ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเผย “ก๊าซเรือนกระจก” ในชั้นบรรยากาศทำสถิติสูงสุดอีกครั้งในปี 2011 โดย “คาร์บอนไดออกไซด์” ซึ่งเป็น “แรงขับ” ถึง 85% ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมีปริมาณถึง 391 ppm ส่วนก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นๆ เช่น ก๊าซมีเทน ก็ทำสถิติสูงขึ้นเช่นกัน
ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) นี้ บีบีซีนิวส์ระบุว่า รายงานไว้ใน “กรีนเฮาส์แก๊สบูลเลติน” (Greenhouse Gas Bulletin) วารสารประจำปีขององค์การ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นปีละ 2 ส่วนในล้านส่วน (ppm)
จากการวัดล่าสุดปริมาณของก๊าซเรือนกระจกตัวนี้เพิ่มขึ้นถึง 40% นับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และองค์การอุตุนิยมวิทยาประเมินว่านับแต่ปี 1750 มีคาร์บอน 3.75 แสนล้านตันถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ และในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่งยังค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศ
“ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์นับแสนล้านตันที่เพิ่มเข้าไปในชั้นบรรยากาศนี้จะคงอยู่ต่อไปอีกหลายศตวรรรษ ซึ่งเป็นสาเหตุให้โลกของเราร้อนขึ้นอีกและส่งผลกระทบในทุกด้านต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก การปลดปล่อยต่อไปอีกก็เพียงแค่ซ้ำสถานการณ์ให้เลวร้ายขึ้น” มิเชล จาร์รอด (Michel Jarraud) เลขาธิการทั่วไปขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก
ด้านองค์การมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanographic and Atmospheric Administration) หรือโนอา (NOAA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ ได้เสนอรายงานประจำปีในแอนนัลกรีนเฮาส์แก๊สอินเด็กซ์ (Annual Greenhouse Gas Index) วารสารขององค์การ ว่า ระหว่างปี 1990-2011 คาร์บอนคาร์บอนไดออกไซด์มีบทบาทในการทำอุณหภูมิสูงขึ้น 30%
ส่วนมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบได้มากกว่าก็ทำสถิติพุ่งสูงขึ้นไปถึง 1,813 ส่วนในพันล้านส่วย (ppb) ซึ่งมากกว่าระดับในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมกว่า 2.5 เท่า ขณะที่ไนตรัสออกไซด์ซึ่งส่งผลกระทบมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 300 เท่าก็มีระดับความเข้มข้นเพิ่มขึ้นไปถึง 324 ส่วนต่อพันล้านส่วน
ส่วนมหาสมุทรซึ่งเคยทำหน้าที่ “ดูดซับ” คาร์บอนไดออกไซด์กว่าครึ่งของชั้นบรรยากาศ ก็อาจไม่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึงระดับนั้นอีกต่อไป โดยจาร์รอดชี้ว่าตอนนี้มหาสมุทรเริ่มมีภาวะเป็นกรดมากขึ้นอันเป็นผลจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มาก ซึ่งจะส่งผลสะท้อนต่อไปยังห่วงโซ่อาหารใต้ทะเลและแนวปะการัง แต่ยังต้องมีการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซเรือนกระจก มหาสมุทรและชีวมณฑล (biosphere) ของโลก