xs
xsm
sm
md
lg

“คาร์บอนฟุตพรินต์” เทรนด์อนาคต SGS แนะ ผปก.ให้ความสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนตรี ตั้งเติมสิริกุลผู้จัดการแผนการการรับรองระบบงานและระบบบริการ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด
SGS เดินหน้ากระตุ้นจิตสำนึกอุตสาหกรรมอาหารใส่ใจโลกร้อน หนุนทำคาร์บอนฟุตพรินต์ หวังช่วยลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนการส่งออก หลังทั่วโลกเริ่มหันมาใส่ใจติดฉลากบอกปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้สินค้าจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายมนตรี ตั้งเติมสิริกุล ผู้จัดการแผนการการรับรองระบบงานและระบบบริการ บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่คาร์บอน ฟุตพรินต์จะเข้ามาเป็นกระแสหลัก เพราะหลายประเทศเริ่มเข้มงวดกับเรื่องนี้ค่อนข้างมากแล้วโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น ในอนาคตหากจะส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้สินค้าแต่ละชนิดต้องมีการคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทุกครั้ง ซึ่งโดยรวมจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคส่งออกเอง

“เชื่อว่าน่าจะไม่เกิน 3-4 ปี เรื่องนี้น่าจะมีการทำกันอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิด ISO 14067 ที่คาดว่าน่าจะเกิดในปลายปีก็จะเอื้อต่อคาร์บอนฟุตพรินต์ เพราะทั้งสองอย่างต่างมาตรฐานใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นในอนาคตใครปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยกว่าจะได้เปรียบโดยอาจได้ราคาสินค้าสูงกว่า ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็จำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะธุรกิจอาหาร เพราะเป็นธุรกิจหลักในการส่งออก” นายมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ ในการตรวจคาร์บอนฟุตพรินต์ของบริษัทนั้นจะเป็นการคำนวณหาปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการต่างๆ ที่บริษัทใช้หลักการตามหลักมาตรฐานสากล เช่น PAS2050,WRI/WBCSD และ ISO 14067

ซึ่งขั้นตอนที่บริษัทเข้าไปให้บริการมี 3 ขั้นตอน คือ 1. Carbon FootprintMark การวางแผนการทำงาน การเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การคำนวณการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ 2. Carbon Footprint Reduction หลังจากได้ข้อมูลที่ครบถ้วนก็จะทำการปรับปรุงกระบวนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซและต้นทุนการผลิต และ 3. Carbon Footprint Neutral คือการติดตามและปรับปรุงกระบวนการลดการปล่อยก๊าช

สำหรับแนวโน้มของการตรวจคาร์บอนฟุตพรินต์ในปัจจุบันและอนาคตนั้น จากการประชุม UNFCCC ที่เน้นให้ทุกประเทศต้องมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ผ่านการจัดการ CO2 embedded ในผลิตภัณฑ์ส่งออก โดยเมื่อปีที่ผ่านมาประเทศฝรั่งเศสได้ออกฎหมายให้ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในประเทศต้องแสดงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้าซึ่งมีค่า CF ร่วมอยู่ด้วย โดยมีบริษัทเข้าร่วมโครงการ 230 แห่ง และมีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 168 แห่ง สำหรับประเทศไทยมีการพัฒนาฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ดำเนินงานโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์แล้วกว่า 487 ผลิตภัณฑ์ จาก 120 บริษัท
กำลังโหลดความคิดเห็น