ผู้เชี่ยวชาญชี้ดาวเทียมทหารสำหรับเฝ้าจับต่าการยิงจรวดมิสไซล์ที่มีอยู่ทั่วโลก สามารถจับตาการรุกล้ำเข้ามาของอุกกาบาตตั้งแต่เนิ่นๆ แม้กระทั่งอุกกาบาตขนาดเล็กกว่าที่ถล่มรัสเซีย แต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่เคยถูกปันมายังวงการวิทยาศาสตร์ ทั้งที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาวัตถุอวกาศที่เข้าใกล้โลก รวมถึงอันตรายจากวัตถุเหล่านั้น
คลาร์ก แชปแมน (Clark Chapman) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดาวเคราะห์น้อยจากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute) ในโบลเดอร์ โคโลราโด สหรัฐฯ เผยแก่ทางสเปซด็อทคอมว่า ดาวเทียมที่เฝ้าระวังการปล่อยจรวดมิสไซล์ทั่วโลกนั้น สามารถตรวจจับการเข้ามาของอุกกาบาตที่สว่างจ้ามากๆ ไปจนถึงอุกกาบาตลูกเล็กกว่าที่ถล่มรัสเซีย ข้อมูลจากดาวเทียมเหล่านั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงอันตรายจากสภาพแวดล้อมอวกาศที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อโลก
“ในอดีตข้อมูลเหล่านี้บางส่วนเป็นความลับต่อประชาคมวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้ควรถูกปล่อยออกมาอย่างฉับพลัน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ หน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ กำลังพยายามหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น จุดไหนที่ประชาชนอาจได้รับบาดเจ็บ และจุดไหนที่อาจจะได้พบจุดตกของอุกกาบาต
จากเหตุอุกกาบาตระเบิดเหนือเมืองเชลยาบินสก์ (Chelyabinsk) และเทือกเขาอูราล (Ural Mountains) ของรัสเซียเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2013 ที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 1,000 คนได้รับบาดเจ็บ และสิ่งปลูกสร้างนับพันอาคารเสียหาย ซึ่งเกิดหินอวกาศขนาด 47 เมตร และหนัก 10,000 ตันเกิดระเบิดกลางอากาศ ขณะพุ่งเข้ามาด้วยความเร็ว 64,373 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ด้าน รุสเซลล์ ชไวค์คาร์ท (Russell Schweickart) มนุษย์อวกาศในโครงการอพอลโล (Apollo) และประธานกิตติคุณของมูลนิธิบี612 (B612) แห่งเมาน์เทนวิว แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อุทิศตนในการควบคุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อปกป้องอนาคตของดาวเคราะห์โลก ระหว่างที่มนุษยชาติขยายอาณาเขตออกไปในระบบสุริยะ ให้ความเห็นต่อเหตุอุกกาบาตระเบิดที่รัสเซียว่า เป็นอัศจรรย์ที่สุดของ “พระแม่ธรรมชาติ” (Mother Nature) พร้อมทั้งเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลดาวเทียมทหาร ซึ่งการประเมินเหตุอุกกาบาตที่รัสเซีย ตลอดจนการบุกเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกของหินอวกาศอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
“ไร้ข้อกังขาเลยว่าการแบ่งปันข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด เราจำเป็นที่จะเรียนรู้ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้จากเหตุการณ์เหล่านี้ และไร้ซึ่งความเสี่ยงจากปัจจัยในเรื่องความมั่นคงของชาติตามกฎหมาย ข้อมูลที่พวกเขามีควรจะต้องแบ่งปันอย่างเปิดเผยแก่พวกเราที่เหลือ” ชไวค์คาร์ทกล่าว
การเรียกร้องให้ทหารเปิดเผยข้อมูลอุกกาบาตนี้มาได้สักพักแล้ว โดยข้อมูลจากสเปซด็อทคอมระบุว่า รายงานยุทธศาสตร์ในการปกป้องดาวเคราะห์จากตรวจตราวัตถุใกล้โลก (Near-Earth Object: NEO) และลดอันตรายจากวัตถุเหล่านั้น ของสภาวิจัยแห่งชาติสหรัฐฯ (National Research Council) เมื่อปี 2010 เผยให้เห็นว่า ดาวเทียมของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ตรวจพบการระเบิดกลางอากาศของวัตถุใกล้โลกที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก และยังคงตรวจพบอยู่เรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นเป็นประโยชน์ยิ่งต่อนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้เพื่อประเมินอันตรายจากวัตถุใกล้โลก
มากกว่านั้นในการศึกษาของสภาวิจัยสหรัฐยังชี้แนะว่า ข้อมูลจากการสังเกตพบเหตุการณ์ระเบิดกลางอากาศของวัตถุใกล้โลกโดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐนั้น ควรจะถูกเปิดเผยแก่ประชาคมวิทยาศาสตร์ เพื่อให้วงการวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของวัตถุใกล้โลก
นอกจากนี้เซนเซอร์ตรวจวัดความกดอากาศระดับต่ำของกลาโหมและองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Test Ban Treaty: CTBT) ยังตรวจวัดการระเบิดกลางอากาศของวัตถุเหล่านั้นได้ ซึ่งเครือข่ายนานาชาตินี้สถานีตรวจวัดวัดแรงสะเทือน คลื่นใต้เสียง การแผ่รังสี และคลื่นเสียงในน้ำ แต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่เปิดเผยแก่สาธารณะ ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์จะได้ประโยชน์จากการไม่ถูกกีดกันการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้
พร้อมกันนี้ยังมีการพูดถึงประเด็นเดียวกันนี้ในการประชุมของสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าของวิทยาศาตร์ (American Association for the Advancement of Science: AAAS) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ โดยมีการเผยข้อมูลว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเครือข่าย CTBT มีการพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดเพื่อเฝ้าระวังการทดลองนิวเคลียร์รวม 337 สถานีทั่วโลก ซึ่ง 85% ของจำนวนนั้นถูกใช้งานแล้ว และส่งข้อมูลรายวันแบบสดๆ ถึงวันละ 10 กิกะไบท์ ซึ่งเผยแพร่แก่สมาชิก 183 รัฐ
หากแต่วงการวิทยาศาสตร์เพิ่งตื่นตัวว่า ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์มากกว่าแค่ตรวจจับการทดลองนิวเคลียร์ โดยอาจใช้ศึกษาอุกกาบาตที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงการระเบิดของภูเขาไฟ หรือแม้กระทั่งตรวจจับการส่งสัญญาณและการอพยพของวาฬ และการแยกตัวของภูเขาน้ำแข็งได้
ไมอากิ อิชิอิ (Miaki Ishii) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาการโลกและดวงดาวในกลุ่มแผ่นดินไหววิทยาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในเคมบริดจ์ แมสซาชูเสตส์ สหรัฐ กล่าวว่าสถานีตรวจจับการทดลองนิวเคลียร์มีอานุภาพถึงขั้นตรวจจับการสั่นไหวและการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในระดับมิลลิเมตรบริเวณเทือกเขาอูราลที่เกิดอุกกาบาตระเบิดกลางอากาศ
“ฉันมั่นใจการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จะให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ มีข้อมูลที่เป็นความลับทางราชการที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะบริเวณที่เรามีปริมาณข้อมูลอันจำกัด” อิชิกิกล่าว