อเป็นการลดการจ่ายไฟให้แก่หลอดไฟโดยอัติโนมัติอีกด้วย” ผศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว
*** สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ บทความ “สมาร์ทกริด-สมาร์ทมิเตอร์" คุมจ่ายไฟฟ้า เปิด-ปิดส่วนไม่จำเป็น
ผู้ช่วยอธิการบดี อธิบายว่า โดยรวมแล้วอาคารดังกล่าวสามารถลดการใช้พลังงานได้กว่า 50% โดยงบประมาณการลงทุน 20-40 ล้านบาท แต่หากคำนวณราคาเพื่อการสร้างบ้านแล้ว เฉพาะค่าแผงโซล่าเซลล์อยู่ที่ประมาณวัตต์ละ 500 บาท ซึ่งราคานี้รวมค่าติดตั้งและเบ็ดเตล็ดอื่นๆแล้ว โดยบ้านหลังหนึ่งจะใช้ไฟฟ้าประมาณ 3,300 วัตต์ เปรียบเทียบวัตต์โดยประมาณคือ เครื่องปรับอากาศใช้ไฟฟ้าเครื่องละ 500 วัตต์, หลอดไฟดวงละ 2.5 วัตต์ เป็นต้น ดังนั้น บ้านประหยัดพลังงานจะมีราคาราว 2-5 ล้านบาท
“แม้ว่าเป็นจะเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง แต่ต้องมองว่าเราสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ ทำให้เห็นผลระยะยาว ซึ่งต่างจากการใช้หลอดผอมหรือหลอดประหยัดไฟ ที่ช่วยลดค่าไฟลงได้บ้าง แสดงผลระยะสั้น และผลลัพธ์ก็ไม่ชัดเจน” ผศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว