วธ.เผย 9 ประเทศอาเซียนร่วมค่าย Art for all สนับสนุนแนวคิด หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ และหนึ่งประชาคม ของกลุ่มประเทศอาเซียน
วันนี้ (1 ส.ค.) ที่ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดงานโครงการค่ายศิลปะเพื่อมวลมนุษย์สู่อาเซียน (Art for all >>> ASEAN) จัดโดย วธ.ร่วมกับมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ “Art for all” และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN-ESCAP) โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2555 ณ อาราญาน่า รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.นครราชสีมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนจาก 9 ประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอินเดีย เข้าร่วมกิจกรรม ประเทศละ 3 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอนศิลปะ 1 คน เยาวชนพิการที่มีความสามารถด้านศิลปะ 1 คน และผู้ประสานงานหรือผู้ดูแลเยาวชนคนพิการ 1 คน โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาคน ในลักษณะองค์รวมด้วยการนำเด็กและเยาวชนที่มีความแตกต่างทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ ได้มาฝึกทักษะด้านศิลปะและร่วมกันก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ให้เห็นคุณค่าของชีวิตและการเอื้ออาทรแบ่งปันซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ เยาวชนและผู้เข้าร่วมโครงการได้สัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน รวมถึงได้ตระหนักรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เอื้อประโยชน์ในการนำไปสู่ความสัมพันธ์และ เกิดทัศนคติที่ดี รวมทั้งยอมรับและเคารพวัฒนธรรมของกันและกันได้มากขึ้น
ด้าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ประธานมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ “Art for all” กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น ค่ายในปีนี้จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Art for all>>>ASEAN” เพื่อสนับสนุนแนวคิด หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ และหนึ่งประชาคม ของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีความมุ่งมั่นในการวมพลังเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในสังคมโลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ “Art for all ”ที่ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 16 ปี ค่ายดังกล่าวเป็นการสร้างความหลากหลายให้เป็นความงดงาม โดยการให้คนตาบอดทำหน้าที่เสมือนเป็นปาก-หู คนหูหนวกช่วยทำหน้าที่เป็นตา คนพิการด้านร่างกายเป็นปัญญา คนปัญญาอ่อนที่มีร่างกายสมบูรณ์เป็นเสมือนแขน-ขาให้กับเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม ผ่านการประสานของคนไม่พิการที่มีจิตเมตตา ถือเป็นการสร้างคุณค่าชีวิตให้กับผู้พิการในการที่จะยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิและมีศักดิ์ศรี นอกจากนี้มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ได้ขยายผลไปสู่ผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ต้องขัง ชนกลุ่มน้อย ผู้ถูกกระทารุณกรรมและล่วงละเมิด รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ด้วย