มจธ.-นักศึกษาจุลชีววิทยา บางมด ใช้ “ราขาว” ผลิต “ตัวเร่งปุ๋ยหมัก” จากทางปาล์ม ที่ปกติมีคุณสมบัติไม่เหมาะแก่การผลิตปุ๋ยหมัก และยังร่นเวลาหมักปุ๋ยลงได้ว่า 20 วัน ช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการจำกัดขยะทางเกษตร และได้ปุ๋ยที่มีสารอาหารตามมาตรฐาน
ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ลดลง ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาพึ่ง “ปุ๋ย” ซึ่งมีให้เลือกหลายประเภท แม้พืชเจริญเติบโตดี แต่อาจมีสารพิษตกค้าง ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพลง นายณัฐกริช ลิ้มจันทร์ทอง และ น.ส.รัชกร จันทร์ไข่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ตัดสินใจเลือกทำปุ๋ยหมักชีวภาพแบบเร่งจากทางปาล์มน้ำมัน
ณัฐกริช ให้เหตุผลที่เลือกทางปาล์มน้ำมันมาผลิตปุ๋ยหมัก ว่า ไทยทำสวนปาล์มอย่างแพร่หลาย และการเก็บเกี่ยวผลปาล์มหนึ่งครั้งต้องตัด “ทางปาล์ม” ทิ้งจำนวนมาก และเกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนย้ายไปทิ้งที่อื่น จึงเลือกทางปาล์มน้ำมันมาผลิตปุ๋ยหมัก ซี่งพวกเขาสามารถลดเวลาในการหมักปุ๋ยจาก 60 วัน เหลือเพียง 35 วัน โดยได้สารอาหารไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) ตามมาตรฐาน
อย่างไรก็ดี รัชกร กล่าวว่า ในความเป็นจริงทางปาล์มนั้นไม่เหมาะต่อการทำปุ๋ยหมัก เพราะย่อยสลายยาก เนื่องจากมีส่วนประกอบของลิกนิน เซลลูโลส และ เฮมิเซลลูโลส พวกเขาจึงประยุกต์วิธีหมักปุ๋ยโดยใช้ ราขาว (White rot fungi) เพราะสามารถย่อยสลายส่วนประกอบทั้ง 3 ของทางปาล์มน้ำมันได้ ช่วยให้การผลิตปุ๋ยเร็วขึ้น
ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยหมักนั้น เริ่มจากการนำทางปาล์มน้ำมันมาบด แล้วนำไปหมักกับราขาวที่เพาะเลี้ยงบนเมล็ดข้าวฟ่าง จากนั้นนำไปหมักร่วมกับ “หัวเชื้อ พด.1” ของกรมพัฒนาที่ดิน สามารถลดระยะเวลาในการหมักเหลือเพียง 35 วัน และได้ปุ๋ยหมักที่มีธาตุอาหารครบตามมาตรฐาน โดยปุ๋ยหมักที่ได้มีลักษณะคล้ายดินและใช้ได้เหมือนกับปุ๋ยทั่วไป
ณัฐกริช กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้นำเมล็ดผักกาดขาวไปเลี้ยงในสารละลายที่สกัดจากปุ๋ยหมักทางปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้ เพื่อทดสอบความเป็นพิษต่อพืช ซึ่งนอกจากจะพบว่าปุ๋ยทางปาล์มไม่มีความเป็นพิษต่อพืชแล้ว ยังช่วยให้อัตราการเจริญของพืชดีขึ้นอีกด้วย โดยสังเกตและคำนวณจากอัตราการงอกของรากเมล็ดผักกาดขาว ที่นำมาทดสอบพบว่า มีอัตราการงอกของรากสูงเกิน 100% ซึ่งปุ๋ยที่ดีจะมีมาตรฐานการงอกของรากพืชอยู่ที่ 80%
“ปุ๋ยหมักจากทางปาล์มนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร เนื่องจากมีการนำราขาวมาประยุกต์ใช้ สามารถช่วยลดระยะเวลาในการหมัก ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายทางปาล์มไปทิ้ง และผลดีที่สุดสำหรับเกษตรกรที่นำไปใช้คือช่วยบำรุงดิน ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และไม่มีอันตรายจากสารพิษตกค้าง” ณัฐกริช กล่าว
รัชกร เสริมว่า ก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลงานผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพนี้ เข้าประกวดในการแข่งขันนวัตกรรมและการวิจัยสิ่งใหม่ (Novel Research and Innovation Competition 2012 (NRIC 2012) ภายใต้โครงการงานวิจัยและนวัตกรรมระดับโลกเพื่อความยั่งยืนของอนาคต (World Class Research and Innovation for Tomorrow’s Sustainability) ที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย และคว้ารางวัลรองชนะเลิศ (เหรียญเงิน) ในสาขาวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) มาได้ และหวังว่าเกษตรกรจะได้ใช้ประโยชน์จากโครงการนี้