มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นวัตกรรมใหม่ ปุ๋ยหมักแบบเร่งจากทางปาล์มน้ำมันขยะชีวภาพจากชาวสวน ลดค่าขนย้าย ลดระยะเวลาหมักปุ๋ยด้วยราขาวเพิ่มปริมาณผลผลิตคุณภาพ ปราศจากสารพิษตกค้างจากฝีมือเด็กจุลชีวะ บางมด
จากความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ลดลงส่งผลให้ในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่หันมาพึ่ง “ปุ๋ย” ที่มีให้เลือกใช้หลายประเภทซึ่งผลที่ตามมาคือพืชเจริญเติบโตดี แต่อาจมีสารพิษตกค้างทำให้ดินเสื่อมคุณภาพลง ด้วยเหตุนี้ทำให้ “นายณัฐกริช ลิ้มจันทร์ทอง” และ “นางสาวรัชกร จันทร์ไข่” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ตัดสินใจเลือกทำโปรเจกต์เรื่อง การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพแบบเร่งจากทางปาล์มน้ำมัน (Rapid Production of Oil Palm Frond Compost) โดยมี รศ.ดร.อาภรณ์ วงษ์วิจารณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
ณัฐกริช กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกทางปาล์มน้ำมันมาผลิตปุ๋ยหมักว่าในประเทศไทยมีการทำสวนปาล์มอย่างแพร่หลายและในการเก็บเกี่ยวผลปาล์มหนึ่งครั้งจะต้องตัดทางปาล์มทิ้งจำนวนมากทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนย้ายไปทิ้งที่อื่นจึงคิดที่จะนำทางปาล์มน้ำมันมาผลิตปุ๋ยหมัก รัชกร กล่าวเสริมว่า สำหรับการผลิตปุ๋ยหมักโดยทั่วไปต้องใช้เวลาหมักประมาณ60 วัน จึงจะได้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหาร N P K ตามมาตรฐานแต่โปรเจกต์นี้พวกเขาสามารถลดเวลาหมักปุ๋ยให้เหลือเพียง 35 วันเท่านั้น
“ที่จริงนั้นทางปาล์มน้ำมันไม่เหมาะกับการนำมาทำปุ๋ยหมักเพราะย่อยสลายยาก เนื่องจากมีส่วนประกอบของ ลิกนิน เซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลส เราจึงประยุกต์วิธีหมักปุ๋ยโดยใช้ ราขาว(White rot fungi) เพราะสามารถย่อยสลายส่วนประกอบทั้ง 3 ของทางปาล์มน้ำมันได้ ช่วยให้การผลิตปุ๋ยเร็วขึ้น โดยขั้นตอนการผลิตปุ๋ยหมักนั้นเริ่มจากการนำทางปาล์มน้ำมันมาบดนำไปหมักกับราขาวที่เพาะเลี้ยงบนเมล็ดข้าวฟ่าง และนำไปหมักร่วมกับหัวเชื้อ พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน สามารถลดระยะเวลาในการหมักเหลือเพียง 35 วันก็ได้ปุ๋ยหมักที่มีธาตุอาหารครบตามมาตรฐานแล้วซึ่งปุ๋ยหมักที่ได้จะมีลักษณะคล้ายกับดินส่วนในเรื่องวิธีการใช้นั้นสามารถใช้ได้เหมือนกับปุ๋ยทั่วไปที่เคยใช้กัน”
ณัฐกริช กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีการนำเมล็ดผักกาดขาวไปเลี้ยงในสารละลายที่สกัดจากปุ๋ยหมักทางปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้ เพื่อทดสอบความเป็นพิษต่อพืช ซึ่งนอกจากจะพบว่าปุ๋ยทางปาล์มไม่มีความเป็นพิษต่อพืชแล้ว ยังช่วยให้อัตราการเจริญของพืชดีขึ้นอีกด้วย โดยสังเกตและคำนวณจากอัตราการงอกของรากเมล็ดผักกาดขาวที่นำมาทดสอบพบว่า มีอัตราการงอกของรากสูงเกิน 100% ซึ่งปุ๋ยที่ดีจะมีมาตรฐานการงอกของรากพืชอยู่ที่ 80%
“ปุ๋ยหมักจากทางปาล์มนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่ซ้ำใครเนื่องจากมีการนำราขาวมาประยุกต์ใช้สามารถช่วยลดระยะเวลาในการหมักช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายทางปาล์มไปทิ้งและผลดีที่สุดสำหรับเกษตรกรที่นำไปใช้คือช่วยบำรุงดินทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และไม่มีอันตรายจากสารพิษตกค้าง”
รัชกร กล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งโปรเจกต์การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพแบบเร่งจากทางปาล์มน้ำมัน เข้าประกวดในงาน Novel Research and Innovation Competition 2012 (NRIC 2012) ภายใต้โครงการ World Class Research and Innovation for Tomorrow’s Sustainability ที่เกาะปีนังประเทศมาเลเซีย ซึ่งสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ(เหรียญเงิน) ในสาขา Life Science มาได้และหวังว่าเกษตรกรจะได้ใช้ประโยชน์จากโปรเจกต์นี้อย่างแน่นอน
***สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.0-2270-1350-4 ต่อ 114 , 08-1407-6609***