สมาคมดาราศาสตร์ไทยตั้งกล้องล่าภาพดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 จากศูนย์ศึกษาธรรมชาติเจ็ดคด-โป่งก้อนเส้า สระบุรี ได้ภาพสมใจหลังตามบันทึกตั้งแต่ช่วงหัวค่ำก่อนวัตถุอวกาศเข้าใกล้โลกช่วงตีสอง
นายพรชัย อมรศรีจิรทร กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย พร้อมคณะรวม 6 คน ได้ตั้งกล้องขนาด 5 นิ้ว เพื่อบันทึกภาพดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคด-โป่งก้อนเส้า จ.สระบุรี ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ คณะได้เริ่มบันทึกภาพตั้งแต่ 01.30 น.ของวันที่ 16 ก.พ. 56 ก่อนเวลาดาวเคราะห์น้อยเข้าโลกมากที่สุดที่ระยะ 27,000 กิโลเมตร ในเวลา 02.24 น.และยังคงบันทึกภาพต่อเนื่องหลังจากนั้นถึงเวลา 05.30 น.
สำหรับการถ่ายดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 นี้ค่อนข้างบันทึกภาพได้ยาก เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยมีขนาดเล็ก เคลื่อนที่เร็ว และมีความสว่างน้อย เพียงระดับ 7 ในขณะที่ดาวสว่างน้อยที่สุดที่ตาคนมองเห็นได้คือ 6 ส่วนดาวบนท้องฟ้าสว่าง เฉลี่ย 3-4 ส่วนซืรุอุส หรือดาวโจรสว่างที่สุดบนท้องคือ -1 (ไม่นับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์)
ขณะเดียวกันในช่วงค่ำของวันที่ 15 ก.พ.ปรากฏข่าวการระเบิดของอุกกาบาตอีกดวงเหนือท้องฟ้ารัสเซีย จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 500 คน หากแต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยคนละดวง
แอนนิเมชันแสดงจังหวะที่อุกกาบาตตกที่รัสเซีย ระหว่างดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 เข้าใกล้โลก
ภาพขณะดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 ของหอดูดาว Murrambateman Observatory ในออสเตรเลีย บันทึกภาพความเร็วจริงในการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อย
ทางด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ซึ่งติดตั้งบนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ เพื่อติดตามและบันทึกภาพดาวเคราะห์น้อยดวงเดียวกันนี้ และได้เผยแพร่ภาพซึ่งบันทึกเมื่อเวลา 02.27 น.และเห็นดาวเคราะห์น้อยเป็นจุดกลมๆ ท่ามกลางดาวฤกษ์ที่เห็นเป็นเส้นยาวๆ เนื่องจากการบันทึกภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนานและติดตามดาวเคราะห์น้อยอย่างแม่นยำ
ภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ ในภาพดวงกลมคือดาวเคราะห์น้อย เส้นแสงคือดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลัง เนื่องจากกล้อง track ดาวเคราะห์น้อยได้อย่างแม่นยำ เมื่อเปิดหน้ากล้องนาน ดาวฤกษ์จึงปรากฏเป็นเส้น ถ่ายเมื่อเวลา 19.27 UT (02.27 น.)
นักวิจัย สดร.ติดตามและบันทึกภาพดาวเคราะห์น้อยด้วยกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตรของหอดูดาวแห่งชาติ