xs
xsm
sm
md
lg

น้องหมา...ป่าแตก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ของรักของหวงติดตัวของนักท่องเที่ยว พ.ศ.นี้ อาจเป็นเป้สักใบ กล้องดิจิดอลตัวใหญ่ และหมาน้อยหน้าจิ้มลิ้มเป็นเพื่อนร่วมทางสักตัว
ในช่วงหน้าหนาวหลายคนชื่นมื่นกับบรรยากาศการท่องเที่ยว บางคนไปกับเพื่อน บางคนไปกับครอบครัว บางคนก็ไปท่องเที่ยวกับน้องหมา การพาหมาเที่ยวไม่ใช่เรื่องผิด แต่อาจนำโรคเมืองสู่สัตว์ป่า หรือนำโรคป่ากลับมาบ้านแบบไม่รู้ตัว มาร่วมด้วยช่วยกัน รักษ์โลกให้ถูกที่รักน้องหมาให้ถูกทางเพื่อคงความสุขให้ทุกชีวิตกันดีกว่า

ในยุคที่คนเกษียณต้องอยู่บ้านโดดเดี่ยว คนหนุ่มสาวต้องทำงานหาเงินจนไม่มีเวลาหาคู่ บางบ้านจึงมี “น้องหมา” เข้ามาแทรกกลางระหว่างความสัมพันธ์ “แย่งซีน” ความรักจนมีสถานะคล้ายลูกคล้ายหลานแก้ปมคลายเหงาให้กับครอบครัวยุคใหม่ “ไอ้ตูบ, ไอ้ด่าง” ในอดีต จึงกลายเป็น “น้องหมา” ในหัวใจของใครหลายคน ทั้งได้กินอาหารราคาแพง แต่งตัวสวย มีเตียงส่วนตัว ไปจนถึงร่วมเดินทางท่องเที่ยวไปทุกที่ และอยู่ในฐานะสมาชิกตัวหนึ่งของครอบครัว

บ้านนายปรี๊ดก็หลงน้องหมาไม่น้อย และหมาน้อยทั้ง 2 ตัวก็เคยเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้มาแล้วหลายจังหวัด ตามแต่เจ้านายจะอุ้มไปด้วย แต่สถานที่หนึ่งที่นายปรี๊ดพยายามจะไม่พาน้องหมาไปด้วย คือ “พื้นที่อนุรักษ์ หรืออุทยานแห่งชาติ” ไม่ใช่เพียงว่ามีกฏห้ามนำน้องหมาเข้า แต่มีเหตุผลมากมายที่เราเองก็ควรจะเตือนตน ไม่ให้เผลอใจแอบนำน้องหมาซุกซ่อนเข้าไปในพื้นที่อาศัยของสัตว์และพืชป่านานาพันธุ์

กฎข้อหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทุกแห่งที่เขียนไว้ ณ ด่านเก็บค่าธรรมเนียม คือ “ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าในเขตอุทยานฯ” แต่ก็มักพบเห็นนักท่องเที่ยวหลายคนแอบเอาน้องหมาใส่กระเป๋าหิ้วเข้าอุทยานอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นก็มักจะถูกร้องขอความเห็นใจว่าไหนๆ ก็เข้ามาแล้วเอาไปใส่กรงกักกันก็จะตรอมใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ จึงต้องปล่อยเลยตามเลยไปเสียมาก

หากแต่กฎข้อนี้ไม่ได้เพียงแต่ป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยง เช่น น้องหมาไปเห่ารบกวนหรือขับถ่ายจนเป็นที่รำคาญของนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เท่านั้น แต่เป็นการป้องกัน “โรคติดต่อและอันตราย” จากหมาบ้านสู่สัตว์ป่าและจากสัตว์ป่าสู่น้องหมา โดยเฉพาะกับญาติใกล้ชิดที่ถือเป็นกลุ่มสัตว์มีเขี้ยว (Canine) เช่น เสือ แมวป่า หมี หมาจิ้งจอก หมาไน ชะมด อีเห็น พังพอน หมีขอ ฯลฯ ที่การแพร่และรับโรคอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายดาย

แม้น้องหมาเราจะไม่แสดงอาการ หรือมีการฉีดวัคซีนป้องกันไว้ตามกำหนด เพราะโรคร้ายอาจจะไม่ได้อยู่ในตัวน้องหมาโดยตรง แต่อาจส่งผ่านทางพาหะเล็กๆ อย่างยุง เห็บและหมัด ที่ป้องกันได้ยากกว่าหลายเท่านัก ส่วนโรคอื่นๆ ที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนอย่างโรคพิษสุนัขบ้าก็อาจจะน่าเป็นห่วงน้อยหน่อย

ตัวอย่างของโรคในสุนัขและสัตว์เลี้ยงที่คร่าชีวิตสัตว์ป่าจนน่าใจหายเกิดขึ้นมากมายในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วโลก โรคอันตรายอันดับต้นๆ จากสัตว์เลี้ยงสู่สัตว์ป่า คือ โรคไข้หัดสุนัข (Canine distemper) ซึ่งมีรายงานว่า เมื่อปี 1994 สิงโตกว่า 1,000 ตัว หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรสิงโตในอุทยานแห่งชาติซาเรงกิติ ประเทศแทนซาเนียต้องตายไปจากการติดเชื้อโรคหัดจากหมาบ้านและยังแพร่ไปติดฝูงสิงโตและไฮยีน่าไกลถึงประเทศเคนย่า นอกจากนั้นยังมีรายงานการติดเชื้อหัดจากหมาบ้านสู่สัตว์ป่าจนใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด เช่น ประชากรเฟอเร็ตตีนดำในอเมริกาเหนือ และฝูงนากใหญ่ในประเทศเปรู เป็นต้น

ถือเป็นความสูญเสียต่อทรัพยการสัตว์ป่าอย่างมาก เพราะแม้โรคไข้หัดสุนัขจะรุนแรงจนทำสัตว์ที่ติดเชื้อตายได้ในเวลาอันรวดเร็วจนอาจจะไม่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ดีนัก แต่มันก็สามารถฟักตัวและแพร่เชื้อได้ในสัตว์ที่เริ่มป่วย หรือแข็งแรงพอจะต้านทานโรคได้ในระยะหนึ่ง การแพร่เชื้อจะถูกส่งผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ฉี่ หรือ อึ แถมเมื่อแห้งแล้วยังสามารถปลิวไปแพร่กระจายในอากาศได้อีกด้วย ดังนั้น เวลาน้องหมาวิ่งไปดมโน่นนี่เขตของสัตว์ป่า จึงอาจแพร่โรคหรือติดโรคกลับมาบ้านได้ง่ายมาก ยิ่งถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างดีแล้วก็ถือว่าเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว
หมาและแมวอาจจะไม่ได้ร้านกาจขนาดไล่ล่าเก้งกวาง แต่นก แมลง หรือสัตว์ฟันแทะตัวเล็กๆ อาจตกเป็นเหยื่อได้ง่าย แม้ไม่ตายก็บาดเจ็บหรือเกิดความเครียดได้ การศึกษาในรพ.สัตว์ป่าของออสเตรเลียพบว่าสัตว์เฉพาะถิ่นจำนวนมากถูกฆ่าหรือบาดเจ็บจากการไล่ตะบบเล่นโดยหมาและแมว (news.nationalgeographic.com)
โรคพยาธิหนอนหัวใจ ถือว่าน่ากลัวเป็นอันดับถัดมาเพราะเป็นโรคที่มีพาหะเป็นยุงตัวร้าย และอันตรายที่สุดสำหรับน้องหมาในประเทศเขตร้อน เพราะมียุงบินอยู่ทุกที่ อีกทั้งยุงป่าก็มีเยอะและดุกว่ายุงบ้านเสียด้วย ในต่อมน้ำลายของยุงเป็นที่อยู่ของตัวอ่อนพยาธิ เมื่อยุงดูดเลือดสุนัขหรือสัตว์ป่าก็จะนำตัวอ่อนในระยะติดเชื้อแพร่ไปด้วย เมื่อตัวอ่อนพยาธิเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ก็จะกระดืบไปเติบโตในหัวใจห้องล่างขวา คอยดักกินเลือดและออกลูกหลานแพร่ตัวอ่อนไปตามกระแสเลือด คนรักหมารู้ดีว่าโรคนี้ถ้าเป็นแล้วรักษายาก มีค่าใช้จ่ายสูง และอาการของโรคอาจจะฟักตัวได้นาน 4-5 ปีกว่าจะแสดงอาการ

แต่สุดท้ายน้องหมาที่ติดเชื้อจะตายอย่างทุกข์ทรมานด้วยอาการเหนื่อยหอบ ไอแห้ง ไอปนเลือด ซึม ท้องมาน บวมน้ำจนถึงแก่ชีวิตอย่างทุรนทุราย เมื่อรักษาลำบากการป้องกันก็อาจะทำได้ง่ายกว่าแต่ก็ต้องใช้ความใส่ใจมาก เพราะต้องกินยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจติดต่อกันทุก 1 เดือน หรือฉีดยาทุก 2 เดือนตั้งแต่น้องหมาอายุ 3 เดือน ซึ่งคงจะน้อยคนที่ดูแลได้ดีขนาดนั้น การนำน้องหมาเข้าป่าที่เต็มไปด้วยยุงตัวโตเท่าแม่ไก่จึงถึงว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่คุ้มค่าความสนุกเลยสักนิด

เห็บและหมัดที่เกาะตัวน้องหมาไปจากบ้าน หรือกระโดดเกาะหมับจากพื้นป่าก็นำโรคร้ายได้เช่นกัน โรค เช่น โรคพยาธิเม็ดเลือดที่มีผลเสียกับอวัยวะภายในและทำให้เสียชีวิตได้และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เชื้อพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขที่สำคัญมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ เชื้อบาบีเซีย (Babesia) ที่สามารถติดเชื้อในเม็ดเลือดแดง รวมทั้งเชื้อเออลิเซีย (Ehrlichia) และ เฮปาโทซูน (Hepatozoon) ที่ติดเชื้อในเม็ดเลือดขาว

เชื้อบาบีเซียและเออลิเซียจะอยู่ในน้ำลายของเห็บ หมัด เมื่อสัตว์ถูกกัดก็จะปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด แตกต่างกับเฮปาโทซูนที่มักติดต่อโดยการบังเอิญกินเห็บหมัดเข้าไปโดยตรง แต่เชื้อทั้งหมดมักใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการกระจายตัวสู่อวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่เจ้าของจะทราบต่อเมื่อสัตว์เลี้ยงอาการหนักแล้ว คือ มีไข้ ซึม เลือดจาง ถ่ายปนเลือด เหงือกซีด มีจ้ำเลือด ม้ามโต ตับโต เกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งถึงแม้จะรักษาได้แต่ก็ต้องใช้เวลาติดตามและตรวจเลือดติดต่อกัน 6 เดือน ถึง 1 ปี เลยทีเดียว ถ้าติดเชื้อจากการไปเที่ยวป่าเพียงครั้งเดียวเจ้าของคงแทบคลั่ง แล้วลองนึกถึงสัตว์ป่าที่น้องหมาอาจจะนำโรคไปให้ถึงบ้านแล้วติดต่อกันโดยไม่มีคนรักษาจะเดือดร้อนทรมานกันขนาดไหน?

ที่นายปรี๊ดร่ายมายาวเหยียด ยังเป็นแค่โรคที่มักจะพบในน้องหมา ยังไม่รวมไปถึงโรคที่แพร่เชื้อโดยสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่หลายคนมักแอบนำเข้าไปเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติด้วย เช่น โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus: FIV) ที่แมวบ้านหน้าตาบ่องแบ้วสามารถแพร่เชื้อหรือรับเชื้อจากแมวป่าด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น ฉี่ น้ำลาย น้ำมูก ที่แปะเปื้อนไว้ตามใบไม้ ที่สำคัญคือ เจ้าของมักไม่รู้ตัวถ้ายังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นแล้วไม่มีทางรักษาให้หายได้ น้องแมวชะตาขาดก็เตรียมลาโลกสถานเดียว

แม้แต่วัณโรคสัตว์ซึ่งติดต่อได้ง่ายระหว่างสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กยอดนิยม เช่น กระต่าย แกสบี้ กระรอก ซูการ์ไกลเดอร์ ซึ่งแพร่กระจายโรคระหว่างสัตว์ด้วยกันเองอย่างรวดเร็ว อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ โรคที่เกิดจากพยาธิ Toxoplasmosis ที่ติดต่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้เกือบทุกชนิดรวมทั้งคนด้วย ซึ่งมักพบในแมวบ้าน แมวป่า เสือ และสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องอย่างซูการ์ไกลเดอร์ โดยมีกลไกการแพร่เชื้อด้วยการที่สัตว์จำพวกแมวกินสัตว์พาหะที่มีพยาธิฝังตัวเป็นก้อนซีสต์อยู่ตามกล้ามเนื้อเข้าไป เมื่ออึออกมาก็กระจายโรคได้ในระยะตัวอ่อน คนหรือสัตว์จึงสามารถที่ติดเชื้อจากการสัมผัสอึก้อนนั้นโดยตรง หรือแม้ไม่ได้ตั้งใจ เมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการปวดบวม สมองอักเสบ เป็นผื่นแดง โดยเฉพาะในคนพบว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกพิการหรือแท้งได้ นอกจากนั้นยังมีพยาธิในลำไส้ชนิดต่างๆ หวัดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่สัตว์เลี้ยงสามารถรับเชื้อมาจากป่า หรือนำเชื้อจากป่ากลับสู่เมืองได้ โดยผ่านน้องหมา น้องแมว นก หนู กระรอก กระต่าย งู กบ กิ้งก่า สารพัดสัตว์เลี้ยงสุดรักที่เรานำติดตัวไปด้วยเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ แต่อาจสร้างปัญหาให้กับสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าได้โดยไม่ตั้งใจ
เมล็ดมะกล่ำตาหนูเป็นพิษต่อสุนัข ทำให้อาเจียนรุนแรง ตัวร้อน และช็อกจนถึงตายได้ ในป่ายังมีพืช แมลง และสัตว์มีพิษอีกหลายชนิดที่แม้แต่คนยังอันตราย การนำหมาบ้านเข้าป่าจึงอาจทำให้ถึงตายได้จากความอยากรู้อยากเห็นของเจ้าตัวซน (aspca.org)
นอกจากโรคภัยไข้เจ็บ น้องหมา น้องแมว และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ยังอาจสร้างปัญหาให้สัตว์ป่าได้โดยสิ่งที่เรานึกไม่ถึง เช่น “กลิ่นตัว” ที่ถึงแม้เราจะอาบน้ำไดร์ขนไปอย่างเอี่ยมอ่อง แต่กลิ่นของน้องหมาไม่ใช่กลิ่นที่คุ้นเคยของสัตว์ป่า มีการทดลองยันยืนเรื่องผลกระทบของกลิ่นจากน้องหมาที่ทำร้ายสัตว์ป่าทางอ้อมในสวนสาธารณะติดชายป่าของรัฐโคโรลาโด โดยพบว่ากระต่ายป่า กระรอกดิน แพรี่ดอก และกวาง มักหลีกเลี่ยงเส้นทางที่น้องหมาเดินผ่านแม้จะไม่ได้ยินเสียงเห่า หรือน้องหมาไม่ได้วิ่งไล่ (เพราะอยู่ในสายจูง) ก็ตาม ในทางกลับกันแมวป่าบ็อบแคท จิ้งจอกแดง และหมาป่าโคโยตีจะเริ่มขยับตัวเข้ามาใกล้เส้นทางนั้นมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสจะเกิดการทำร้ายกันในระยะประชิด หากน้องหมาหลุดจากสายจูงไปได้

ปรากฏการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 แต่ฟังดูแล้วน่าเวทนาเกิดขึ้นที่เขตชีวมณฑล ซานตาโรซา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีลักษณะเป็นที่ราบสูงคล้ายภูกระดึง ซึ่งในฤดูแล้งจะมีแหล่งน้ำ โดยพบว่าน้องหมาที่เดินป่าจนเหนื่อยมักกระโดดลงไปเล่นน้ำในที่มีเพียงไม่กี่แอ่ง ทำให้น้ำขุ่นและปล่อยกลิ่นไว้จนสัตว์ป่าไม่กล้าลงมากินน้ำเป็นอาทิตย์ๆ จนในปัจจุบันเขตชีวมณฑลแห่งนี้ไม่อนุญาตให้นำสุนัขเข้าไป เพื่อป้องกันผลกระทบจากเรื่องเล็กที่อาจทำให้เกิดความเสียหายใหญ่ตามมา ข้อควรคำนึงข้อสุดท้ายคือการพลัดหลง หรือการหลุดจากความควบคุมที่อาจะก่อปัญหาใหญ่ได้ เพราะน้องหมาอาจจะไปรบกวนลูกสัตว์ รังนก แมลง หรือพืชที่เราอาจจะไม่รู้เลยว่าอาจจะเป็นชนิดพันธุ์หายาก หรือมีประชากรอยู่น้อยนิด มีรายงานในออสเตรเลียว่าเพียงการเห่าหรือไล่ตะปบของหมาบ้านก็อาจทำให้นกป่าบางชนิดทิ้งรัง และไม่ออกยอมออกไข่ตลอดฤดูกาล นั่นยังไม่นับสัตว์หรือพืชมีพิษที่อาจทำให้น้องหมาจอมซนน้ำลายฟูมปาก ช็อกหมดสติได้แบบเจ้าของไม่ทันได้รู้ตัว

ในบ้านเรานายปรี๊ดยังไม่ค่อยเห็นงานวิจัยในเรื่องนี้มากนัก ถ้ามีก็มักจะเกี่ยวข้องกับโรคที่สามารถติดต่อในสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น วัณโรค โรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย ซึ่งแพร่จากวัวควายที่เลี้ยงปล่อยตามชายป่า สู่สัตว์ป่าหายาก อย่าง ช้าง กระทิง วัวแดง เป็นต้น ดังนั้น การที่ไม่เคยมีใครพูดหรือเขียนรายงานมาก่อน ไม่ได้แปลว่าไม่เคยมีเหตุการณ์แพร่เชื้อระหว่างสัตว์ป่าสู่สัตว์บ้าน หรือนำโรคจากเมืองไปแพร่ในป่าเกิดขึ้น แต่อาจจะหมายถึงยังไม่มีการวิจัยหรือการตรวจพิสูจน์ซากอย่างจริงจังมาก่อนก็ได้

ในหลายประเทศ มีการตรวจพิสูจน์และสืบประวัติจากซากสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นระบบ หากตรวจพบก็มีการแก้ปัญหา เช่น ฉีดวัคซีน หรือคลุกวัคซีนกับอาหารเพื่อโปรยให้สัตว์ป่ามีภูมิคุ้มกันโรคที่พบ หรือใช้เหยื่อล่อให้สัตว์ป่ามากินเพื่อตรวจสอบโรคที่แฝงเร้นอยู่จากน้ำลายเพื่อการป้องกันและยับยั้งการระบาดอย่างเป็นระบบ ในบ้านเราจะคาดหวังให้ศึกษาขนาดนั้นก็คงยาก เพราะจำกัดด้วยทุนทรัพย์และกำลังคน หรือมีเรื่องสำคัญกว่าต้องดำเนินการก่อน การป้องกันสัตว์เลี้ยง และช่วยเหลือสัตว์ป่าด้วยวิธีที่เราทำได้ด้วยตนเอง คือ “งดเว้นการนำสัตว์เลี้ยงเข้าอุทยานฯ หรือแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ” จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ประหยัด และป้องกันปัญหาได้แบบพอเพียงและเจ๋งสุดๆ

หมาใครๆ ก็รัก...เมื่อเจอสายตาอ้อนวอนก่อนเดินออกประตูบ้านก็มักอดใจอ่อนไม่ได้ แต่หากคิดว่าถ้าพาน้องหมาหรือสัตว์เลี้ยงตัวไหนก็ตามออกนอกบ้านแล้วป้องกันเรื่องร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ยาก หรืออาจนำโรคภัยไปสู่สัตว์ป่าที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ บางทีการวางกระเป๋าแล้วนอนกอดหมาอยู่บ้าน หรือหาที่เที่ยวที่เหมาะสม...ดีกว่าพอน้องหมาไปทำป่าแตก ซึ่งอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาทั้งคนทั้งหมาได้อย่างสบายใจที่สุด...นายปรี๊ดมั่นใจ!

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น