หากพูดถึงวิทยาศาสตร์...คนทั่วไปมักนึกถึงห้องปฏิบัติการสะอาดเอี่ยม มีหลอดทดลองเรียงรายบรรจุสารเคมีสีประหลาด แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกลับชอบเดิน “ตลาดสด” เพราะนั่นคือแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมที่อาจสร้างคำถามน่าสนใจ หรือมีสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ซ่อนตัวอยู่!
ตลาดสดคือแหล่งรวมของกินของใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ปัจจุบันมีซูเปอร์มาร์เก็ตติดแอร์เย็นฉ่ำเข้ามาแทนที่ แต่ตลาดก็ยังเปี่ยมเสน่ห์ทั้งวิถีชีวิต และเต็มไปด้วยข้าวของแปลกตาที่พ่อค้าแม่ค้าสรรหามาแลกเปลี่ยนเป็นเงิน โดยเฉพาะตลาดสดของชาวเอเชียและแอฟริกา ซึ่งยังมีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ เก็บผัก หาปลา ล่าสัตว์มาวางขายนั้น เป็นสวรรค์ของนักวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนง
หากไม่นับนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับตลาดสดโดยตรง เช่น นักโภชนาการที่ต้องตรวจสอบคุณภาพของอาหาร นักมาตรวิทยาที่ต้องตรวจสอบตราชั่งในตลาดให้ได้มาตรฐาน หรือสาธารณสุขที่มีหน้าที่ตรวจสอบอนามัยในอาหารและตัวตลาด ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายแขนงที่ชอบเดินตลาดเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น นักสัตวิทยาสามารถมองหาตัวอย่างสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่กันตามแผงขายเนื้อสด นักพฤษศาสตร์พื้นบ้านมักเดินสำรวจพืชพรรณหรือผักสมุนไพรในตลาดท้องถิ่นเพื่อค้นหาสารออกฤทธิ์หรือเส้นใยธรรมชาติ นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์บางคนชอบแวะตลาดข้างทางมองหาเครื่องจักสานหรือของเล่นพื้นบ้านมาเปลี่ยนเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ
ตลอดเวลาที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่หลายชนิดครั้งแรกจากการสำรวจตลาดสด เช่น กระต่ายลายทาง (annamite striped rabbit) ซึ่งเป็นกระต่ายที่อาศัยในแทบเทือกเขาหินปูน และพบเห็นตัวยากที่สุด กระต่ายลายทางถูกพบครั้งแรกโดยทีมนักวิจัยชาวลาวและเวียดนามในตลาดสดของเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตนากาย-น้ำเทินของลาวหลังจากนั้นอีกหลายปี กว่านักวิจัยจะถ่ายภาพได้ด้วยกล้องดักถ่ายเพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของพวกมัน
เช่นเดียวกับหนูโบราณที่เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปกว่า 11 ล้านปี ชื่อว่า “ขะหยู” ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทีมนักวิจัยได้พบขะหยู 19 ตัว วางขายเป็นอาหารในตลาดพื้นเมืองของแขวงคำม่วน (ติดชายแดน จ.นครพนม) แม้แต่ “ปลาซีลาแคนท์” ฟอสซิสมีชีวิตชื่อดัง ที่พบทั้งในแอฟริกาและเอเชีย ก็ถูกถ่ายภาพเป็นครั้งแรกจากตลาดสดของเกาะ Manado ในหมู่เกาะสุราเวสีเช่นกัน หลังจากพิสูจน์เบื้องต้นจากภาพถ่ายและมีการติดตามไปสำรวจถึงแหล่งที่จับปลาจึงไขกุญแจได้ว่าปลาโบราณนี้คือซีลาแคนท์สายพันธุ์เอเชีย (Latimeria menadoensis) แต่เรื่องตลกร้ายก็คือปลาซีลาแคนท์ไม่อร่อย เพราะเนื้อเหนียว เหม็น และเต็มไปด้วยน้ำมัน จึงเชื่อว่าพวกมันถูกจับเพียงเพราะนักสะสมต้องการความแปลกและหายากไม่ใช่การล่าเพื่อปากท้องของคนท้องถิ่นแต่อย่างใด
ด้วยสาเหตุที่สัตว์ป่าหากยากมักจะถูกล่าเป็นอาหารหรือนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนท้องถิ่น ทำให้ในระดับโลกมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Bushmeat specialist group ซึ่งเชี่ยวชาญการสำรวจตลาดสดทั่วโลก เพื่อตรวจสอบและจำแนกซากสัตว์ เขา หนัง และสัตว์เป็นๆ ที่ถูกนำมาวางขาย แล้วเปลี่ยนเป็นตัวชี้วัดผลกระทบของการล่าสัตว์ป่า โดยผลการรายงานนี้มีผลอย่างยิ่งต่อการจัดลำดับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ อีกทั้งยังเชื่อมโยงมาถึงอนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์และพืชป่าระหว่างประเทศด้วย
นักวิทยาศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่รักการเดินตลาดสดเป็นชีวิตจิตใจ คือ ผู้ที่ทำงานวิจัยด้านพฤษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotany) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีบทบาทชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน และเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา เช่น นักนิเวศวิทยา นักเภสัชศาสตร์ นักพฤกษเคมี นักมานุษยวิทยา และนักโบราณคดี ฯลฯ เนื่องจากเป็นการศึกษาการความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตและการใช้ประโยชน์จากพืชพรรณธัญญาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรูปของอาหาร ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง และเส้นใยสิ่งทอ
การเดินตลาดจึงเป็นวิธีเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดเพื่อเรียนรู้ว่าแต่ละชุมชนนำพืชพื้นบ้านมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ตัวอย่างงานวิจัยที่เกิดจากตลาดสดและแปลงเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อชุมชนได้ คือ การเพาะเลี้ยง “สาหร่ายไก” ที่พบในลำธารและแม่น้ำใสในภาคเหนือมีลักษณะเหมือนเส้นผมยาวลื่นๆ สีเขียวซีด และถือเป็นสินค้าโอทอปของ จ.น่าน และเชียงราย สาหร่ายชนิดนี้นิยมนำมาวางขายในตลาดสดเพื่อนำไปทำยำไก ห่อหมกไก หรือตากแห้งป่นแล้วป่นทำเป็น “ไกยี” ที่มีลักษณะเหมือนผงโรยข้าวของญี่ปุ่น เมื่อนำมาวิเคราะห์สารอาหารพบว่ามีโปรตีนสูง มีสารอาหารหลายหลาก มีสารอนุมูลอิสระสูง และอีกอย่างหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ คือ สาหร่ายไกมีสารเคลือบผิวที่ลื่นมากจนไข่พยาธิที่มักพบในแหล่งน้ำเกาะไม่อยู่ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและคุณภาพน้ำที่คาดการณ์ได้ยากในอนาคต นักชีววิทยาจึงกำลังคิดค้นวิธีการเลี้ยงสาหร่ายไกในระดับชุมชน เพื่อวันหนึ่งจะสามารถส่งเสริมให้เกิดแหล่งอาหารราคาถูก เพาะเลี้ยงง่าย และทำให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สาหร่ายก้อนเล็กจากตลาดสดจึงกลายเป็นความรู้ก้อนใหญ่เพื่อกลับไปสู่แหล่งที่มาอีกครั้ง
เมื่อกลับมาดูการเรียนการสอนในห้องเรียน ตลาดสดเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอดที่ก่อร่างสร้างความรู้แบบบูรณาการให้กับนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยได้อย่างสนุก ของเล่นเป็นสื่อวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งที่หาซื้อได้ตามตลาดพื้นบ้าน ครูฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มักได้สื่อการสอนสุดสนุกจากการเดินมองหาของเล่นหรือเครื่องดนตรีตามตลาดหรือเพิงขายของข้างทาง เช่น นกหวีดชักซึ่งทำจากไม้ท่อไม้ซางและมีแกนชักลักษณะเหมือนลูกสูบดึงเข้าออกได้ขณะที่เป่าลม การเกิดเสียงลักษณะต่างๆ เกิดจากเพิ่มหรือลดความยาวในรูปทรงกระบอก ทำให้เกิดเสียงดังค่อย สลับกันไป การเกิดเสียงในลักษณะนี้ใช้อธิบายเรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ในเรื่องการเกิดเรโซแนนซ์ของเสียงในท่อปลายปิด เมื่อคลื่นเสียงเคลื่อนที่เข้าไปในท่อก็จะสะท้อนกลับในลักษณะการเกิดคลื่นนิ่ง (standing wave) และเมื่อชักแกนไปในตำแหน่งบัพ (node) ก็จะเกิดเสียงค่อย หากขยับไปในตำแหน่งปฏิบัพ (antinode) ก็จะเกิดเสียงดัง
นายปรี๊ดจำได้ว่าเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน สมัยยังเป็น ด.ช.ปรี๊ดหัวเกรียน อาจารย์สอนวิชา ก.พ.อ.(การงานพื้นฐานอาชีพ) พาเด็กๆ เดินต่อแถวกันไปตลาดข้างๆ โรงเรียน เพื่อเลือกซื้อของตามรายการที่ร่วมกันจดสำหรับนำกลับไปทำอาหารไทยง่ายๆ เช่น ไข่เจียว ต้มจืด ปลานิลทอด และน้ำพริกกะปิ การเดินทางแค่ไม่กี่ก้าวนั้นสนุกจนจำฝังใจ อาจารย์ชี้ชวนเด็กๆ ให้ดูตามแผงขายของสด สอนให้เลือกผักที่มีรูหนอนเจาะบ้าง เพราะแปลว่าผักนั้นปลอดภัยไร้สารพิษ เลือกปลาสดที่ตาใส เหลือกแดง เอานิ้วจิ้มพุงแล้วไม่ยุบเพราะแปลว่าปลายังสดใหม่ นอกจากนั้นอาจารย์ยังเลือกซื้อผงชูรสมาอีก 2-3 ห่อ เมื่อกลับมาถึงห้องคหกรรมก็ให้เด็กๆ นำผงชูรสใส่ช้อนสแตนเลสแล้วทดลองเผาบนเปลวไฟ ผงชูรสห่อไหนเป็นของปลอมจะกลายเป็นเถ้าขาว ไม่เป็นเผาไหม้เป็นสีดำเพราะอาจจะผสมด้วยบอแรกซ์หรือสารอันตรายอื่นๆ ความรู้สมัยประถมยังติดตัวจนบัดนี้ ถือเป็นวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่เคยรู้ตัว
ในปัจจุบันการเรียนการสอนแบบนี้ในโรงเรียนของรัฐกลับมีให้เห็นน้อยลง อาจเพราะครูมีเวลาในห้องเรียนน้อยเพราะเต็มไปด้วยงานเอกสาร หรือมัวยุ่งกับการ “ติว” ให้เด็กทำคะแนนสอบจากส่วนกลางให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อโรงเรียนจะได้มีผลผ่านการประเมินคุณภาพทางการศึกษาตามนโยบายจากเบื้องบน หากแต่ไม่น่าเชื่อว่าในห้องเรียนพิเศษ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนทางเลือกชื่อดังหลายแห่งกลับใช้การเรียนการสอนในตลาดสดนี้เป็นบทเรียนบูรณาการ ซึ่งถูกเรียกอย่างหรูหราว่า “การเรียนการสอนแบบ project based” หรือการใช้โครงงานเป็นตัวดำเนินเรื่องราว
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณครูกำหนดให้วันนี้เป็น “วันไข่เจียว” นักเรียนอาจจะเริ่มต้นจากการช่วยกันจดรายชื่อสิ่งของที่ต้องใช้เป็นภาษาไทยและอังกฤษ จากนั้นวางแผนการเดินทางไปตลาดสด เมื่อไปถึงก็เรียนรู้เรื่องที่มาของไข่ไก่ ขนาด ราคา และการชั่งน้ำหนักจากแผงค้าไข่ (ซึ่งครูคงไปเตี๋ยมกับแม่ค้าไว้ก่อน) เมื่อกลับมาก็เรียนรู้การทำไข่เจียวและเครื่องปรุงต่างๆ บางครั้งมีการทำวิดีโอสาธิตเป็นภาษาอังกฤษเลียนแบบรายการทำอาหารด้วย สุดท้ายจบลงด้วยมารยาทในการทานอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการของไข่เจียว เรียกว่าใน 1 วัน เฉพาะไข่เจียวใบเดียวได้เรียนรู้สาระทางวิชาการทุกลุ่มสาระเลยทีเดียว
ยิ่งครูคนไหนสนใจวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษก็สามารถสอดแทรกวิธีคิดและทักษะทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมได้ทุกจุด เช่นการวัดปริมาตรของรูปทรงต่างๆ เมื่อไข่ถูกแปรสภาพไปตามภาชนะ หรือผลของการทดลองใส่น้ำหรือนมผสมลงไปในไข่เจียว เป็นต้น แต่สุดท้ายแล้วเรื่องราววิทยาศาสตร์ของสินค้าในตลาดสดที่ยังซ่อนอยู่อีกมากมายนั้นจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่มุมมองของครูและผู้ปกครองที่จะชักนำให้เด็กๆ ได้เปิดหูเปิดตามองวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นเรื่องสนุกและกระชับพื้นที่ให้วิทยาศาสตร์เข้าใกล้ตัวมากขึ้น
ถ้าเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่รอบตัว...วันนี้คุณพาตนเองหรือลูกหลานเดินตลาดสดบ้างหรือยัง?
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์