ในขณะที่เรามองว่า “โลกร้อน” นั้น สร้างแต่ด้านร้ายๆ แต่อีกมุมหนึ่งกลับเป็นผลดีต่อ “ป่าเต็งรัง” ที่สามารถปรับตัวเข้ากับภาวะแปรปรวนของสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าสภาพอากาศจะแล้งนานผิดปกติหรือในปีที่มีปริมาณน้ำฝนมากป่าชนิดนี้ก็ยังคงอยู่รอดมาได้
แม้จะเข้าสู่ช่วงปลายเดือน พ.ย.แล้ว แต่ “ป่าเต็งรัง” ภายในพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิทยาเขตราชบุรี ยังคงเขียวครึ้ม ต่างไปจากปีก่อนๆ ที่เมื่อเข้าสู่เดือนนี้ป่าจะผลัดใบหรือแต่ต้นไม้กิ่งแห้งๆ ปล่อยให้แสงแดดทะลุผ่านมาได้เต็มที่จนทีมวิจัยที่เข้าไปเก็บข้อมูลจากสถานีตรวจวัดจุลอุตุนิยมวิทยาในป่าเต็งรังต้องคอยหลบร้อนอยู่ในห้องควบคุมมสถานีตรวจวัดที่มีเครื่องปรับอากาศควบคุมอุณหภูมิเพื่อรักษาอุปกรณ์บันทึกข้อมูล
รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง นักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัย ร่วมต้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มจธ.หัวหน้าทีมวิจัยจัดตั้งสถานีตรวจวัดจุลอุตุนิยมวิทยาบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และผู้สื่อข่าวที่เข้าไปสำรวจสถานีตรวจวัดในป่าเต็งรังของ มจธ.ราชบุรีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งบางปีแล้งจัดจนป่าแทบไม่เหลือใบไม้สักใบ แต่ปีนี้ยังมีฝนตกลงมาถึงเดือน พ.ย.ป่าจึงยังคงเขียวอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวได้เป็นอย่างดี
“ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีปีหนึ่งที่ประเทศไทยแล้งผิดปกติ แต่ป่าเต็งรังที่ราชบุรีมีความยืดหยุ่นสูงมาก สามารถปรับตัวเข้ากับอากาศแล้งได้เป็นอย่างดี และเมื่อฝนตกป่าก็เจริญเติบโตได้เต็มที่ ต้นไม้ทุกต้นสามารถแตกกิ่งก้านสาขาและดูดซับคาร์บอนได้ และจากการคำนวณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในป่าเต็งรังช่วงฤดูปกติกับช่วงที่ฝนแล้งทั้งปี พบว่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่แตกต่างกันมาก แสดงว่า ป่าเต็งรังในราชบุรีทนแล้งได้สูง” หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.อำนาจ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบป่าเต็งรังกับป่าดิบชื้น ในพื้นที่ 5-6 ไร่ป่าดิบชื้นมีชีวมวล 300 ตันแห้ง ส่วนป่าเต็งรังมีชีวมวลประมาณ 100 ตันแห้ง การทับถมของชีวมวลในป่าเต็งรังมีน้อยกว่าป่าดิบชื้น การดูดซับคาร์บอนในป่าเต็งรังจึงไม่มากนัก และปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าเต็งรัประมาณ 20% มากเป็นอันดับ 3 รองจากป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ จึงอยากศึกษาข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากป่าทั้ง 3 แบบ
“โลกร้อนเป็นผลลบจริงหรือ? อาจจะไม่ใช่เสมอไป การที่ป่าปรับตัวได้แสดงว่าโลกร้อนก็เป็นผลดี แต่เราอาจยังต้องดูสภาพแล้งไปอีก 1-2 ครั้ง ก็จะสรุปได้ว่าป่าเต็งรังสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้” รศ.ดร.อำนาจ กล่าว และระบุด้วยว่าอยากศึกษาสรีรวิทยาของต้นไม้ในป่า ว่า การที่แต่ละต้นจะออกดอกหรือผลิใบนั้นมีปัจจัยอะไรมาเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อช่วยอธิบายถึงการปรับตัวของต้นไม้ได้
สำหรับสถานีตรวจวัดจุลอุตุนิยมวิทยานั้นมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ตั้งบนหอคอยซึ่งจะทำหน้าที่วัดข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยา อาทิ ความเร็วลม ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณน้ำฝน ความเข้มแสง อุณหภูมิและความชื้น ส่วนด้านล่างมีสถานีตรวจวัดความชื้น อุณหภูมิ ค่าพลังงานผิวดิน และมีสถานีวัดรากต้นพืชว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร
ทั้งนี้ ได้ติดตั้งสถานีวัดมาตั้งแต่ปี 2551 และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครือข่ายไทยฟลักซ์ (ThaiFlux) ซึ่งมีหน่วยงานที่เข้าร่วม คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ติดตั้งสถานีตรวจวัดในพื้นที่เกษตร ได้แก่ ไร่อ้อย สวนยางพารา และไร่มันมันสำปะหลัง กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งได้ติดตั้งสถานีที่สะแกราช จ.นครราชสีมา และแม่กลอง สมุทรสงคราม รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศ อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป
“เมื่อมองภาพรวมโลกร้อนต้องดูป่าทั้งโลก ทั้งป่าไทยและป่าต่างประเทศ ดูดว่าดูดซับคาร์บอนเท่าไหร่ ปล่อยคาร์บอนเท่าไร เป็นเพราะอะไร เมื่อโลกร้อนป่าจะเป็นอย่างไร ช่วยให้โลกร้อนขึ้หรือช่วยให้โลกเย็นลง” รศ.ดร.อำนาจ กล่าว