หลายคนอาจท้อแท้ใจกับปัญหาบ้านเมืองที่หลายอย่างกลับหัวกลับหาง เรื่องดีถูกตีให้เป็นเรื่องแย่ ส่วนเรื่องแย่ๆ ถูกตีให้เป็นเรื่องยอมรับได้ และเมื่อถอยออกมาจากเรื่องการเมืองน่าปวดหัว ตอนนี้ดาวเคราะห์แม่ของเราก็กำลังย่ำแย่และต้องการความช่วยเหลือจากเราทุกคน
ไลฟ์ไซน์รวบรวม 7 ข้อเรียกร้องโลกที่กำลังย่ำแย่ของเรา
1.ปกป้องสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะสูญพันธุ์
ตอนนี้โลกของเรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตการสูญพันธุ์จำนวนมหาศาล และเป็นจำนวนมากที่สุดนับแต่การสูญสิ้นไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ซึ่งอ้างตามหลายๆ ผลการศึกษา และจากรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) หรือ WWF ระบุว่านับแต่ทศวรรษที่ 1970 ระดับความหลากหลายทางชีวภาพของโลกก็ลดลงถึง 30% ด้านโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program) ประเมินว่า มีสิ่งมีชีวิต 150-200 สปีชีส์สูญพันธุ์ทุกวัน ซึ่งคิดเป็น 10-100 เท่าของอัตราการศูยฑันธุ์ตามธรรมชาติ
หนึ่งในปัญหาที่ไลฟ์ไซน์ ชี้ว่า สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ต้องเผชิญโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนานั้น คือ การล่าสัตว์ และยิ่งมีแรงกระตุ้นจากความต้องการชิ้นส่วนของสัตว์เพื่อการรักษาทางการแพทย์ตามวิถีดั้งเดิมในบางพื้นที่ของเอเชีย ยิ่งขับให้การล่าสัตว์ รวมไปถึงการจับสัตว์เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
เฉพาะปี 2012 มีแรดในแอฟริกาใต้ถูกฆ่าตายไป 633 ตัว ตามที่อ้างในรายงานของรอยเตอร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2011 ที่มีแรกถูกฆ่า 448 ตัว และเมื่อเพิ่มทวีคูณจากปี 2007 ที่มีแรกถูกฆ่าตาย 13 ตัว การล่าสัตว์ถูกบ่งชี้ว่าเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงแรดชวาชนิดย่อยในเวียดนามที่สูญพันธุ์ไปเมื่อปี 2010
ไลฟ์ไซน์ ระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะจับตาดูสัตว์อื่นและต้นไม้ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่มนุษย์เราก็คือ “สัตว์” ผู้อยู่ในโลกอันสมบุรณ์พร้อมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แม้ว่าทุกวันนี้รอบตัวเราจะเต็มไปด้วยเมืองและห่างไกลจากป่าและสัตว์ป่าส่วนใหญ่ แต่คนเรายังต้องพึ่งต้นไม้และสัตว์ป่าเพื่ออยู่รอด เพราะท้ายที่สุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพก็ย้อนกลับมาทิ่มแทงเรา ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของโยงใยแห่งชีวิตสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะ ซึ่งไม่มีใครแทนที่ได้หากสิ่งมีชีวิตใดสูญพันธุ์ไป และจะนำไปสู่ระบบนิเวศที่ให้ผลิตผลน้อยลง ซึ่งมนุษย์ผู้ตักตวงผลประโยชน์จากธรรมชาติก็จะรับผลกระทบในทางลบด้วย
2.ปกป้องป่าฝน
ป่าฝนเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญต่อการมีชีวิตของพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ต่างๆ สัตว์ที่อาศัยอยู่บนโลกส่วนใหญ่ไม่ได้ใหญ่โตและเป็นสิ่งที่มีชีวิตพิเศษเหมือนช้างและเสือที่มักมีบทบาทสำคัญกับป่า แต่ส่วนใหญ่เป็นสัตว์จำพวกอาร์โทพอด (Arthropod) หรือกลุ่มแมลง แมงมุมและสัตว์ขาปล้องที่มีเปลือกแข็งหุ้มร่างกาย อาร์โทพอดเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก และสร้างบทบาทที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ตั้งแต่การกินมูลสัตว์ไปถึงดอกไม้ที่ปนเปื้อนสารพิษ
ป่าฝนยังมีพืชที่ช่วยชีวิตมนุษย์ได้ โดยสารเคมีจากพืชเหล่านั้นได้ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นยารักษาโรค ซึ่งรวมถึงยาควินินสำหรับรักษาโรคมาลาเรียที่ได้จากต้นซิงโคนา (cinchona) ในป่าอะเมซอน ซึ่งไลฟ์ไซน์ชี้ว่าเป็นเรื่องน่าอับอายที่จะสูญเสียความอุดมสมบูรณ์เหล่านั้นไปก่อนที่เราจะค้นพบ
ป่าฝนยังเป็นแหล่งแจกจ่ายออกซิเจนขนาดใหญ่ให้แก่โลก แต่ถึงอย่างนั้นตั้งแต่ปี 2010-2012 ป่าฝนอะมเมซอนกว่า 240,000 ตารางกิโลเมตรถูกทำลายไป ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ราวๆ กับขนาดพื้นที่ของสหราชอาณาจักร
3.ปกป้องพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ไลฟ์ไซน์ ระบุว่า ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่ถูกสร้างมาให้มีความเท่าเทียมกัน บางพื้นที่เราไม่ควรเข้าไปรบกวน อย่างพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ พื้นที่ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตที่ไม่พบที่ไหนอีกแล้ว พื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ
ตัวอย่างพื้นที่ซึ่งเราควรใส่ใจ (แต่ไม่เข้าไปรบกวน) เช่น เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งไม่มีพื้นที่ใดในโลกอีกแล้วที่มีลักษณะเช่นนี้ เพราะเป็นแหล่งอาศัยเดียวของลิงลีเมอร์และสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะ หากแต่ป่าและทุ่งหญ้าของเกาะแห่งชายฝั่งแอฟริกานี้กำลังถูกทำลายลงอย่างฉับพลัน โดยมาดากัสการ์ได้สูญเสียพื้นที่ป่าอย่างน้อย 90% ของพื้นที่ป่าเิมที่ปกคลุมประเทศ
ส่วนอีกแหล่งที่มีค่ายิ่ง คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดบนโลก แต่ก็ถูกคุกคามการตัดไม้ทำลายป่าและการพัฒนา พื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายในระดับที่การเข้าไปสำรวจเพียงครั้งเดียวเมื่อเร็วๆ นี้ พบสิ่งมีชีวิตมากกว่า 300 สปีชีส์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ตามการจำแนกทางวิทยาศาสตร์อย่างฉลามใต้ทะเลลึกที่พองตัวได้เมื่อตกใจ แต่สิ่งมีชีวิตชนิดนี้กำลังตกอยู่ในอันตรายจากจากกิจกรรมของมนุษย์ ขณะที่สิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นๆ ในพื้นที่ดังกล่าวและในพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอื่นกำลังจะสูญพันธุ์ก่อนที่เราจะค้นพบ
4.ลดก๊าซเรือนกระจกและจำกัดการเปลี่ยนแปลงภูมอากาศ
มนุษย์คือตัวการในการปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศ ทั้งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทนและก๊าซกักความร้อนอื่นๆ สู่ชั้นบรรยากาศ และนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศหลายคนได้ประเมินว่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศต้องถูกจำกัดไว้แค่ 350 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) เพื่อเลี่ยงผลกระทบอันเลวร้ายที่สุดจากการกระตุ้นของมนุษยื อย่างอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น คลื่นความร้อนและความแห้งแล้งที่เกิดถี่ขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ที่ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้
หากแต่ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศปัจจุบันอยู่ที่ 393 พีพีเอ็ม และกำลังเพิ่มขึ้น 2 พีพีเอ็มทุกปี โดยอ้างอิงตามข้อมูลจากหอดูดาวมัวนาคี (Mauna Loa Observatory) ในฮาวาย และเพื่อเบี่ยงเบนผลกระทบที่แย่ที่สุดจากภาวะโลกร้อน มนุษย์เราต้องหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราอาจต้องหันกลับไปมองพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมหรือพลังงานความร้อนจากใต้พื้นพิภพ
ผลกระทบแย่ที่สุดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นเห็นได้ในอาร์กติกและแอนตาร์กติกา ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ขั้วโลกขยายตัว” (polar amplification) โดยหลายๆ พื้นที่ทั่วอาร์กติกนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.7 องศาเซลเซียสแล้วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งร้อนขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลกและยังเป็นพื้นที่ซึ่งรองรับผลกระทบทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นก่อนใคร อีกทั้งขั้วโลกยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์พิเศษอย่างหมีขั้วโลกและเพนกวิน ซึ่งล้วนไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
ไม่ต้องพูดถึงความจริงที่ว่าพื้นที่เหล่านั้นกักเก็บน้ำแข็งที่หากละลายไป ย่อมทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ที่ปัจจุบันเป็นเขตเมืองต้องจมอยู่ใต้น้ำ และถึงแม้น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายไม่หมด แต่ก็เป็นสาเหตุให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นได้มาก
5.จำกัดขอบเขตมลพิษทางน้ำ
หลายพื้นที่ในโลกทั้งจีน บางส่วนของเอเชีย และแอฟริกา ต่างมีปัญหามลพิษทางน้ำ ซึ่งนอกจากปัญหามลพิษปนเปื้อนในน้ำดื่มแล้ว มลพิษจากการเกษตรก็ไหลไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม สุดท้ายเมื่อไหลลงสู่ทะเลมหาสมุทรจะทำให้เกิด “เขตมรณะ” (dead zone) ซึ่งสาหร่ายจะเจริญเติบโตได้ดีและใช้ออกซิเจนในพื้นที่ดังกล่าวไปจนหมด ทำให้สัตว์อื่นในระแวกนั้นที่ต้องการออกซิเจนด้วยตายหมด
ในอ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) นั้น พื้นที่เขตมรณะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และตอนนี้กินพื้นที่เท่าๆ กับพื้นที่ของรัฐนิวเจอร์ซีแล้ว มลพิษทางน้ำยังเป็นสาเหตุของโรคในปะการัง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แนวปะการังอันเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดลดลงด้วย
6.บริหารการทำประมงให้ดีกว่านี้และควบคุมการล่าฉลามเอาครีบ
เทคนิคการทำประมงพาณิชย์ทุกวันนี้ทำให้มีปลาตายเป็นจำนวนมากเกินไป และยังมีเต่าทะเลกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลอื่นๆ อีกที่ตกเป็นเหยื่อการทำประมงเกินขนาด ซึ่งบ่อยครั้งที่สัตว์เปล่านั้นไม่เป็นที่ต้องการของชาวประมง สิ่งที่แย่ที่สุดของเทคนิคสมัยใหม่คือการใช้ตาข่ายขนาดใหญ่ ทั้งอวนลาก และอวนลอย ซึ่งจับทุกสัตว์ตัวที่อยู่ในเส้นทางลากอวน
อีกการทำประทงแย่ๆ คือ การทำเบ็ดราว (long line fishing) ที่เบ็ดนับร้อยนับพันถูกวางเพื่อใช้ตกปลาอยู่ใต้เรือ โดยเฉลี่ยของเบ็ดราวในอ่าวเม็กซิโกยาวถึง 48 กิโลเมตร และมีปลาทูน่ากับปลากระโทงแทงดาบมากกว่าครึ่งที่ถูกจับขึ้นมาจากวิธีนี้ถูกโยนกลับลงทะเล และส่วนใหญ่ก็ไม่รอด
นอกจากนี้ การล่าฉลามก็เพิ่มขึ้นอย่างมากมหาศาลตามความต้องการซุปหูฉลามที่เพิ่มขึ้นจากจีน โดยแต่ละปีมีฉลามถึง 73 ล้านตัวถูกฆ่า เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว หากแต่ระบบนิเวศของมหาสมุทรจำเป็นต้องมีผู้ล่าเหล่านี้เพื่อควบคุมห่วงโซ่อาหารให้อยู่ในสมดุล
7.บริโภคให้น้อยลง
สิ่งสุดท้ายง่ายๆ ที่เราจะทำเพื่อโลกของเราได้ คือ บริโภคให้น้อยลง ไลฟ์ไซน์เน้นย้ำเน้นไปที่ชาวอเมริกันซึ่งแม้จะใช้พลังงานและน้ำน้อยลง พวกเขาก็ยังคงมีชีวิตรอดต่อไปได้ “การใช้ซ้ำ” (Reuse) ของใช้ต่างๆ ก็เป็นอีกวิธีที่ดี ซึ่งอาจเริ่มจากการใช้ถุงชอปปิงซ้ำๆ ซึ่งจะช่วยลดความต้องการใช้พลาสติกและกระดาษลงได้ และของใช้หลายอย่างไม่จำเป็นต้องถูกทิ้งเพียงเพราะตกรุ่นแล้ว และการศึกษาไม่นานนี้พบว่าของใช้จำนวนมากถูกทิ้งทั้งที่ยังใช้งานได้ดีอยู่
อีกทางเลือกคือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการผลิตและเลือกซื้อรถที่ดีกว่าเดิม อย่างการใช้รถยนต์ไฮบริด หรือรถพลังงานไฟฟ้าซึ่งอาศัยพลังงานหมุนเวียนในการขับเคลื่อน หรือปิดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน นอกจากนี้การใช้พลาสติกให้น้อยลงก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะตอนนี้มีพลาสติกอยู่ทั่วทุกมุมโลก กระทั่งในมหาสมุทรแปซิฟิกและก้นมหาสมุทรอาร์กติกก็ยังพบลาสติกจำนวนมาก
สิ่งที่ต้องเข้าใจคือทรัพยากรบนโลกไม่ใช่มีอยู่ไม่จำกัด และหากเราไม่ตระหนักในเรื่องเหล่านี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลายจะยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก