ปัจจุบัน เฉพาะแค่ไอเดียนำวัตถุดิบ “ผ้าขาวม้า” มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด แต่สิ่งที่ผลิตภัณฑ์แบรนด์ nim’s คิดและทำมากกว่านั้น คือ การดีไซน์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ผูกพันกับเครื่องมือและอุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ ชนิดแยกกันไม่ออก จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเท่ไม่ซ้ำใครที่นอกจากจะสื่อเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้าแล้ว ยังเหมาะสมต่อการใช้งานด้วย
ฉัตรี ชุติสุนทรากุล เจ้าของไอเดียเล่าว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากความชอบในลายตารางหรือลายสก็อตแบบไทยๆ บนผืนผ้าขาวม้า และพบว่าผ้าขาวม้าในภาคต่างๆ จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันและมีอยู่หลายเกรดตามคุณภาพเนื้อผ้าและลวดลาย ประกอบกับพื้นฐานครอบครัวเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้ว มีความรู้และความพร้อมด้านการผลิตงานตัดเย็บ จึงเกิดไอเดียนำผ้าขาวม้ามาเย็บเป็นกระเป๋าเพื่อจำหน่าย โดยเบื้องต้นใช้เงินลงทุนธุรกิจประมาณ 5 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกงานออกแบบยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร โดยเฉพาะปัญหาการจะทำผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าให้ออกมาเข้าชุดกับเครื่องแต่งกายของผู้ใช้ เนื่องจากผ้าขาวม้ามีลวดลายและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง เมื่อทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วมักโดดจนไม่เข้ากับเครื่องแต่งกาย ดังนั้น ได้เข้าโครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่ทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดขึ้น โดยได้รับการเวิร์คชอป และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของ TCDC ช่วยให้เกิดไอเดียต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาผสมผสาน เช่น ผ้าลูกไม้ และผ้าแคนวาส ช่วยให้ดีไซน์มีความลงตัวยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้าไว้ได้ด้วย
"เราตั้งเป้าที่จะทำเป็นกระเป๋าและอุปกรณ์เสริม (แอคเซสซารี่) แต่ด้วยลวดลายของผ้าขาวม้า ทำให้จับคู่กับการแต่งกายได้ลำบาก จึงได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ TCDC ในการผสานผ้าแคนวาสสีสดกับผ้าขาวม้า เสริมด้วยผ้าลูกไม้และเลื่อมให้ดูหวานแบบผู้หญิงมากขึ้น การใช้สีพื้นของผ้าแคนวาสเป็นการลดทอนลายของผ้าขาวม้า ที่อาจมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการจับคู่กับเสื้อผ้าของสาวๆ บวกกับผ้าลูกไม้และเลื่อมที่ทำให้กระเป๋าไม่เรียบจนเกินไป ตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าขาวม้าได้ในที่สุด ไอเดียดังกล่าวจึงถูกนำมาต่อยอดสู่การผลิตสินค้าทั้งหมด”
นอกจากนั้น ในด้านการดีไซน์เป็นผลิตภัณฑ์ พยายามให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย คือ คนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันผูกพันเป็นการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ อย่างยิ่ง จึงสร้างสรรค์เป็นอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้กับอุปกรณ์ดิจิตอลยอดนิยมต่างๆ เช่น กระเป๋าใส่โน้ตบุ๊ค ซอฟเคส ซองใส่สมาร์ทโฟน ซองใส่แท็บเล็ต ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่คงจุดยืนสอดรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น มีทั้งกลุ่ม Girl Gadgets เช่น กระเป๋าใบขนาดเล็กสำหรับใส่เครื่องสำอาง ที่เสริมด้วยการประดับลูกไม้ และเลื่อม กลุ่ม Stationary เช่น เป็นสมุดบันทึก พาสปอร์ตบุ๊ค กลุ่ม Normal เช่น กางเกงเล กระเป๋าย่ามใบใหญ่ เป็นต้น
เจ้าของไอเดีย ระบุด้วยว่า สินค้าทุกชิ้นยังคงจุดขายที่การผสมผสานระหว่างการใช้ผ้าขาวผ้า เข้ากับผ้าแคนวาส โดยเลือกใช้วัตถุดิบผ้าเกรดเอ สีไม่ตก สามารถซักได้ โดยสินค้ามีทั้งแบบสีสดและสีทึม สามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ด้านช่องทางขาย วางขายที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เอ็มโพเรี่ยม และรับผลิตตามคำสั่งซื้อ ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่หลักร้อยบาท โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในงานดีไซน์ผสมผสานความไทยร่วมสมัย
ฉัตรี คาดหวังว่า สินค้าภายใต้แบรนด์ nim’s จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น จะเน้นการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มความหลากหลายให้สินค้ามากขึ้น อนาคตคาดหวังต้องการเปิด Shop ขนาดเล็กตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์มองทำเลทั้งในและต่างประเทศ สินค้าแบรนด์ nim’s จึงขอสื่อถึงความเป็นวัฒนธรรมไทยผ่านสินค้าที่ผลิตออกมาเพื่อให้คงคู่อยู่กับคนไทยและเมืองไทยต่อไป ใครที่สนใจจะนำสินค้าไปจำหน่ายต่อ สามารถติดต่อได้
“สินค้างานดีไซน์ที่สร้างความแตกต่าง เป็นแง่มุมที่ดีมากในเรื่องของการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก โอกาสที่จะแข่งกับรายใหญ่ได้เราต้องแตกต่าง โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอตัวตนของผู้ใช้ให้ได้ เพื่อให้คนยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าของเรา อนาคตจะมุ่งออกแบบสินค้าที่ตรงกับเทรนด์ความต้องการของตลาดมากขึ้น สร้างจุดยืนให้กลายเป็นสินค้าที่ทุกวัยสามารถจับต้องและใช้งานได้จริง” ฉัตรี กล่าวปิดท้าย
@@@@@@@@@@@@@@
โทร.08-5909-8668 , nimscollections@gmail.com