xs
xsm
sm
md
lg

“เสม็ด” นำร่องใช้พลาสติกชีวภาพกำจัดขยะลดภาระโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ่าวพร้าว ส่วนหนึ่งของเกาะเสม็ดซึ่งเข้าโครงการนำร่องใช้พลาสติกชีวภาพเพื่อกำจัดขยะเปียกและผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์
ลำพังคนในท้องที่อาจไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันสวยงามของเกาะแก้วพิสดารอย่าง “เสม็ด” แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาลที่ข้ามฝั่งไปลงเกาะนั้น ต่างหอบหิ้วบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่สุดท้ายจะกลายเป็นขยะมหาศาลไปด้วย หากคัดแยก และบริหารจัดการไม่ดีแล้ว อาจทำให้ขยะท่วมเกาะ ซึ่งไม่เพียงแค่ธรรมชาติเท่านั้นที่เดือดร้อน ธุรกิจการท่องเที่ยวย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

วิภาค ปุณหวันลี้ตระกูล ผู้จัดการอ่าวพร้าวรีสอร์ท บนเกาะเสม็ด ใน จ.ระยอง เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ด้วยกระแสโลกที่นักท่องเที่ยวจะเลือกที่พักที่มีนโยบายดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะไม่อยากท่องเที่ยวแล้วเพิ่มภาระให้โลก จึงทำให้รีสอร์ทที่ดำเนินกิจการมา 16 ปี ต้องเริ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม และสิ่งที่ชัดเจนที่สุด คือ การคัดแยกขยะ รวมถึงการจัดการเศษใบไม้ใบหญ้าและกิ่งไม้ต่างๆ โดยจะนำไปผลิตปุ๋ยหมัก และน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ไล่แมลงรบกวนในรีสอร์ท

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะคัดแยกขยะเปียกและขยะแห้งอย่างดีแล้ว แต่เมื่อถึงขั้นตอนเก็บขยะจากหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขาภิบาล ขยะที่ถูกคัดแยกมาอย่างดีก็ถูกจัดเก็บรวมกับขยะอื่น ทำให้การคัดแยกจากต้นทางไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ แต่ล่าสุด มีโครงการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานของภาครัฐในการนำ “ถุงพลาสติกชีวภาพ” มาใช้ในการแยกขยะเปียกแล้วนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ณ โรงผลิตปุ๋ยที่ออกแบบโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และขยะดังกล่าวจะถูกแยกจัดเก็บจากขยะอื่นๆ

“ลำพังชาวบ้านไม่เท่าไหร่ เพราะประชากรในพื้นที่มีแค่ 1,500-2,000 คน แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีมากถึงกว่า 300,000 คนต่อปี เมื่อมาแล้วก็นำเอาถุงพลาสติกใส่ของกิน และเครื่องดื่มต่างๆ มาด้วย หากกำจัดไม่ดีก็จะเป็นปัญหา เมื่อก่อนเราแยกขยะโดยใช้ถุงดำ แต่ตอนนี้ทางการนำถุงพลาสติกชีวภาพเข้ามาช่วย ก็น่าจะลดปริมาณถุงดำลงไปได้ครึ่งหนึ่ง แต่ว่าถุงนี้มีราคาแพงมาก ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าจะให้ผู้ประกอบการลงทุนเองอาจไม่ไหว ภาครัฐอาจช่วยเหลือด้วยการออกทุนให้ครึ่งหนึ่ง หรือตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทยเพื่อลดต้นทุน” วิภาค กล่าว

ทั้งนี้ โครงการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพกำจัดขยะเปียก เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเพ, สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยมีการสนับสนุนถุงพลาสติกชีวภาพที่จุขยะเปียกได้ 10 กิโลกรัม จำนวน 60,0000 ใบ พร้อมถังขยะสำหรับทิ้งขยะเปียกเหล่านี้

ภายใต้ความร่วมมือซึ่งมีผู้ประกอบการและร้านค้าต่างๆ 70 ราย ที่เข้าร่วมนี้ ขยะเปียก หรือขยะอินทรีย์ ที่ถูกคัดแยกลงถุงชีวภาพโดยเฉพาะนี้จะถูกจัดเก็บไปยังโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ่อขยะรีไซเคิลเกาะเสม็ด ที่มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลอยู่แล้ว จากนั้นขยะเปียกพร้อมถุงจะถูกหมักเป็นปุ๋ยไปพร้อมกัน โดยโรงหมักปุ๋ยนี้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมีกระบวนการผลิตกึ่งอัตโนมัติ สามารถควบคุมสภาวะอุณหภูมิและความชื้นของขยะอินทรีย์ได้โดยไม่ต้องพลิกกองขยะ

ด้าน นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะต้นสังกัดอุทยานแห่งชาติแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ที่ดูแลและบริหารจัดการหมู่เกาะเสม็ด ให้ข้อมูลว่า อุทยานแห่งชาติแหลมหญ้าฯ มีพื้นที่ประมาณ 89,000 ไร่ โดยมีพื้นที่ของเสม็ด 4,200 ไร่ และแต่ละวันมีขยะมากถึง 6 ตัน โดย 50% เป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งหากมีการจัดการที่ดีจะทำให้ขยะเหล่านั้นเป็นศูนย์หรือไม่่มีขยะเหลือเลย

ผู้เกี่ยวข้องคาดว่าจะเห็นความสำเร็จของโครงการนี้ได้ใน 1 ปี และหากสำเร็จก็จะทำให้เกาะเสม็ด เป็น “เกาะสีเขียว” ที่เปิดให้ทุกคนมาดูงานได้ และอาจขยายความสำเร็จสู่เกาะท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น เกาะช้าง เกาะกูด รวมถึงเกาะภูเก็ต เป็นต้น โดย ดร.วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สนช.กล่าวว่า โครงการความร่วมมือนี้มีเป้าหมายไปสู่การกำหนดนโยบายระดับประเทศเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตพลาสติกชีวภาพระดับประเทศ

“พลาสติกชีวภาพถือเป็นวัสดุแห่งอนาคต เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 1 เท่า และผลิตได้จากพืชเกษตรอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง ที่ผลิตได้มากในเมืองไทย อีกทั้งยังใช้พลังงานในการผลิตต่ำ สามารถย่อยสลายได้ภายใน 1 ปี” ดร.วันทนีย์

โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากการโครงการส่งเสริมใช้ชุมชน ร้านค้า โรงแรม และรีสอร์ทในพื้นที่ทำการคัดแยกขยะอินทรีย์ เพื่อนำไปกำจัดที่โรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2553 แต่ในโครงการแรกนั้นยังพบปัญหาเรื่องขยะอื่นๆ ปนเปื้อน ทำให้การผลิตปุ๋ยไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และมีการเก็บขยะแบบรวม ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องคัดแยกที่หน้าเตาเผาขยะอีกรอบ การดำเนินการในโครงการระยะที่ 2 จึงร่วมมือกับกลุ่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนในการคัดแยกขยะ และนำพลาสติกชีวภาพมาใช้เพื่อจำกัดขยะอินทรีย์ได้อย่างครบวงจร
อ่าวพร้าว ส่วนหนึ่งของเกาะเสม็ดซึ่งเข้าโครงการนำร่องใช้พลาสติกชีวภาพเพื่อกำจัดขยะเปียกและผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์
ขยะเปียกที่ถูกแยกในถุงพลาสติกชีวภาพถูกแยกมายังโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ในโครงการแยก ซึ่งยังมีขยะอื่นปลอมปน ทำให้ได้ปุ๋ยที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
กำลังโหลดความคิดเห็น