xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวใหญ่ที่ญี่ปุ่น 2 ปีก่อนดังไกลถึงขอบอวกาศ (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพคลื่นเสียงจากแผ่นดินไหวเดินทางไปไกลถึงวงโคจรดาวเทียมโกเซ
นักวิทยาศาสตร์เผยแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีก่อน ส่งผลกระทบไปถึงขอบอวกาศ ซึ่งดาวเทียมสามารถบันทึกแรงสั่นสะเทือนเหตุการณ์พสุธากัมปนาทครั้งนั้นได้ แม้จะอยู่สูงจากพื้นโลกขึ้นไปกว่า 255 กิโลเมตร

บีบีซีนิวส์รายงานว่า ดาวเทียมโกเซ (Goce satellite) ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ที่มีความไวสูงสามารถตรวจจับคลื่นกระเพื่อมของเสียงในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเกิดจากแผ่นไหวใหญ่ 9.0 ริกเตอร์ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 11 มี.ค.2011 ที่ผ่านมาได้ เมื่อดาวเทียมเคลื่อนผ่านอากาศที่ได้รับการรบกวน แม้จะเป็นระยะที่อยู่สูงกว่าพื้นดินถึง 255 กิโลเมตร ซึ่งผลจากการสังเกตของดาวเทียมดังกล่าวได้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงวารสารจีโอฟิสิคัลรีเสิร์ชเลตเตอร์ส (Geophysical Research Letters)

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบมานานว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นั้นสามารถสร้างคลื่นเสียงความถี่ต่ำ หรือ “อินฟราซาวนด์” (infrasound) ซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่ต่ำเกินความสามารถของหูมนุษย์จะรับฟังได้ แต่ก็ไม่เคยมียานอวกาศลำใดบันทึกเสียงดังกล่าวได้มาก่อน จนกระทั่งดาวเทียมโกเซบันทึกได้

ดร.รูน ฟลอเบิร์กฮาเกน (Dr.Rune Floberghagen) ผู้จัดการโครงการดาวเทียมโกเซจากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซา (ESA) กล่าวว่า มาตรวัดความเร่งของดาวเทียมโกเซนั้น มีความไวมากกว่าเครื่องมือรุ่นก่อนๆ ประมาณ 100 เท่า และสามารถบันทึกคลื่นเสียงดังกล่าวได้ถึง 2 ครั้ง เมื่อโคจรผ่านเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกและยุโรป  

ดาวเทียมโกเซถูกออกแบบมาเพื่อทำแผนที่แรงโน้มถ่วงโลก โดยอาศัยการวัดแรงดึงดูดที่แตกต่างกันไปตามพื้นผิวโลก เนื่องจากการกระจายตัวของมวลดาวเคราะห์ที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งความแตกต่างของแรงโน้มถ่วงนี้ส่งผลต่อความเร็วของดาวเทียมเมื่อเคลื่อนผ่าน และดาวเทียมจะบันทึกข้อมูลไว้ด้วยมาตรวัดความเร่งที่มีความแม่นยำสูง

อย่างไรก็ตาม สัญญาณแรงโน้มถ่วงนั้นเป็นสัญญาณที่อ่อนมากๆ ดังนั้น ดาวเทียมโกเซจึงต้องบินโคจรด้วยระดับที่ค่อนข้างต่ำมากๆ เพื่อสัมผัสแรงโน้มถ่วงให้ได้ ทำให้ดาวเทียมถูกลากไปตามด้านบนของชั้นบรรยากาศ ซึ่งด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ดาวเทียมบันทึกเสียงความถี่ต่ำที่เกิดขึ้นเมื่อ 11 มี.ค.2011 ได้ โดยคลื่นเสียงรบกวนความหนาปแน่นของโมเลกุลอากาศ และทำใหความเร็วของโมเลกุลเปลี่ยนแปลง แม้ว่าคลื่นเสียงดังกล่าวจะเป็นเพียงลมที่แผ่วบาง แต่นั้นก็แรงพอที่โกเซจะสัมผัสได้

ดาวเทียมของอีซาดวงนี้ได้รับสัญญาณเสียงดังกล่าว เมื่อโคจรผ่านไปเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกหลังเกิดแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์แล้ว 30 นาที และได้รับสัญญาณอีกครั้งในอีก 25 นาทีถัดไป เมื่อดาวเทียมเคลื่อนผ่านยุโรป และด้วยรูปแบบการจัดเรียงของมาตรวัดความเร่งบนดาวเทียมโกเซ ทำให้ดาวเทียมสามารถสร้างภาพ 3 มิติของสัญญาณที่วัดได้ และย้อนหาต้นกำเนิดเสียงได้อย่างมั่นใจว่าเกิดจากแผ่นดินไหวอย่างแน่นอน

นอกจากเสียงแผ่นดินไหวแล้ว ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังตรวจสอบข้อมูลด้วยว่า ดาวเทียมสามารถบันทึกสัญญาณเสียงความถี่ต่ำที่เกิดจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศ แล้วระเบิดเหนือรัสเซียได้หรือไม่ ซึ่งสัญญาณเสียงความถี่ต่ำจากดาวเคราะห์น้อยลูกดังกล่าวถูกบันทึกได้จากสถานีบนภาคพื้นดิน  

ตอนนี้เชื้อเพลิงของดาวเทียมโกเซใกล้จะหมดแล้วและดาวเทียมก็ใกล้จะสิ้นสุดภารกิจ ซึ่งอีซาจะได้ลดระดับโคจรของดาวเทียมลงต่ำกว่า 230 กิโลเมตร เพื่อให้ได้ข้อมูลสนามแรงโน้มถ่วงที่ละเอียดขึ้น และคาดว่าจะสั่งให้ดาวเทียมตกจากฟ้ากลับสู่โลกในเดือน พ.ย.2013 นี้  
ภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเมื่อ 11 มี.ค.2011 (บีบีซีนิวส์)
ภารกิจหลักของดาวเทียมโกเซคือการสร้างแผนที่แรงโน้มถ่วงของโลก


คลิปอธิบายการได้รับสัญญาณเสียงจากแผ่นดินไหวของดาวเทียม









กำลังโหลดความคิดเห็น