xs
xsm
sm
md
lg

รวมใจภักดิ์เทิดพระเกียรติในหลวง ปลูก “มเหสักข์-สักสยามินทร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการ “รวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นอกจากเป็นการเทิดพระเกียรติ และแสดงความจงรักภักดี ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระชนมายุ ๘๔ พรรษา ยังเป็นการสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชของประเทศให้ยั่งยืน
ข้อสำคัญ จะเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ทั้งได้ความร่มรื่นและทำให้เกิดฝนตกสม่ำเสมอตามฤดูกาลจากการที่มีพื้นป่าไม้เพิ่มก็จะดูดซับคาร์บอนด์มากขึ้น
กล้าสัก สักไว้บนแผ่นดิน
เป้าหมายของโครงการฯ กับสิ่งที่คาดไว้ คือ ได้ต้นไม้สักพันธุ์ดี สายพันธุ์ มเหสักข์ และสักสยามินทร์ จำนวน 8,400,000 ต้น (คิดเป็นพื้นที่ปลูก 84,000 ไร่ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ) โดยมีมูลค่าเมื่ออายุ 15 ปี ไม่ต่ำกว่า 84,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยมูลค่าไม้สักไม่ต่ำกว่า 12 ล้านบาท ต่อตำบล เนื่องจากไม้สักสองสายพันธุ์นี้โตเร็ว สามารถดูดซับคาร์บอนด์ได้ไม่ต่ำกว่า 210,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 65 ล้านบาทต่อปี
สักใหญ่ที่สุดในโลก วัดรอบลำต้นกว่า 10 เมตร
สำหรับในปีนี้ มูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของต้นกล้า “มเหสักข์-สักสยามินทร์” (ต้นสักที่มีอายุยืนที่สุดในโลก) ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ (ไม่รวมที่ทำการไปรษณีย์ของเอกชน) จำนวน500,000คู่ คู่ละ368บาท (รวมค่าจัดส่งแล้ว) รายได้เข้า มูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มูลนิธิ อพ.สธ.)
กล้าสัก สนับสนุนได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์
โดยผู้สนับสนุนจะได้รับต้นกล้าภายใน 15 วัน หลังจากวันที่สั่งจองและชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนจะได้ต้นกล้าที่จัดส่งมาให้เป็นของกำนัล หรือ ปลูกไว้เองเพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงการร่วมอนุรักษ์ต้นมเหสักข์-สักสยามินทร์ ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป และหากผู้ใดไม่สะดวกในการปลูกเอง หรือไม่มีพื้นที่ปลูก ก็สามารถมอบหมายให้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ. ) เป็นผู้ดำเนินการปลูกแทนได้
พรชัย จุฬามาศ
อพ.สธ. ประสานมือ “อนุรักษ์พันธุกรรมพืช”
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ. ) มีพันธกิจในการปกปักพันธุกรรมพืช การสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช การปลูกรักษาพันธุกรรมพืช การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช โดยมีศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช และได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
พรชัย จุฬามาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาการเกษตรทรงคุณวุฒิ และ รองผู้อำนวยการ อพ.สธ. เล่าถึง แนวทางการดำเนินงานที่จะมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนองพระราชดำริ ว่ามีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา ทั้งหมดล้วนมุ่งหมายการดำเนินกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของไทยไม่ให้สูญหาย
“สำหรับศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่ มีหน่วยปฏิบัติงานด้านต่างๆ คือ หน่วยปฎิบัติการเมล็ดพันธุ์พืช หน่วยปฎิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และหน่วยปฎิบัติการชีวโมเลกุลพืช ทั้งหมดเป็นหน่วยปฏิบัติงานตามภารกิจและวัตถุประสงค์โครงการฯ”

เมื่อปี 2548 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งให้อนุรักษ์พืชพรรณและทำDNA Fingerprintอพ.สธ.ได้ดำเนินการตามที่ทรงมีรับสั่ง ทำDNA Fingerprintพืชพรรณต่างๆ และจากต้นสักที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีอายุมากกว่า1,500 ปี ปัจจุบันต้นสักนี้ สูง 47 เมตร วัดรอบต้นได้ประมาณ 10 เมตร อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์อันอุดม ในวนอุทยานสักใหญ่ บ้านปางเกลือ ตำบลน้ำไคร้ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
ตั้งแต่นั้น อพ.สธ. จึงทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อกระจายพันธุ์ต้นกล้าสักให้เป็นที่แพร่หลายในระบบนิเวศน์ ต่อมา อพ.สธ.ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อขอพระราชทานนามสักใหญ่ดังกล่าว ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “มเหสักข์” เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อพสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552
ส่วน “สักสยามินทร์” เป็นสายพันธุ์ต้นสักที่หน่วยปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชได้ทำการขยาย พันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเมื่อตรวจสอบ DNA Fingerprint ปรากฎว่าสักสยามินทร์มี DNAFingerprint ของมเหสักข์มากกว่า ๕๐% จึงเชื่อกันว่าสักสยามินทร์ เป็นลูกของมเหสักข์

จับตา คาร์บอนเครดิต “ต้นสัก”
แม้ว่า “คาร์บอนเครดิต” เป็นสินค้าที่มากด้วยเงื่อนไขทางวิชาการ เทคโนโลยี และการติดต่อกับต่างประเทศ จนกระทั่งชาวบ้านตาดำๆ แทบไม่มีโอกาสสัมผัสจับต้องธุรกิจชนิดนี้ได้เลย แต่ศูนย์การเรียนรู้อินแปงตำบลบ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ก็ถือว่าเป็นกลุ่มชาวบ้านตาดำๆ รายแรกของไทยที่เข้าสู่กระบวนการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เป็นรายแรกของไทย
ชาวบ้านที่ศูนย์ฯ อินแปง ปลูกต้นสักไว้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าชุมชน ไม่ตัดขาย โดยธรรมชาติต้นไม้ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ล่องลอยเจือปนอยู่ในอากาศมาในกระบวนการเจริญเติบโต และคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านั้นก็จะถูกนำมาเก็บกักไว้ในรูปของเนื้อไม้ ดังนั้น ต้นไม้จึงมีคุณสมบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ เพียงแต่ต่างกันกับวิธีการทั่วๆไปที่จะลดก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิด คือปล่อยออกมาน้อยกว่าปกติจึงได้เป็นเครดิต แต่ต้นไม้ได้เครดิตจากการลดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาแล้ว และปริมาณคาร์บอนไดอกไซด์ที่หายไปจากบรรยากาศโลกก็เป็นเครดิตที่นำไปขายได้
เรื่องนี้เริ่มมาจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีโครงการความร่วมมือด้านวิชาการและเทคนิค ศึกษาวิจัยการตรวจวัดการติดตามการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชีวมวลของต้นสัก (Carbon Sequestration) กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตท ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นโครงการนำร่องของประเทศในด้านการชดเชยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคป่าไม้ (Carbon Offset) เป็นโครงการระยะที่ 1 (2550 - 2553)
พอประสบความสำเร็จในการตรวจวัดว่าต้นสักสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เป็นปริมาณเท่าไรแล้ว จึงได้ร่วมกันเสนอโครงการต่อตลาดคาร์บอน Chicago Climate Exchange (CCX) และมีการคำนวณและตีมูลค่าคาร์บอนเครดิตของป่าสักในป่าชุมชนของเครือข่ายอินแปง 625 ไร่ โดยคิดเป็นเครดิตได้ 75,000 ตัน ขายได้ในราคาตันละ 4.25 เหรียญสหรัฐ รวมเป็นจำนวนเงินที่ชุมชนจะได้รับ 37,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1 ล้านบาท สำหรับ 2 ปีคือปี 2553 - 2554
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ศูนย์การเรียนรู้อินแปงตำบลบ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร และเกษตรกรตลอดจนเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นได้ลงนามในสัญญาซื้อขายและรับมอบมูลค่าคาร์บอนเครดิตที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้
นับว่าเป็นการขายคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้แห่งแรกของอาเซียน แต่ขณะนั้นก็ตั้งข้อสงสัยว่าหลังผ่านพ้นปีไปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้พูดคุยกับนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ในระดับหนึ่ง และคาดว่านิคมอุตสาหกรรมไทยเราเองที่จะเป็นผู้ซื้อหลังจากนี้เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโลก แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในข่ายที่ถูกบังคับให้ต้องลดก๊าซเรือนกระจกเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่อาจต้องตกเป็นผู้ถูกบังคับให้ลด
ส่วนโครงการต่อไปก็คือการเริ่มต้นศึกษาการเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแปลงเกษตรผสมผสานซึ่งพืชพรรณไม้ความสูง ขนาด อายุ อัตราการเจริญเติบโต และปัจจัยอื่นๆ มีความหลากลายมากกว่าสวนสัก ซึ่งแน่นอนว่าการวัดว่าแปลงเกษตรผสมผสานขนาดพื้นที่เท่าใดจะเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าใดจึงยากมากขึ้นกว่าหลายเท่าตัว แต่หากทำสำเร็จย่อมจะเป็น “สินค้าสีเขียว” อีกตัวหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับชุมชน เป็นมูลค่าเพิ่มจากการเก็บหาผลผลิตในสวนผสมนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม การขายคาร์บอนเครดิตแบบนี้เป็นการขายในระบบตลาดสมัครใจ ซึ่งเป็นการซื้อเพื่อแสดงถึงธรรมภิบาล หรือ CSR ขององค์กรที่ซื้อ และสำหรับสหรัฐอเมริกาก็เป็นการหวังผล หรือเตรียมการหากกฎหมายในประเทศระบุให้องค์กร หรือหน่วยธุรกิจต่างๆ จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกเป็นมาตรการภายในประเทศ ซึ่งไม่ใช่การซื้อ-ขายในระบบที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติที่สามารถนำเอาไปคิดเป็นส่วนที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีการลดโลกร้อน  หรือพิธีสารเกียวโต
เมื่อคาร์บอนเครดิต กลายเป็นสินค้าใหม่ไร้การจับต้องในยุคโลกร้อน เป็นการดิ้นหาทางออกของประเทศพัฒนาแล้วเมื่อไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการพัฒนาของตนเองได้ และอาจจะทำให้ถูกปรับตามพิธีสารเกียวโต
ที่มา : http://www.greenistasociety.com/news
กำลังโหลดความคิดเห็น