HOUSE VIEW BUALUANG
ทีมงานจัดการกองทุน โดย คุณพิชา เลียงเจริญสิทธิ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด
วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ในยุคปัจจุบันการประกอบธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งแวดล้อมนั้นคงไม่สามารถทำได้อีกต่อไป และเราได้เห็นแล้วว่าผลจากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อธรรมชาติในอดีตนั้นส่งผลต่อเรามากเพียงใด เช่น การเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง การเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นต้น ในช่วง 3 ถึง 4 ปีที่ผ่านมาผู้อ่านอาจได้ยินคำว่า เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy บ่อยครั้งขึ้น ถึงแม้คำคำนี้จะยังไม่มีความหมายบัญญัติไว้ชัดเจน แต่โดยรวมแล้วก็น่าจะหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาว โดยการเพิ่มคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน โดยรวมไปถึงเป็นมิตรต่อธรรมชาติมากขึ้น ในทางกลับกัน ธุรกิจใดที่ไม่ได้เดินตามแนวทางนี้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญอุปสรรคต่างๆ มากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน การถูกกีดกันสินค้าจากบางประเทศ รวมทั้งต้องปรับตัวมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้น
ความใส่ใจธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นของภาคธุรกิจสะท้อนผ่านสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน โดยหนึ่งในสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ได้แก่ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภคบริโภคที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น
1. การใช้วัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) เช่น “แก้ว” สำหรับการบรรจุเครื่องดื่ม เพราะแก้วจัดเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แก้วกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคในประเทศแถบยุโรปซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (กระบวนการผลิตขวดแก้วนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยกว่าการผลิตขวดพลาสติก) นอกจากนี้ กลุ่มผู้สนใจรักษาสุขภาพที่บริโภคอาหารออร์แกนิกก็หันมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแก้วเพิ่มมากขึ้นด้วย
ส่วนพลาสติก PET (Polyethylene terephthalate หรือขวดเพ็ท) ที่ใช้บรรจุเครื่องดื่มกันอย่างแพร่หลายนั้นมีข้อดีหลายประการ ได้แก่ ราคาถูก ยืดหยุ่นกว่า และน้ำหนักเบา แต่ก็มีข้อเสียคือกระบวนการผลิตไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้ยากมากๆ สำหรับประเทศในกลุ่มยุโรปมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ EU ว่าด้วยการจำกัดของเสียจากบรรจุภัณฑ์ (Packaging Waste Directive) โดยมีข้อกำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิกต้องนำพลาสติก PET มารีไซเคิล (เรียกสั้นๆ ว่า R-PET) ให้ได้ขั้นต่ำร้อยละ 22.5 ภายในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งหลายประเทศก็สามารถปฏิบัติตามได้และยังสามารถเพิ่มสัดส่วนพลาสติก PET จากการรีไซเคิลได้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย นั่นหมายถึงปริมาณความต้องการพลาสติกที่ผลิตใหม่ย่อมมีสัดส่วนน้อยลง ทั้งนี้ เมื่อพลาสติก PET ผ่านการรีไซเคิลแล้วจะไม่สามารถนำมาใช้บรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มได้อีก
จาก European Container Glass Federation, Feve ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2554 ปริมาณผลิตขวดแก้วใน EU ขยายตัวร้อยละ 4.2 ขณะที่ข้อมูลจากบริษัท Indorama ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มความต้องการใช้ PET ที่น้อยกว่า โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 2 ถึง 3 ตัวเลขข้างต้น แสดงว่าขวดแก้วกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากประเทศในกลุ่มยุโรป ผู้ผลิตสินค้าบางประเภท เช่น น้ำผลไม้ หรือนม หลายยี่ห้อต้องเพิ่มรูปแบบการบรรจุใส่ขวดแก้ว เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น
สำหรับผู้บริโภคในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้น ด้วยวิถีชีวิตของคนเอเชียที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปโดยอยู่เป็นสังคมเมืองมากขึ้น นับเป็นการเอื้อโอกาสเติบโตของหลายธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือเบียร์ เป็นต้น ส่งผลให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือกระป๋อง อะลูมิเนียมต่างก็เติบโตตามไปด้วย และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพราะปริมาณการบริโภคต่อประชากรยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันรายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวที่ยังไม่สูงมากทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากนัก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มการอนุรักษ์ธรรมชาติรวมถึงการรักษาสุขภาพจะค่อยๆ แพร่หลายมากขึ้นในหลายประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
2. การเปลี่ยนมาใช้พลาสติกชีวภาพ (Bio-plastic) มากขึ้น ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผลิตจากพืช เช่น อ้อย หรือข้าวโพด เป็นต้น พลาสติกชนิดนี้ผลิตจากมนุษย์ (Renewable Plastics) และมีความยั่งยืนมากกว่า ต่างจากพลาสติกที่มาจากกระบวนการปิโตรเคมีที่ใช้แล้วหมดไป และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย นอกจากนี้ พลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable) และไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในระบบนิเวศ
ล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2555 บริษัทขนาดใหญ่ 5 แห่งในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ The Coca-Cola Co. Ford Motor Co. H.J. Heinz C. NIKE, Inc. และ Procter & Gamble ร่วมมือกันจัดตั้ง Plant PET Technology Collaborative (PTC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นคว้าวิจัยกระบวนการผลิตพลาสติก PET จากพืช ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้พลาสติกและเส้นใย PET ที่ผลิตจากพืชสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งหมด โดยแนวโน้มนี้มีโอกาสที่จะขยายไปยังบริษัทอื่นๆ นอกจากบริษัท 5 แห่งนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีความพยายามลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียมบางชนิด ล่าสุดสหรัฐอเมริกาตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก PVC (Polyvinyl Chloride) ในร้านค้าปลีกชั้นนำทั่วประเทศ พบว่าในหลายผลิตภัณฑ์มีสารแคดเมียมเจือปนในระดับสูงเกินกว่าข้อกำหนดตามกฎหมายของ 19 รัฐ (ผู้ผลิตพลาสติก PVC ที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกาเติมสารตะกั่วหรือแคดเมียมเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของ PVC ถึงแม้ว่าระดับแคดเมียมที่เติมลงไปนั้นจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อร่างกายผู้ใช้ แต่เมื่อนำไปทิ้งมันจะสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศได้) ผู้ประกอบการจึงต้องนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นออกจากชั้นวางสินค้าทั้งหมด อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ประเทศแคนาดาประกาศให้ BPA อยู่ในกลุ่มสารพิษ (BPA ย่อมาจาก Bisphenol-A เป็นส่วนผสมสำหรับผลิตพลาสติก Polycarbonate ใช้ในบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด) เพราะมีผลการศึกษาระบุว่า การได้รับสาร BPA เข้าไปในร่างกายอาจจะเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหลายชนิด ดังนั้น ประเทศแคนาดา กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา จึงสั่งห้ามไม่ให้มีสาร BPA เจือปนในขวดนมสำหรับทารก
3. เทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้วัตถุดิบ ท่านผู้อ่านคงเห็นขวดพลาสติกน้ำดื่มบางยี่ห้อที่เปลี่ยนให้บางลง การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์บางลงเป็นหนึ่งในการลดปริมาณการใช้พลาสติก และทำให้ประหยัดต้นทุนของผู้ผลิตน้ำดื่มได้ด้วย (แต่ไม่ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดลง -*-) ดังนั้น ถึงแม้จำนวนขายขวดน้ำจะเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณการใช้พลาสติกจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่า
ล่าสุด จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาของบริษัท SCA ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าอนามัยชั้นนำ พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 69 ยินดีซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็น ‘Green Products’ มากขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซา และกลุ่มสำรวจจำนวนร้อยละ 42 เชื่อว่าแนวโน้ม Green Products นี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Green Products อยู่เพราะมันดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว
แม้ว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Green Products ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในประเทศไทยเพราะมีราคาค่อนข้างสูง แต่คาดว่าแนวโน้มการใช้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ การผลิตสินค้าเพื่อส่งไปขายยังบริษัทที่มาจากประเทศพัฒนาแล้ว โรงงานผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นสากลมากขึ้น แม้ว่าแหล่งผลิตจะอยู่ในประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งไม่ได้มีกฎข้อบังคับก็ตาม เช่น บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Walmart มีการให้คะแนนสำหรับการใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging Scorecard) สำหรับการคัดเลือกผู้ผลิตสินค้า (Supplier) โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 การให้คะแนนพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก วัสดุ รูปแบบของบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ การใช้พลังงานในการผลิต การขนส่ง และความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น เมื่อบริษัทขายปลีกรายใหญ่มีแนวคิดเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าต้องปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ตามไปด้วยเช่นกัน ปัจจุบันบริษัทในไทยบางแห่งก็มีนโยบายขยายธุรกิจไปในทิศทาง Green Products มากขึ้น เช่น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล (PTTGC) เข้าไปซื้อกิจการในต่างประเทศโดยเป็นบริษัทผลิตพลาสติกชีวภาพ Polylactic Acid (PLA) เมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นต้น กรณีดังกล่าวนี้แสดงถึงความตื่นตัวของบริษัทขนาดใหญ่ว่าถ้าต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในระดับโลก การปรับตัวให้เข้ากับกระแส Green Economy เป็นสิ่งจำเป็น
แม้ปัจจุบันแนวโน้ม Green Economy จะยังไม่เห็นได้ชัดในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทยและกลุ่มอาเซียน แต่ บลจ.บัวหลวงเชื่อว่าการลงทุนที่ดีควรพิจารณาแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตระยะยาวด้วย เพราะในที่สุดแล้วมันจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของธุรกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยแนวทางการบริหารของกองทุนบัวหลวง ที่เลือกมองดูแนวโน้มภาพใหญ่ในอนาคตเหมือนดูป่าทั้งป่า ไม่เสียเวลาเก็บใบไม้ทีละใบ จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดจึงเชื่อมั่นว่ากระแส Green Economy จะเป็นเสมือนขุมทรัพย์ในป่าใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามสำหรับการลงทุน