ทุกวันนี้ Green คึกคัก จนเป็นคำกล่าวยอดฮิตในเชิงสัญลักษณ์ของการดำเนินการที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการไม่สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
นี่เป็นแนวทางที่สังคมโลกยุคนี้กำลังเผชิญสภาวะวิกฤต ทั้งดิน น้ำ อากาศ คาดหวังให้กิจการต่างๆ มีจิตสำนึกและแนวปฏิบัติโดยไม่ซ้ำเติมปัญหาวิกฤตที่อยู่รอบตัวเรา
ด้วยเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนี่เอง จึงช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ชัดขึ้นว่า สังคมคาดหวังว่า องค์กรต่างๆ จะต้องมี CSR หรือ Corporate Social Responsibility นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
คำว่า สังคม (Social) ที่ล้อมรอบองค์กร เมื่อมองอย่างกว้าง หมายถึง สังคมในองค์กร คือ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน สังคมในวงใกล้ คือ ลูกค้า คู่ค้า ครอบครัวพนักงาน ชุมชนรอบข้างองค์กร หรือโรงงาน และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง สังคมในวงไกล คือ ประชาชน หน่วยงานต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ใหญ่โตและมีบทบาททางเศรษฐกิจสังคมมากเพียงไร พลังจากการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อสังคมระดับต่างๆ ย่อมมีมากตามขนาดและบทบาท ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวก หรือเชิงลบก็ตาม
จึงกล่าวได้ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นกระบวนการซึ่งจะส่งผลลัพธ์ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
เมื่อกิจการใดมี ผู้บริหารสูงสุด (CEO) ที่มีจิตสำนึก CSR มีวิสัยทัศน์ และมีหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร (CG) คือ เน้นความถูกต้อง ซื่อตรง เป็นธรรม และโปร่งใส นักลงทุน เชื่อมั่นในผลประกอบการจะดีมีคุณธรรม ก็อยากถือหุ้น พนักงานดีๆ ก็อยากร่วมงานด้วย และรักองค์กร ลูกค้า พึงพอใจในคุณภาพและประสิทธิภาพ คู่ค้า ก็พอใจในความเป็นธรรม อยากคบค้าด้วย ชุมชน ประทับใจในความเอื้อเฟื้อดูแล สังคมวงกว้าง ย่อมชื่นชม
ถ้าเป็นเชิงบวก คือ เก่งและดี ย่อมส่งผลให้ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสังคมทั้งวงใน วงใกล้ และวงไกล ต่างอยากคบ อยากสนับสนุนด้วย
หลักการที่กล่าวข้างต้นน่าจะเป็นเหตุผลสนับสนุนแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ก้าวหน้ายุคใหม่ ซึ่งเป็นกระแสโลกที่เปลี่ยนจากการมุ่งเป้าหมายมิติเดียว (Bottom Line) คือ กำไรอย่างยุคเก่า หันมามุ่งผลลัพธ์ 3 มิติ (Triple Bottom Line)
เป็นการกำหนดเป้าหมายองค์กรที่คำนึงถึงผลดีต่อ 3 มิติ คือ Profit (กำไร) People (คน หรือสังคม) และ Planet (โลกของเรา คือสิ่งแวดล้อม)
นั่นคือ 3 เสาหลักที่ค้ำจุนให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยความ “เก่งและดี” โดยมีภูมิคุ้มกัน ไม่สร้างความเสียหายต่อสังคมทั้งวงใกล้และวงไกล รวมทั้งจุดยืนที่ไม่ซ้ำเติมวิกฤตต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโลกกำลังเผชิญวิกฤตทั้งภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติที่ทั่วโลกกำลังรับบทเรียนอย่างประจักษ์ชัดในระดับต่างๆ
ดังนั้น องค์กรที่มียุทธศาสตร์ และแนวปฏิบัติด้วยกระบวนของฝ่ายต่างๆ ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง และการตลาดที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in process) ซึ่งมีผลกระทบจากผลการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูงกว่ากิจกรรมการช่วยสังคมซึ่งเป็นส่วนนอกเหนือจากธุรกิจปกติ เรียกว่า CSR-after process
น่ายินดีที่ในมิติการสร้างคุณค่า หรือไม่ทำลายด้าน “สิ่งแวดล้อม” หรือเรียกเป็นสัญลักษณ์ว่า Green นั้น ปัจจุบันองค์กรที่ก้าวหน้ายุคใหม่ได้ใส่เข้าไปเป็นคุณลักษณะโดดเด่นในด้านต่างๆ ที่จะเลือกเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ไม่สร้างความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม หรือค้นคิดวิธีการที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น
นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation)
อาคารสีเขียว (Green Building)
ร้านค้าสีเขียว (Green Store)
ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product)
การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement)
การตลาดสีเขียว (Green Marketing)
นั่นเป็นตัวอย่างของแนวทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่า วิกฤตก็สร้างโอกาส การเกิดวิกฤตของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พยายามตอบโจทย์ที่สร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันนี่ก็เป็นผลดีต่อการสร้างความแตกต่างของธุรกิจ และเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วย
แต่ที่สำคัญและจะยั่งยืนสมจริง ก็คือ เกิดความจริงใจจากจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม
suwatmgr@gmail.com