มจธ. - นักศึกษา มจธ.จับมือเนคเทคสร้างสรรค์ผลงาน “สมปอง” โปรแกรมฝึกพูดสำหรับผู้ไร้กล่องเสียง หวังต่อยอดผลงานสู่เครือข่ายศูนย์บำบัดเพื่อผู้ไร้กล่องเสียงอย่างทั่วถึง
ปัญหาที่ผู้ไร้กล่องเสียงต้องเผชิญ คือ ไม่สามารถออกเสียงพูดคุยกับคนรอบข้างได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาหลายอย่างในการใช้ชีวิต ด้วยเหตุนี้ นายวนัส โชคทวีศักดิ์ และ นายธีรพจน์ ธีโรภาส นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (SoA+D) ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial design) ได้เกิดความสนใจและร่วมมือกับทาง NECTEC ออกแบบผลงานโปรแกรมฝึกพูดสำหรับผู้ไร้กล่องเสียง (Speech Training Software for Laryngectomy) มีชื่อว่า “สมปอง” เพื่อนำมาฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ไร้กล่องเสียงให้สามารถ กลับมาพูดคุยและสื่อสารกับคนรอบข้างได้
วนัส กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นของการออกแบบโปรแกรมต้องไปที่ชมรมผู้ไร้กล่องเสียงโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อไปดูว่าปกติแล้วผู้ไร้กล่องเสียง เค้าฝึกพูดกันอย่างไร ทั้งด้านการฝึกฝน และความเข้มแข็งจิตใจ ซึ่งพบว่าการฝึกพูดแบบไร้กล่องเสียงนั้นค่อนข้างยากลำบาก แต่วิธีการสอนระหว่างคนที่พูดได้แล้วกับคนที่ยังพูดไม่ได้ช่วยด้านกำลังใจได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ฝึกจะมีกำลังใจที่ดีว่า เค้าจะสามารถกลับมาพูดได้อีกครั้งเช่นกัน โดยปกติผู้ที่ผ่าตัดกล่องเสียงและเจาะคอแล้วจะต้องมีอุปกรณ์สำหรับพูดจ่อตรงคอเป็นจุดกำเนิดเสียงโดยเครื่อง เพียงขยับปากเสียงจะออกมา แต่ด้วยเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิคไม่เป็นธรรมชาติ ที่มีคุณภาพดีจะมีราคาแพง และเสียงที่ออกมาจะฟังยากและไม่เป็นธรรมชาติ
“พวกเราจึงพัฒนาโปรแกรมฝึกพูดโดยให้หลอดอาหารเป็นจุดกำเนิดเสียงด้วยการเรอยาวๆ และขยับปากแต่การ ที่จะเรอยาวๆ ได้นั้นต้องฝึกเรอทั้งวันๆ ละ 100-200 ครั้ง เป็นการฝึกอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนนี้ ผู้ฝึกส่วนใหญ่มักจะท้อแท้และเลิกไป เราจึงออกแบบโดยใช้หลัก Human Center คือ การออกแบบ อย่างเข้าใจผู้ใช้งานว่าเค้ามีความต้องการอย่างไรเพื่อให้เกิดความรู้สึกดีกับการฝึก เราออกแบบโปรแกรมตั้งแต่ลักษณะของการสื่อสาร และรูปแบบการใช้งานเพื่อให้คนเข้าใจได้ง่าย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฝึก และในโปรแกรมของเราจะมีตัวหนังสือกำกับ พร้อมทั้งมีคนคอยช่วย สอนอยู่ในโปรแกรมซึ่งจะทำให้ผู้ฝึกเค้ารู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยวซึ่งโปรแกรมนี้สามารถฝึกฝนอยู่กับครอบครัวที่บ้านได้ทำให้ผู้ฝึกมีกำลังใจมากขึ้น”
ธีรพจน์ กล่าวเสริมว่า หลักการฝึกเป็นทักษะทั่วไปเหมือนการฝึกออกเสียงในภาษาไทย คือ อะ อิ อึ โอะ บวกเสียงพยัญชนะเสียงยาว เสียงนาสิก ตลอดจนคำสองพยางค์ เป็นต้น ส่วนขั้นตอนในการฝึกคือ ต้องฝึกเรอให้ยาวๆ ฝึกกระบวนการ อ้า หุบ กลืน กัก อย่างเป็นขั้นตอนซึ่งในการกักลม ผู้ฝึกจะไม่สามารถ รู้ได้เลยว่าจะต้องกักลมตรงส่วนไหนของลำคอ แต่ในโปรแกรมจะมีตัวการ์ตูนคุณ สมปองคอยแนะนำให้ผู้ฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้องและคุณสมปองจะคอยให้กำลัง ใจเมื่อผู้ฝึกทำผิด แต่อย่างไรก็ตาม โปรแกรมนี้ในส่วนของการออกแบบเสร็จสมบูรณ์แล้วซึ่งหากได้รับการสนับสนุนต่อยอดจากองค์กรที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการนำโปรแกรมเข้าสู่เครือข่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างชมรมผู้ไร้กล่องเสียงโรงพยาบาลราชวิถี หรือศูนย์บำบัดอื่นๆ อาจทำผู้ไร้กล่องเสียงอีกหลายคนได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากโปรแกรมนี้ได้มากขึ้น
ล่าสุด ผลงาน “สมปอง” ได้คว้ารางวัล Best Poster Award ในงานประชุมนานาชาติ ด้านวิศวกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ 2012 หรือ ไอ-ครีเอท 2012 ที่ประเทศสิงคโปร์ ที่ผ่านมา