xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเกาะกระแสโลก ชูแนวทางสีเขียว/สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมประจำปี 2555 ของ “สภาพัฒน์” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ กำหนดชื่องานว่า “อนาคตประเทศไทย บนเส้นทางสีเขียว” แถมด้วยคำขวัญ “รวมพลังสร้างสรรค์ไทย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
การประชุมกลุ่มย่อย เรื่อง อุตสาหกรรมสะอาด : วิถีใหม่ของอุตสาหกรรมอนาคต กล่าวนำโดย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุมประจำปีของสภาพัฒน์ เรื่องอนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมื่อเร็วๆ นี้
นับเป็นงานที่น่าสนใจ และมีเนื้อหาไปในทางชี้นำยุทธศาสตร์ทิศทางการพัฒนาของประเทศที่สอดคล้องกับกระแสโลก
เพราะระดับสหประชาชาติ เมื่อราว 2 เดือนก่อนก็เพิ่งผ่านการประชุมว่าด้วย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่เรียกกันว่า การประชุม Rio+20 เพราะจัดขึ้นที่กรุงริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล โดยระบุเลข 20 เป็นการย้ำเตือนถึงวาระครบรอบ 20 ปี ของการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วย “สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา” ที่ต้องมีการติดตาม ทบทวน และพัฒนาการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจัดครั้งแรกที่นั่นเมื่อปี 2535
จนมีคนแซวว่า ไม่รู้ว่ายังต้องจัดประชุมเรื่องนี้จนชื่องาน Rio+ตัวเลขเพิ่มตามจำนวนปีไปอีกสักเท่าไรจึงจะข้ามพ้นปัญหาวิกฤตของสังคมโลกไปได้ดีสักที

ปัญหาอยู่ที่ยังมีแนว “การพัฒนาประเทศ” ที่มิได้มุ่งเพื่อ “ความยั่งยืน” จึงทำให้หลายส่วนของประเทศและของโลกเกิดภาวะความยากจน วิกฤตเศรษฐกิจ การขาดแคลนทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม
แนวคิดการพัฒนาที่ก้าวหน้าจึงมุ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดกำหนดแนวทางและมาตรการเพื่อไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในระดับการประชุมของสหประชาชาติครั้งล่าสุดจึงมีการเสนอแนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืนและขจัดความยากจน”
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตประเทศไทยมุ่งสู่เส้นทางสีเขียวเช่นกันโดยมีแนวคิดต่อการพัฒนาในระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) กำหนดยุทธศาสตร์ในการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการเตรียมความพร้อมให้แก่คน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศได้อย่างเหมาะสม และสามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทยตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) แบบไทย

การพัฒนาสังคมสีเขียว เป็น 1 ในจุดมุ่งหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ หรือแนวคิดการพัฒนาสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเศรษฐกิจและสังคมของประเทศยังคงเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่ดีมีสุขของทุกภาคส่วนโดยรวม
ทั้งนี้ การพัฒนาสังคมสีเขียวต้องเกี่ยวข้องและต้องการความร่วมมือจากภาคีการพัฒนาทุกฝ่ายและทุกระดับตั้งแต่จุลภาคและมหภาคทั้งภายนอกและภายในประเทศในการผลักดันแนวทางการพัฒนานี้สู่ความสำเร็จ
เมื่อพิจารณาคำนิยาม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามที่องค์การสหประชาชาติให้ความหมายไว้ว่า
“เป็นการพัฒนาที่สนองตอบต่อความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบัน โดยไม่เป็นภาระให้คนรุ่นอนาคตต้องประนีประนอมยอมลดทอดความสามารถในการที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง”
ประเด็นสำคัญจากคำนิยามดังกล่าว ซึ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากแนวทาง “สีเขียว” หรือ Green จำเป็นต้องมีในกระบวนการต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) จะต้องตระหนักว่า สิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจ” โดยส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจลักษณะใดก็ตาม เพื่อหวังให้เศรษฐกิจเติบโตนั้น จะต้องไม่แลกกับการสูญเสียทรัพยากรอันมีค่า และทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ขณะที่คนจนและผู้ด้อยโอกาสไม่ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย ได้นำ “แนวคิดการเติบโตสีเขียว หรือการพัฒนาสังคมสีเขียว” มาใช้เป็นกรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาในระยะ 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 และให้คำจำกัดความแนวทางนี้ว่า
“การพัฒนาที่มุ่งไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่กิจกรรมภายใต้แนวทางการพัฒนาดังกล่าวมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดของเสียและก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและสูญเสียความสมดุลในการที่จะค้ำจุนการดำรงชีพและสนับสนุนวิถีชีวิตของประชากรในทุกสาขาการผลิต”
แต่จะเกิดผลเป็นจริง กลไกดำเนินการ คือ ภาครัฐ (รัฐบาล หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ) และภาคเอกชน (ธุรกิจและอุตสาหกรรม) ต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการในแนวทางเพื่อช่วยกันลดวิกฤตโลก เพราะทุกคนต้องเผชิญผลกรรมเหล่านั้นด้วยกัน
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น