วันที่ 21/12/12 แม้จะเป็นวันสิ้นสุดปฏิทินมายา แต่ก็ใช่ว่าจะกลายเป็นวันสิ้นโลกเสมอไป ทว่า หากจะมีเหตุการณ์ใดๆ ส่งผลต่อโลก จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแท้จริงนั้น อาจเป็นผลมาจากกิจกรรมภายใน ลองมาตรวจสุขภาพโลกในรอบปีที่ผ่านมา ว่าดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่เราอาศัยอยู่นี้ ประสบชะตากรรมขนาดไหนกันแล้ว
ทั้งการครบรอบวัฏจักรสุริยะ ส่งผลให้ดวงอาทิตย์ตื่นตัวมากขึ้น และจะถึงจุดสูงสุดของกิจกรรมทางแม่เหล็กในปี 2013 และพายุสุริยะที่รุนแรงขึ้นปี 2012 นี้ รวมถึงความหวั่นวิตกว่าจะมีดาวเคราะห์ หรือวัตถุอวกาศเฉียดพุ่งชนโลก เหล่านี้ถูกผสมปนเปเข้ากับช่วงเวลาของวันสิ้นปฏิทินมายาในวันที่ 21 ธันวาคม 2012 (21/12/12)
ปัจจัยจากด้านนอกที่จะทำให้โลกสูญสลายไปนั้น มีโอกาสเป็นไปได้ โดยมีการมอนิเตอร์ตรวจตราจากหน่วยงานสำคัญทั่วโลก ซึ่งยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะปรากฏในเวลาอันใกล้นี้
แต่ปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น นับวันยิ่งทวีคูณ โดยเฉพาะมลพิษชนิดต่างๆ ที่มนุษย์เราเร่งเร้าให้เกิดมากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อสภาพดินฟ้าอากาศ สุขภาวะสภาพของโลก
ก่อนที่โลกจะสลาย เราลองไปเช็คสุขภาพโลกสีน้ำเงินของเราว่ามีสภาพเป็นอย่างไรกันบ้าง...
ร้อนทุบสถิติทุกปี
สถิตินี้ทุกคนอาจจะเริ่มคาดเดาได้แล้ว สิ้นปีทีไรเราจะได้รับข่าวว่าปีนี้ร้อนที่สุดในรอบ 10 ปี (แม้ตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยของปี 2012 จะยังไม่ออกมา) เพราะขณะนี้เรากำลังเข้าสู่หน้าหนาว (ในทางทฤษฎี) แต่ก็ยังคงมีฝนและความร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง
สภาพการณ์ทั่วโลก ที่หน้าหนาวมีหิมะลดน้อยลง สังเกตได้จากธุรกิจสกีรีสอร์ตที่ปีนี้เติบโตในอัตราไม่ถึง 1% พื้นที่น้ำแข็งขั้วโลกหดหาย ฤดูหนาวอุณหภูมิไม่ถึงจุดเยือกแข็งขนาดจะทำให้เกิดหิมะ ความแห้งแล้งกระจายตัว ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) รายงานสภาพอากาศปี 2012 เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ว่า แม้ปีนี้จะมีลานีญา (La Nina) ที่ทำให้เราเย็นขึ้นเมื่อต้นปี แต่กลับกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบสิบปี
WMO เผยว่า อุณหภูมิโลกสูงขึ้นหลังจากมีความเย็นในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะการแกว่งของสภาพภูมิอากาศ อันมีผลมาจากลานีญา รวมถึงคลื่นความร้อนในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2012 ในทวีปอเมริกา สูงกว่าที่เคยบันทึกไว้
ผู้แทนจาก 200 ประเทศกำลังเข้าร่วมประชุมที่โดฮา ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ เพื่อหาหนทางชะลอภาวะภูมิอากาศผันผวน รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเป็นเหตุให้โลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ทำให้รูปแบบของฝนเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้ง
น้ำแข็งขั้วโลกละลายเข้าขั้น “อันตราย”
ทว่า ในบรรดาเหตุการณ์ภูมิอากาศที่ดูแย่ลงในรอบปี 2012 นี้ นักวิทยาศาสตร์มองว่าสิ่งที่จะนำไปสู่หายนะก็คือ การสูญเสียแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ ซึ่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งสหรัฐฯ (US Snow and Ice Data Center) วัดพื้นที่น้ำแข็งในทะเลอาร์คติกได้ 3.41 ล้านตารางกิโลเมตร หายไปจากเดิมที่เคยบันทึกไว้ล่าสุดในปี 2007 ถึง 18% และเหลือน้อยที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 1979
จากข้อมูลดังกล่าว แบบจำลองคอมพิวเตอร์ได้ทำนายว่า อาร์คติกจะเป็นพื้นที่ปลอดน้ำแข็งภายในปี 2050 ทว่าอาจจะเร็วกว่านั้น เพราะน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วกว่าที่คอมพิวเตอร์ได้คำณวนไว้ อีกทั้งไม่มีทีท่าว่าจะหยุด บางทีน้ำแข็งขั้วโลกอาจจะหมดเกลี้ยงภายในสิ้นทศวรรษนี้ (2020) ก็เป็นได้
พายุหมุนรุนแรง
พายุหมุนในเขตต่างๆ เกิดขึ้นตามปกติทั่วโลก แต่มาในระยะหลัง มีเพิ่มขึ้น อย่างที่มหาสมุทรแอตแลนติกปีนี้ มีมากเกินปกติ ซึ่งตลอดฤดูเฮอร์ริเคน มีแบบรุนแรงถึง 10 ลูก รวมถึงแซนดี้ (Sandy) ที่เข้าถล่มทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 250 ราย และเกิดน้ำท่วมฉับพลันไปถึงมหานครนิวยอร์กซิตี้ ผู้คนกว่า 8 ล้านคน ต้องอยู่โดยไร้ไฟฟ้า แม้จะเป็นเฮอริเคนระดับ 2 แต่ก็สร้างความเสียหาย 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดของปีในแถบแอตแลนติก
ทางฟากมหาสมุทรแปซิฟิกบ้านเรา ปีนี้มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นจำนวน 34 ลูก เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น 4 ลูก ที่รุนแรงที่สุด คือ “ซันปา” (Sanba) เข้าถล่มฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม ประชาชนหลายพันเดือดร้อน ผลจากพายุทั้งเบาหนักในแถบแปซิฟิกตลอดปี คร่าชีวิตผู้คนราว 1,550 ชีวิต และสร้างความเสียหาย 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แผ่นดินไหว-สึนามิ ยังไม่น่ากังวล
นับถึงกลางเดือนธันวาคมนี้ มีแผ่นดินไหวตลอดปีเกิดขึ้นแล้ว 1,450 ครั้ง เป็นแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไป 15 ครั้ง ขนาด 4-6 ประมาณ 1,400 ครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบปี 2012 คือ เมื่อเดือนเมษายนที่จังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย มีขนาด 8.6 ส่วนที่คร่าชีวิตมากที่สุดคือเกิดเมื่อเดือนสิงหาคม ทางตะวันออกของอาเซอร์ไบจาน อิหร่าน ขนาด 6.4 มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ราย
เรื่องปริมาณแผ่นดินไหว เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ อาจฟังดูเป็นข่าวดี เพราะปีนี้เกิดขึ้นน้อยกว่าในปี 2005-2011 ที่มีค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 ครั้ง โดยจะเกิดขนาด 7 ขึ้นไปประมาณปีละ 17 ครั้ง
อย่างไรก็ดี แผ่นดินไหว ปัจจุบันไม่ได้ถี่ขึ้น แต่เพราะมีการรายงานและจับตามากขึ้น ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ทว่า ในน้อยครั้งนี้ หากเกิดในมหาสมุทรก็จะมีความเป็นห่วงว่า จะมีสึนามิตามมาหรือไม่ และหลายครั้งก็มีการเตือนสึนามิซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมมากขึ้น หลังประสบการณ์จากสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2004 ทางตอนใต้ของประเทศไทย ที่คร่าชีวิตและทำให้เกิดความสูญเสียมากที่สุด
พื้นที่แห้งแล้ง ขยายตัวขนาดใหญ่
ภัยแล้งเข้าโจมตีสหรัฐฯ รัสเซีย บางส่วนของจีน ตอนเหนือของบราซิล ขณะที่ไนจีเรียเกิดน้ำท่วมอย่างผิดปกติ ส่วนทางตอนใต้ของจีนเกิดฝนตกหนักที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ
ความแห้งแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่คลืบคลานมาอย่างช้าๆ ซึ่งปกติเราสามารถสังเกตและรับมือได้ แต่ที่เกิดกับไร่ข้าวโพดในสหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางปี นับเป็นบันทึกหน้าใหม่ ซึ่งพื้นที่ 3 ใน 4 ของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ “แห้งแล้ง” อย่างรุนแรง ผลผลิตข้าวโพดในสหรัฐฯ ลดลงจากเดิมถึง 25% ขณะที่ถั่วเหลืองให้ผลผลิตลดลง 14% ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2,500 เขตทั่วประเทศก็เผชิญภัยพิบัติเดียวกันนี้
นั่นหมายความว่า ในปีหน้า (2013) ราคาอาหารค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น 3-4% นี่คือ ผลกระทบโดยตรงต่อปากท้องในชีวิตประจำวัน อันเป็นผลมาจากภูมิอากาศผันผวน
คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศพุ่งสูง
เป็นที่น่ายินดีในระหว่างที่เราชาวโลกมีความพยายามจะลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ปริมาณก๊าซดังกล่าวกลับสูงขึ้นกว่าเดิม ช่างสวนทางกับความตั้งใจที่เกิดขึ้น
รายงานผลการคำนวณตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ไคลเมตเชนจ์ (Nature Climate Change) ระบุว่า ปี 2011 ทั่วโลกช่วยกันเติมคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในชั้นบรรยากาศถึง 3.8 หมื่นล้านตัน ผ่านการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน และน้ำมัน ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 1 พันล้านตัน
ขณะที่ผลการศึกษาล่าสุดของปีนี้ กลับชี้ว่า ในทุก 1 วินาทีมีคาร์บอนไดออกไซด์ได้พุ่งสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 900,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 3%
ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซที่เก็บกักอุณหภูมิความร้อนมีมากในชั้นบรรยากาศขนาดนี้ และจะอยู่ยาวไปนับศตวรรษ ทำให้เป้าหมายที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่กำหนดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศา (จากปี 1900) อาจเป็นไปไม่ได้ ในสายตานักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ปี 1977 ประเทศส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนสนธิสัญญาที่เราคุ้นชื่อกันดีว่า “พิธีสารเกียวโต” (Kyoto Protocol) โดยมีจุดประสงค์ให้ชาติที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลง 5% เมื่อเทียบกับปี 1990 แต่ไม่ได้บังคับใช้กับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่าง จีนและอินเดีย จึงทำให้สหรัฐฯ ไม่ให้ความร่วมมือดังกล่าว และก็ยังคงมีความพยายามเจรจาหาหนทางต่อไป
ทว่า พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2012 นี้แล้ว พร้อมกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับปี 1990
คิดดูว่า โลกเราต้องเผชิญกับสภาพที่ย่ำแย่ขนาดไหน ทั้งสภาพอากาศ พื้นดิน พื้นน้ำที่กลายเป็นพิษ ถ้าวันนี้ยังมี 22 ธันวาคม 2012 โดยผ่านพ้นวันสิ้นโลกที่หลายคนหวาดหวั่นไปได้ด้วยดี อาจมีคำนายถึงหายนะของโลกครั้งใหม่ด้วยปัจจัยแปลกๆ มาให้เราถกเกียงกังขา (หรือลุ้น?) กันอยู่อีกเนืองๆ
แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิต เป็นที่ประจักษ์รับรู้ถึงความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ยังคงท้าทาย ให้เราช่วยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทุเลาปัญหาอยู่ทุกเมื่อ