xs
xsm
sm
md
lg

กระแส “ธุรกิจสีเขียว” ไม่ใช่แค่ราคาคุย/สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ภาวะวิกฤตปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับโลกของเราใบนี้ เห็นจะเรียกได้ว่า “วิกฤตโลกทุนนิยม” ที่แสดงอาการทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะความไม่สมดุลย์ของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่งสมปัญหาความเกินพอดีของการบริโภคและการผลิตที่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจน “ธรรมชาติเอาคืน” ด้วยการให้รับผลจาก “ภาวะโลกร้อน” วิกฤตของดิน น้ำ และอากาศ หรือ รุนแรงถึงขั้นเกิดภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของพายุ น้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น

ปรากฎการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้ผู้นำ และองค์การระดับโลกพากันตื่นตัวที่จะกระตุ้นเตือน และเกิดมาตรการเป็นกติกาโลก ทั้งที่ให้เป็นการสมัครใจ อย่างแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งหมายรวมถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility)
ขณะที่กระแสผู้บริโภค “รักษ์โลก” ทำให้เกิดมาตรการบังคับ หรือการดูเครื่องหมายคัดกรองการคบค้าของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปที่จะเป็นเงื่อนไขการสั่งซื้อสินค้า หรือบริการ ด้วยการกำหนดให้แสดงเครื่องหมายรับรองกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเภท “ฉลากเขียว” หรือแสดงระดับของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการติดฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นต์ เป็นต้น
ภาวะการณ์เหล่านี้ เป็นผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีต่อแนวทางการบริหารจัดการที่ยืนยันได้ว่าการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องมี DNA ของความ “เก่งและดี” เกิดขึ้นในนโยบายและยุทธศาสตร์องค์กร

นี่คือการมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการผลิต และการค้า การลงทุน หรือมี CSR-in process นั่นเอง
การที่นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมที่ก้าวทันสมัยกล่าวอ้างถึงแนวทางเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือ แนวทางสีเขียว (Green) เช่น การคำนึงถึงการไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือใช้ทรัพยากรทดแทน ใช้วิธีการรีไซเคิล จึงเป็นเรื่องที่ยังทันสมัย และจะยิ่งเป็นกระแสหลักที่สังคมผู้บริโภคคาดหวังต่อไป
ส่วนการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม หรือ CSR-after process ประเภทบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา กีฬา วัฒนธรรรม หรือ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมปลูกป่าชายเลน ก็เป็นบทบาทความดีงามของธุรกิจที่มีใจเป็นกุศลที่น่าชื่นชมอีกด้านหนึ่ง
แต่ในแง่ยุทธศาสตร์องค์กรที่ทันสมัยนั้น เป้าหมายไม่ใช่กำไรสูงสุด หรือยอดขายสูงสุด แต่จะมุ่งเป็นผู้นำที่พัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างสมบูรณ์ทั้งตัวองค์กรและสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลัก “ผลลัพธ์ 3 มิติ” (Triple Bottom Line) นั่นคือคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง 3 ด้าน คือ 1. คน (People) ทั้งพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนรอบโรงงาน 2. สิ่งแวดล้อม (Planet) เพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ 3. กำไร (Profit) หมายถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดกับผู้ลงทุน บริษัท รวมถึงต้องเกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วย
ยุทธศาสตร์สีเขียว (Green Strategy) จึงเป็นทั้งกระแสและกติกาโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นมิติหนึ่งของ CSR ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องมี โดยใช้ความเก่งและความดีเป็นแนวทางขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ข้อคิด...
เราได้เห็นสัญญาณยืนยันการปรับตัวของธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยที่ลงทุนระบบเพื่อลดปัจจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสื่อสารต่อสังคมให้รับรู้จุดยืนเชิงสร้างสรรค์
ยิ่งไปกว่านั้น “ต้นทุนของการทำความดี” ในการใช้เงินลงทุนปรับปรุงระบบการจัดการ หรือการผลิตเพื่อทำสิ่งดีๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็จะเกิด “ผลผลิต” ที่ดี และเกิด “ผลลัพธ์” ที่น่าชมเชยด้วย
ตัวอย่างองค์กรชั้นนำที่ลงทุนกับการเสริมสร้างระบบเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เทสโก้โลตัส ซีพีเอฟ เอสซีจี หรือ โตโยต้า ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานรีไซเคิล เป็นต้น
โดยเฉพาะเอสซีจี ถึงขนาดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ตั้งเป้ารายได้ถึง 1,000 ล้านบาท โดยให้คำปรึกษาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานในอาคารสำหรับการลงทุนสร้างอาคารสีเขียวซึ่งเป็นกระแสใหม่ที่น่าสนใจ
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น