xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ญี่ปุ่นร่วมทดสอบไบโอดีเซล “สบู่ดำ” ในกระบะอีซูซุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังร่วมวิจัยในแล็บจนได้น้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำที่มีคุณภาพตามมาตรฐานแล้ว ไทย-ญี่ปุ่นเดินหน้าทดสอบการใช้งานจริงในกระบะ (ซ้าย) ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมในพิธีลงนามวิจัยทดสอบประสิทธิภาพไบโอดีเซลบี 10 ในรถกระบะ (ขวา) มร.เอช นาคางาวะ จากตรีเพชรอีซูซุส่งมอบกระบะเพื่อทำการทดสอบ 1 คัน
หลังร่วมวิจัยผลิตน้ำไบโอดีเซลจาก “สบู่ดำ” จนมั่นใจในคุณภาพแล้ว ไทย-ญี่ปุ่นจึงจับมือกันทดสอบความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้งานจริงบนท้องถนน โดยประเดิมทดสอบในกระบะอีซูซุซึ่งจะใช้เวลา 5 เดือนในการเติมน้ำมันจากพืชพลังงานนี้บนถนนเมืองไทย

มร.เอช นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด กล่าวว่าบริษัทได้ผลิตรถยนต์ที่ใช้ดีเซลมานาน 55 ปี และจากปัญหาภาวะโลกทำให้บริษัทอยากมีส่วนร่วมในการลดปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนเครื่องยนต์ขนาด 2,500 ซีซี และรถกระบะรุ่นใหม่ของบริษัท 1 คันเพื่อใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของไบโอดีเซลจากสบู่ดำที่พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานวิจัยไทยและญี่ปุ่น

สำหรับน้ำมันที่จะใช้ทดสอบนั้นเป็นผลการวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (AIST) และมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนทุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)

ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร นักวิจัยอาวุโส วว.และนักวิจัยในโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำกล่าวว่า ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาประมาณ 5-6 ปี โดยไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมศึกษากับญี่ปุ่น จากนั้นเมื่อเห็นความเป็นไปได้ญี่ปุ่นจึงได้ส่งเครื่องจักรในการผลิตไบโอดีเซลที่มีกำลังผลิตวันละ 1,000 ลิตร มาให้นักวิจัยไทยพัฒนากระบวนการผลิต ซึ่งเธอบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์-ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่าเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยาก เพราะมีตัวแปรมากและต้องปรับกระบวนการเพื่อหาสภาวะที่ดีที่สุด

“เราร่วมกับ AIST ทำวิจัยสบู่ดำในแล็บมานานแล้ว จนเห็นถึงความเป็นไปได้ จึงได้ทุนจาก JICA และได้เครื่องผลิตไบโอดีเซลกำลังผลิต 1,000 ลิตรต่อวัน มาประจำที่ วว.เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ซึ่งน้ำมันที่ได้เป็นไบโอดีเซลคุณภาพสูง คือมีค่าออกซิเดชันสเตบิลิตี (Oxidation Stability) หรือค่าที่ทำให้น้ำมันไม่จับกับออกซิเจน ซึ่งทำให้เก็บน้ำมันได้นานขึ้น” ดร.ศิริพรกล่าว และบอกว่าไบโอดีเซลที่จะใช้ทดสอบนั้นมีส่วนผสมของสบู่ดำ 10% (B10)

ในส่วนของวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซลนั้น นักวิจัย วว.บอกว่านำเข้าสบู่ดำจากลาวและพม่า โดยมีส่วนน้อยที่ได้จากไทย เนื่องจากเกษตรกรไทยไม่นิยมปลูก แต่หากผลการทดสอบว่าสามารถใช้งานไบโอดีเซลจากสบู่ดำนี้ได้จริง และรัฐบาลส่งเสริม คาดว่าจะทำให้เกษตรกรหันมาปลูกสบู่ดำมากขึ้น แต่ตอนนี้เกษตรกรยังไม่ทราบว่าจะปลูกไปเพื่ออะไร เพราะยังไม่มีตลาดรองรับ

ทางด้าน ดร.วาย โยชิมูระ นักวิจัยอาวุโสจาก AIST กล่าวถึงข้อจำกัดของพืชพลังงานที่ไม่ใช่อาหารว่า ยังมีปัญหาในเรื่องของการผลิตและการป้อนวัตถุดิบ นอกจากนี้ในการแปรสภาพเป็นพลังงานต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ อีกทั้งยังขาดข้อมูลการประกันคุณภาพมาตรฐานน้ำมันและข้อมูลการทดสอบยานยนต์ โดยในส่วนของไบโอดีเซลจากสบู่ดำที่ไทยและญี่ปุ่นร่วมกันพัฒนานี้ได้เติมไฮโดรเจนเข้าไปเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของน้ำมัน และหลังการทดสอบการใช้จริงกับรถยนต์แล้วต่อไปจะดูเรื่องการใช้ในเชิงพาณิชย์

ส่วน ดร.เอ็ม เซโตะ รองประธาน AIST กล่าวว่าทางสถาบันจะสนับสนุนและพัฒนาโครงการนี้ต่อไป เพื่อให้ได้น้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง และจะนำผลที่ได้จากการทดสอบการใช้งานกับรถยนต์ในครั้งนี้ไปพัฒนาการทดสอบความเป็นไปได้ที่จะนำน้ำมันจากสบู่ดำนี้ไปใช้งานจริง และนอกจากน้ำมัน B10 ที่ทำการทดสอบกับรถยนต์ของอีซูซุแล้ว ทางสถาบันยังได้ทดสอบน้ำมัน B100 กับรถบัสที่ขับภายในสถาบันด้วย

สำหรับการทดสอบไบโอดีเซล B10 จากสบู่ดำนี้ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค แจงว่าแบ่งการทดสอบเป็น 2 ส่วนคือ ทดสอบกับเครื่องยนต์ 2,500 ซีซี เป็นเวลา 500 ชั่วโมง ภายในห้องปฏิบัติการของเอ็มเทค เพื่อวัดการสึกหรอ และทดสอบกับรถกระบะอีซูซุ 1 คัน เป็นระยะทาง 50,000 กิโลเมตร โดยจะทำการวิ่งบนถนนของไทย 5 เดือนๆ ละ 10,000 กิโลเมตร เพื่อดูปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการใช้งานจริง ซึ่งในการวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีพบกว่าน้ำมันมีคุณภาพตามมาตรฐาน แต่ยังไม่มีใครทราบว่าเมื่อใช้งานจริงจะส่งผลเช่นไร จึงต้องทำการทดสอบ

*******
ขั้นตอนการผลิตไบโอดีเซล
สบู่ดำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า จาโทรฟา คัวร์คัส ลินน์. (Jatropha Curcas Linn.) เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อนำมาบีบน้ำมันสำหรับทำสบู่จึงได้ชื่อว่าต้นสบู่ดำ ปัจจุบันสบู่ดำมีปลูกอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือเรียกว่า มะหุ่งฮั้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มะเยา หรือ สีหลอด ภาคใต้เรียกว่า มาเคาะ

ต้นสบู่ดำเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ความสูง 2-7 เมตร อายุยืนไม่น้อยกว่า 20 ปี โตง่าย ทนทานต่อความแห้งแล้งและแมลงได้เป็นอย่างดี ผลมีลักษณะคล้ายกับผลของบ๊วย และเมล็ดประกอบไปด้วยน้ำมัน บางครั้งต้นสบู่ดำถูกนำมาใช้ป้องกันพื้นที่เพาะปลูกจากแมลงต่างๆ เนื่องจากสบู่ดำเป็นพืชที่มีสารพิษสำหรับแมลง น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำมีศักยภาพที่จะผลิตไบโอดีเซลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น